บทละครตือนสติชีวิตคู่ สอดแทรกความรู้ HPV

บทละครตือนสติชีวิตคู่ สอดแทรกความรู้ HPV

เสน่หา Diary ละครชุดแรกในซีรีย์กับดักเสน่หา สอดแทรกข้อคิดมากมายไว้กับโครงสร้างของเรื่องเพื่อเตือนสติชีวิตคู่ ซึ่งรวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างโรคเอชพีวี (HPV) โรคร้ายที่มีต้นตอมาจากพฤติกรรมนอกลู่นอกทาง

แม้จะลาจอไปแล้ว แต่กระแส “กับดักเสน่หา” ละครชุดแรกในซีรีย์ เสน่หา Diary ของช่อง One ยังคงเป็นที่กล่าวถึงด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นชวนติดตาม มีการสอดแทรกข้อคิดมากมายเพื่อเตือนสติชีวิตคู่ และที่สำคัญละครเรื่องนี้ยังแปลกใหม่และแตกต่างจากละครเมียน้อย-เมียหลวงทั่วไปตรงที่มีการผูกปมโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างโรคเอชพีวี (HPV) ไว้กับโครงสร้างของเรื่องได้อย่างแนบเนียนสมจริง และยังให้ความรู้แฟนละครเกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวีได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ถือว่าเป็นละครน้ำดีที่ให้ทั้งความบันเทิง สะท้อนปัญหาชีวิตคู่ และให้ความรู้แก่แฟนละครเกี่ยวกับอันตรายจากโรคร้ายที่มีต้นตอมาจากพฤติกรรมนอกลู่นอกทางอีกด้วย

ความสำเร็จของ “กับดักเสน่หา” ส่วนหนึ่งมาจากบทละครที่เข้มข้น รายละเอียดที่มีเหตุมีผล สมจริง และเชื่อมโยงกันได้อย่างน่าติดตาม ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับทีมเขียนบทของซีรีย์ชุดนี้ นำโดย พิมพ์มาดา พัฒนอลงกรณ์ หัวหน้านักเขียนบทโทรทัศน์มือฉมังของเอ็กแซ็กท์-ซีเนริโอ ด้วยประสบการณ์กว่า 25 ปีในฐานะคนทำงานเบื้องหลัง และ 15 ปีกับอาชีพนักเขียนบท พิมพ์มาดา เป็นเจ้าของผลงานขึ้นหิ้งมากมายทั้งบทละครเวที ซิทคอม และละครหลังข่าว แต่ผลงานที่เธอบอกว่าเป็นชิ้นมาสเตอร์พีซของตัวเอง ได้แก่ พิษสวาส และสี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล

พิมพ์มาดา เล่าให้ฟังถึงที่มาของซีรีย์ เสน่หา Diary ว่าต้องการที่จะสร้างละครสะท้อนปัญหาสังคม ที่มีความสมจริง ด้วยสถานการณ์ในละครที่ล้วนแต่เกิดขึ้นจริงกับคนใกล้ตัวแต่ยังไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพูด “ทุกวันนี้มีละครที่นำเสนอเกี่ยวกับการนอกใจของคู่รักมามากแล้ว เราคิดว่าจะทำอย่างไรให้ละครของเราแตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์ ทีมงานก็จับประเด็นได้ว่าควรทำให้สมจริงมากที่สุด ด้วยรายละเอียด ตัวละคร สถานการณ์ และวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ เราจึงได้ข้อสรุปเป็นซีรีย์เรื่องสั้น 3 เรื่อง 3 ธีม ที่นำเสนอความรักความเสน่หาที่เกิดขึ้นในหลายรูปแบบที่แตกต่างแต่สอดคล้องกัน โดยมีกับดักเสน่หาเป็นเรื่องแรก”

“กับดักเสน่หา” ว่าด้วยเรื่องของคู่สามีภรรยาที่แต่งงานกันมาเป็นสิบปี ชีวิตแต่งงานราบรื่น มีโซ่ทองคล้องใจที่น่ารัก แต่แล้วเมื่อสามีเกิดพ่ายแพ้ต่อเสน่าหาเพียงแค่ครั้งเดียว ผลที่ตามมากลายเป็นบททดสอบชีวิตคู่ครั้งใหญ่ของทั้งเขาและเธอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภรรยาพบว่าตนเองติดเชื้อเอชพีวี ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก

พิมพ์มาดา กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการนำเสนอโรคร้ายนี้ในกับดักเสน่หาว่า
“จากโครงเรื่องที่ว่าผู้ชายพลาดไปมีอะไรกับคนอื่น และพยายามปิดภรรยา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผู้ชายหลายคนทำ แต่เมื่อสถานการณ์บีบคั้นมาถึงจุดหนึ่งที่จำเป็นต้องสารภาพ ทีมเขียนบทต้องหาข้อมูลว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ผู้ชายคนนี้จะต้องพูดทั้งๆ ที่ไม่อยากพูด เราพบว่าการเอาโรคมาติดภรรยาคือจุดเปลี่ยนสำคัญ และยังเป็นเรื่องใกล้ตัวมากในสังคม เมื่อพูดถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หลายคนอาจนึกถึงเอดส์หรือเอชไอวีเป็นอันดับแรก แต่จริงๆ แล้วยังมีไวรัสเอชพีวีที่สามารถติดต่อได้ง่าย ทั้งยังมีผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว อย่างในเรื่องหลังจากที่ ‘ดล’ แสดงโดยป้อง ณวัฒน์ นอกใจ ’ลิตา’ แสดงโดย อ้อม พิยดาได้ไม่นานและนำเชื้อเอชพีวีมาติดลิตา ลิตาก็ต้องเจ็บปวดกับโรคหูดหงอนไก่ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อเอชพีวีที่แสดงอาการเร็วที่สุด ผู้ป่วยจะต้องไปพบแพทย์เพื่อจี้ซ้ำๆ เจ็บทั้งตัวและใจ และในระยะยาวเอชพีวียังก่อให้เกิดโรคที่อันตรายถึงชีวิต คือมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในหญิงไทย จะเห็นได้ว่าผลจากการที่สามีพลาดไปมีสัมพันธ์กับหญิงอื่นเพียงครั้งเดียว กลายเหมือนฆ่าภรรยาให้ตายทั้งเป็น เพราะภรรยาอาจมีเชื้อไวรัสตัวนี้ฝังอยู่ในร่างกายไปตลอดชีวิต และหากวันใดร่างกายอ่อนแอก็ต้องพ่ายให้กับเชื้อร้ายนี้กลายไปเป็นมะเร็งปากมดลูกได้”

ละคร ‘กับดักเสน่หา’ ยังสื่อให้เห็นชัดเจนว่าการติดเชื้อเอชพีวีไม่ได้มีผลกับร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีผลต่อจิตใจและความสัมพันธ์ระหว่างสามี-ภรรยา “บรรยากาศของละครหลังจากที่ภรรยารู้ตัวว่าติดเชื้อเอชพีวีจะเห็นได้ว่ามีความหวาดระแวงและไม่เชื่อใจในสามี คำพูดของหมอที่บอกว่า ‘สิ่งที่น่ากลัวสำหรับโรคนี้ไม่ใช่ผลกระทบที่มีต่อร่างกาย แต่เป็นจิตใจของคนที่เป็น’ เป็นคำพูดที่ยกมาจากคำพูดของหมอจริงๆ ซึ่งตั้งแต่เราตัดสินใจกันว่าจะนำเรื่องการติดเชื้อเอชพีวีมาเป็นประเด็นสำคัญของละคร เราได้มีการหาข้อมูลอย่างจริงจัง ทั้งจากคนรอบข้างที่เป็นโรคนี้ หมอสูตินรีเวช และค้นคว้าเพิ่มเติมทางอินเตอร์เน็ต จากประสบการณ์ที่มีคนรู้จักติดเชื้อเอชพีวีและจากการให้ข้อมูลของหมอ พบว่ามีสามีภรรยาเลิกรากันไปหลายคู่ เพราะต่างคนต่างระแวงกัน ทั้งๆ ที่เชื้อเอชพีวีอาจจะเกิดจากการดูแลตัวเองไม่ดี หรือติดมาจากการเข้าห้องน้ำสาธารณะก็เป็นได้”


การหาข้อมูลอย่างจริงจัง และใส่ใจในรายละเอียด ทำให้ “กับดักเสน่หา” มีความโดดเด่นและสมจริง พิมพ์มาดา อธิบายว่า “เมื่อเราหยิบประเด็นโรคเอชพีวีขึ้นมาแล้ว เราอยากใส่ข้อมูลของโรคลงไปให้ชัดเจน มากกว่าแค่หมอพูดวินิจฉัยโรคขึ้นมาแล้วก็ผ่านไป ดังนั้น ในละครจึงมีฉากที่ทั้งสามีและภรรยาต่างก็ไปศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อเอชพีวีทางอินเตอร์เน็ต และยังมีการปรึกษากับเพื่อนฝูง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมาจากพฤติกรรมจริงของสังคมปัจจุบันที่พึ่งอินเตอร์เน็ตและเพื่อนฝูงเป็นหลักเมื่อมีปัญหาไม่สบายใจ รายละเอียดทุกอย่างในละครล้วนคิดขึ้นมาอย่างพิถีพิถันและตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริงในสังคม”

นอกจากการสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวีไว้ในละครอย่างแนบเนียนแล้ว ในช่วงที่ละครออนแอร์ ยังมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เรื่องโรคเอชพีวีผ่านโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงถึงสกู๊ปข่าวรณรงค์ให้ผู้หญิงไปตรวจภายใน ก่อนเข้าสู่ละคร ซึ่งทั้งหมดนี้ พิมพ์มาดาอธิบายว่า “เป็นความตั้งใจของทีมงานที่จะสร้างความตระหนักในโรคร้ายนี้ไปพร้อมๆ กับละคร เราไม่ต้องการละครตบตีแย่งชิงผู้ชายที่จบแล้วก็ผ่านไป แต่เราต้องการสื่อให้สังคมได้รู้ว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงในหลายๆ ครอบครัวในปัจจุบัน และมันอาจจะเกิดขึ้นกับคุณหรือคนใกล้ตัวคุณได้ เราจึงต้องการให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่ครบถ้วนที่สุดเท่าที่ละครเรื่องหนึ่งจะทำได้”

ด้วยความพิถีพิถันในการเขียนบท การเล่าเรื่อง การลำดับภาพ และความสมจริงในหลายๆ สถานการณ์จึงทำให้กับดักเสน่หาได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ชมทางบ้าน “เราเห็นกระแสตอบรับทันทีทั้งในอินเตอร์เน็ต พันทิป และจากไลฟ์สดทางออนไลน์ เราได้เห็นทันทีว่าผู้ชมหลายคนรู้จักโรคที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อเอชพีวี แต่ไม่เคยพูดถึง มีหลายคนที่ไปหาข้อมูลเพิ่มเติม และหลายคนก็ชื่นชมว่าเราสามารถสร้างความแปลกใหม่และสมจริงให้กับละครไทย และที่รู้สึกดีใจอย่างยิ่งก็คือ คุณหมอที่ให้คำปรึกษาเราในระหว่างการเขียนบทละครอีกเรื่องหนึ่ง ฝากคำขอบคุณมายังทีมงานที่ได้สร้างละครเรื่องนี้ขึ้น และหยิบประเด็นเรื่องเชื้อเอชพีวีขึ้นมาพูดอย่างจริงจัง เพราะเอชพีวีคือเรื่องใหญ่ของวงการแพทย์ แต่น้อยคนนักที่จะตระหนักรู้ในเรื่องนี้ ซึ่งเราก็รู้สึกดีใจมากที่ได้รู้ว่าทุกอย่างที่ทุ่มเทไปไม่เสียเปล่า วันนี้ผลงานของเราได้ช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวีให้กับทั้งผู้หญิงและผู้ชายไทยในวงกว้างมากขึ้น” พิมพ์มาดา กล่าว

เกี่ยวกับเชื้อไวรัส HPV
เอชพีวี (HPV: Human Papilloma Virus) เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคบริเวณอวัยวะเพศหลายชนิด ทั้งในชายและหญิง และติดต่อได้จากการสัมผัส เช่น เพศสัมพันธ์ หรือการสัมผัสรุนแรงบริเวณอวัยวะเพศ การติดเชื้อเอชพีวี มักจะไม่มีอาการแสดงให้เห็น และการตรวจทั่วไปทางการแพทย์ก็ไม่พบความผิดปกติ การติดเชื้อมีโอกาสที่จะหายเองได้ แต่ขณะเดียวกันในผู้ป่วยบางรายอาจได้รับเชื้อมานานถึง 15 ปีจึงเริ่มแสดงอาการซึ่งพัฒนาไปสู่มะเร็งปากมดลูก หรือโรคหูดหงอนไก่ตามมา เชื้อเอชพีวียังเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งชนิดอื่นๆ เช่น มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องคอ มะเร็งช่องปาก และมะเร็งองคชาต

แนวทางป้องกันและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ HPV นอกจากการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รักเดียวใจเดียวแล้ว การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ และการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูกได้อีกด้วย

ปัจจุบัน มีวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีน 2 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์ โดยสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย แนะนำการฉีดวัคซีนเอชพีวีในผู้หญิงอายุระหว่าง 9-26 ปี โดยฉีด 3 เข็ม ในเดือนที่ 0, 1-2 และ 6 สำหรับในวัยรุ่นที่แข็งแรงดี หากฉีดเข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี ให้ฉีด 2 เข็มได้ในเดือนที่ 0 และ 6-12 สำหรับการฉีดในเด็กผู้ชาย พิจารณาให้ฉีดเฉพาะชนิด 4 สายพันธุ์ ในช่วงอายุ 9-26 ปี และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด การฉีดวัคซีนเอชพีวีควรฉีดตั้งแต่ก่อนเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก อย่างไรก็ดี ผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วยังสามารถรับวัคซีนได้ แต่วัคซีนอาจจะมีประสิทธิภาพลดลงหากเคยติดเชื้อเอชพีวีมาก่อน อย่างไรก็ตาม วัคซีนยังคงให้ประโยชน์ในการป้องกันโรคจากสายพันธุ์อื่นที่มีในวัคซีนและยังไม่เคยติดเชื้อจากสายพันธุ์ดังกล่าวมาก่อน