หนี้ครัวเรือน-เครดิตการ์ดพุ่งฉุดค้าปลีกครึ่งปีหลังซึม 

หนี้ครัวเรือน-เครดิตการ์ดพุ่งฉุดค้าปลีกครึ่งปีหลังซึม 

สถานการณ์ “กำลังซื้อ” ในช่วงครึ่งปีหลัง ยังค่อนข้าง “น่ากังวล”  หากพิจารณาจากดัชนีอุตสาหกรรมค้าปลีกที่สะท้อนภาวะการจับจ่ายของผู้บริโภคโดยตรง พบว่า ยอดค้าปลีกแผ่วตัวลง 

จริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ดัชนีอุตสาหกรรมค้าปลีกครึ่งปีแรกของปี 2560 เติบโตเพียง 2.81%  เนื่องจาก ยอดค้าปลีกในไตรมาส 2 แผ่วตัวลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่เติบโตถึง 3.02%  ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวัฎจักรของการจับจ่ายซึ่งโดยทั่วไปพุ่งสูงในไตรมาส 4  ส่งผลต่อเนื่องให้ไตรมาสแรกเติบโตสูงขึ้นด้วย จากนั้นไตรมาส 2 และ 3 จะค่อยๆ ชะลอตัวลง และเริ่มขยับขึ้นช่วงไตรมาส 4 อีกครั้ง  

นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายภาครัฐเริ่มอ่อนตัวลง เพราะเป็นช่วงไตรมาสที่ 3 ของงบประมาณ ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกครึ่งปีแรกย่อตัวลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.81%

น่ากังวลในเรื่องของกำลังซื้อครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะจากกลุ่มรายได้ปานกลางส่วนล่างและกลุ่มรายได้น้อย ที่ยังติดกับดักหนี้ครัวเรือนที่สูง ส่วนกลุ่มรายได้ปานกลางตอนบน การใช้จ่ายไม่คล่องตัว ด้วยหนี้บัตรเครดิตที่สูงเช่นกัน” 

ทั้งนี้ สมาคมฯ คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมค้าปลีกไตรมาส 3 จะอยู่ในภาวะ “ทรงตัว” แต่จะดีดกลับขึ้นไปในไตรมาส 4 ตามวัฎจักรของการจับจ่าย

อย่างไรก็ตาม  แม้ภาครัฐจะเร่งให้มีการประมูลโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ภายในปีนี้ แต่ผลจากการลงทุนจะส่งผลมายังภาคค้าปลีกต้องใช้เวลา 6-8 เดือน จึงยังไม่มีผลต่อการเติบโตของภาคอุตสาหรรมค้าปลีกในครึ่งปีหลังแต่อย่างใด

คาดการณ์ว่าตลาดปรับตัวดีขึ้นในช่วงไฮซีซันไตรมาสสุดท้ายจะทำให้ดัชนีค้าปลีกโดยรวมของปี 2560 เติบโตระดับ 3-3.2% ตามเป้าหมาย ดีกว่าปี 2559 เล็กน้อย

จริยา กล่าวอีกว่า หากย้อนพิจารณาสภาพตลาดในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา พบว่า การเติบโตที่เด่นชัดของหมวดสินค้าต่างๆ ยังกระจุกตัวเฉพาะสาขาในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองหลักของการท่องเที่ยว 2-3 จังหวัด หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 30% ของสาขาทั้งหมด 

ในทางกลับกันสาขาส่วนใหญ่อีก 70% อยู่ในต่างจังหวัด มีการเติบโตที่ ”อ่อนตัวลง“ อย่างมีนัยสำคัญ  ส่งผลให้ดัชนีในไตรมาสที่ 2 และภาพรวมค้าปลีกครึ่งปีหลังอ่อนตัวลงตามไปด้วย”

สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า กำลังซื้อของประชาชนในต่างจังหวัดไม่สู้ดีนัก เพราะนอกจากเศรษฐกิจจะไม่ฟื้นตัว แต่กลับอ่อนตัวลงไปอีก ดังนั้นรัฐบาลอาจต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และต้องเน้นเป้าหมายให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้สมาคมฯ ได้วิเคราะห์ผลการเติบโตของสินค้าแต่ละหมวดในครึ่งปีกแรกที่ผ่านมา  หมวดสินค้าคงทน (Durable Goods) ซึ่งแบ่งสินค้าเป็น 3 กลุ่มหลัก  ได้แก่ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน 3A (Appliance, Air Condition, Audio Television) กลุ่มสินค้าอิเลกทรอนิกส์ 3C (Camera, Computer, Cellular Phone หรือ Smart Phone) และกลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้าง  พบว่า ไตรมาสแรก “เติบโตต่ำ” แต่กลับฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในไตรมาส 2  เนื่องจากกลุ่มสินค้าอิเลกทรอนิกส์ ที่ถือเป็นสัดส่วนใหญ่กว่า 40%  เติบโตสูงขึ้นจากการกล้องถ่ายรูปและสมาร์ทโฟน มีการออกรุ่นใหม่เข้ามากระตุ้นตลาด

ส่วนกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านยังคง “ทรงตัว” เนื่องจากฤดูกาลที่ผันผวน ช่วงฤดูร้อนสั้น และฤดูฝนเริ่มต้นเร็วกว่าปกติ ในขณะที่กลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้างยังไม่ฟื้นตัว เป็นผลจากภาคอสังหาริมทรัพย์เติบโตลดลง

หมวดสินค้ากึ่งคงทน (Semi Durable Goods) อยู่ในภาวะ ทรงตัว เทียบปีที่ผ่านๆ มา แม้ว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น แต่ไม่ทำให้การจับจ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนเพิ่มขึ้นไปด้วย ปัจจัยหลักที่ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ คือ อัตราภาษีสินค้านำเข้าแบรนด์หรูยังอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้กลุ่มสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง เติบโตต่ำกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังได้อานิสงส์จากกลุ่มเครื่องกีฬาและสุขภาพ ซึ่งเติบโตสูงตามเทรนด์ช่วยพยุง ส่งผลให้อัตราการเติบโตในหมวดสินค้ากึ่งคงทนทั้งหมดยังทำได้แค่ทรงตัว 

ที่สำคัญกลุ่มรายได้ปานกลางตอนบนซึ่งเป็นกลุ่มหลักของการจับจ่ายสินค้าหมวดนี้ติดกับดักหนี้เครดิตการ์ดที่สูงเกือบชนเพดานทำให้กำลังซื้อหดตัวลง”

หมวดสินค้าไม่คงทน (Non Durable Goods) หรือหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน เริ่มส่งสัญญาณบวกในการฟื้นตัวช้าๆ อย่างต่อเนื่อง นับจากไตรมาสสุดท้ายปีก่อน จนถึงไตรมาสแรกปีนี้ เป็นผลจากการผลักดันการใช้งบประมาณภาครัฐลงสู่ภูมิภาคและกลุ่มจังหวัดมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เม็ดเงินงบประมาณเริ่มไหลลงสู่ประชาชนฐานรากของประเทศอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2 ดัชนีการบริโภคกลับแผ่วตัวลงจากวัฏจักรของการจับจ่าย แต่ด้วยปัจจัยบวกราคาพืชผลทางการเกษตรมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทำให้ดัชนีการเติบโตของหมวดสินค้าไม่คงทนยังคงพยุงตัวไว้ได้ในอัตรา 3.05%