ทัวร์คนไร้บ้านในเวียนนา รู้จักชีวิตใต้เงาของเวียนนา

ทัวร์คนไร้บ้านในเวียนนา รู้จักชีวิตใต้เงาของเวียนนา

ทัวร์ทางเลือกสำหรับคนที่มองหาความต่าง และอยากทำความรู้จักชีวิตบางมุมที่ถูกมองข้าม แต่ที่นี่คือเวียนนา แม้แต่คนไร้บ้านก็ไม่ถูกละเลย

ก่อนมาเวียนนา นอกจากวางแผนเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่มีคอลเลกชั่นดีงามระดับโลกแล้ว เราบังเอิญค้นพบ Shades Tours Vienna ทัวร์คนไร้บ้านในเวียนนา จากข้อมูลที่เคยอ่านผ่านตาเมื่อหลายปีก่อนว่าแถบยุโรปนั้นมีทัวร์คนไร้บ้านอยู่ และเมื่อได้มาเจอก็รีบจองแบบไม่ต้องคิดนาน อยากจะรู้ว่าสิ่งที่เคยอ่านจากอินเตอร์เน็ท เมื่อได้มาทัวร์จริงจะรู้สึกอย่างไร

ทัวร์คนไร้บ้านในเวียนนา รู้จักชีวิตใต้เงาของเวียนนา

Shades Tours นัดพบผ่านอีเมล์ที่จัตุรัส Heldenplazt ใจกลางเมืองอันคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยว ตรงอนุเสาวรีย์แสนองอาจของอาร์ชดยุคคาร์ลแห่งออสเตรีย เราไม่รู้จักใครเลย และยังไม่เห็นไกด์ที่ถือป้าย Shades Tours ด้วย แต่เราเห็นนักท่องเที่ยวหญิง 2 คน กำลังคุยกับผู้ชายคนหนึ่งอยู่ อะไรบางอย่างในตัวเขาบอกเราว่า นั่นแหละ คือหนึ่งในผู้ที่มาร่วมทัวร์ ผู้ชายคนนั้นคือคนไร้บ้านที่อาจเป็นไกด์ของเราก็ได้

ความจริงถูกครึ่งเดียว 2 หญิงสาวนั้นเป็นแม่ลูกกันที่จองทัวร์มา แต่ไกด์ของเราเป็นผู้หญิงอายุราว 50 ปี ชื่อบาร์บารา เธอแนะนำว่าผู้ชายคนนั้นคือ โจเซฟ โจเซฟเป็นคนไร้บ้านมาได้ปีกว่า และกำลังจะมาเป็นไกด์คนใหม่ของ Shades Tours จึงตามมาศึกษางาน นอกจากโจเซฟแล้ว ลูกทัวร์ในวันนี้มีทั้งหมด 6 คน เป็นคู่แม่ลูกจากนิวยอร์ก 2 คน ซึ่งมองหา “ทัวร์ทางเลือก” ที่แตกต่างเสมอในการท่องเที่ยวของพวกเธอ หนุ่มเวียนนา ผู้อยากรู้ว่าเวียนนาที่เขาเติบโตมานั้นมีมุมที่เขาไม่เคยเห็นอย่างไร หนุ่มเบลารุสที่ทำงานสายการบิน ต้องบินไปบินมาระหว่างเวียนนาและประเทศต่างๆ อยู่เสมอ หนุ่มโปแลนด์ที่สนใจประเด็นสังคม และตัวเราเอง

คนไร้บ้านในเวียนนา

บาร์บาราเริ่มต้นด้วยการปูพื้นข้อมูลเกี่ยวกับคนไร้บ้านในเวียนนา ดังเช่นที่เรารู้ โมเดลการทำทัวร์คนไร้บ้านนั้นมีอยู่หลายประเทศในยุโรป แต่ละประเทศก็มีบริบทแตกต่างกัน ทัวร์ที่นี่จึงมีความเฉพาะตัว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกรุงเวียนนาเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนไร้บ้านให้กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ อันดับแรกคือต้องมีที่พักอาศัย มีอาหาร และมีงานทำ

ทัวร์คนไร้บ้านในเวียนนา รู้จักชีวิตใต้เงาของเวียนนา

ในจำนวนคนไร้บ้านทั่วออสเตรียกว่า 16,000 คนนั้น อยู่ในเวียนนามากกว่า 9,000 คน และที่ต้องอาศัยอยู่ในท้องถนนมีจำนวนระหว่าง 1,000 – 2,000 คน ที่ว่าอาศัยอยู่ตามท้องถนนในราวพันกว่าคนนั้น เป็นเพราะมีระบบที่พักให้กับคนไร้บ้านอยู่เป็นลำดับขั้น ซึ่งต้องลงทะเบียนเข้ามารอใช้สิทธิ์ที่พักอาศัย เพื่อเป็นจุดที่จะกลับไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ตามลำดับ ทำให้คนไร้บ้านจำนวนหนึ่ง ไม่ต้องถึงกับนอนอยู่ตามข้างถนนเลยทีเดียว

บาร์บาราให้พวกเราลองเดาดูว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้คนในเวียนนา กลายมาเป็นคนไร้บ้านมากที่สุด เราก็เดากันคนละข้อสองข้อ ซึ่งถูกเป็นส่วนใหญ่ แต่โดยลำดับนั้น การตกงานนั้นมาเป็นอันดับหนึ่ง

เหตุผลที่พัดพาชีวิตออกไปอยู่ข้างถนน

อันดับ 1 การตกงาน ทำให้ไม่มีเงินมาจ่ายค่าที่อยู่ เพราะในเวียนนาค่าเช่าอพาร์ทเมนต์ต่อเดือนแพงมาก (เริ่มต้นที่ 500 ยูโรต่อเดือน) ปัจจัยที่เกี่ยวกับงานนั้นส่งผลต่อสถิติหลายอย่างของคนไร้บ้าน เช่น ช่วงปีหลังๆ มานี้คนไร้บ้านที่เป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้นจาก 8% เป็น 25 % เพราะความเสี่ยงในการตกงานของผู้หญิง (โดยเฉพาะเมื่ออายุ 40 ขึ้น) มีมากกว่าผู้ชาย และอัตราการเป็นคนไร้บ้านตั้งแต่อายุน้อย (18 -24 ปี จากที่แต่ก่อนส่วนใหญ่จะมีอายุ 40 ปีขึ้นไป) มีมากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่ไม่พร้อมรับมือกับสังคมการทำงาน

ล้มละลาย หรือมีหนี้มากเกินไป มาเป็นอันดับ 2 ไม่ว่าจะหนี้จากทางไหนก็ตาม ซึ่งอาจสัมพันธ์กับเหตุผลข้อแรก

การติดเหล้า ติดยาเสพติด มาเป็นอันดับ 3 จริงๆ คือเหล้าเป็นสำคัญ ในประเทศที่เบียร์ราคาถูกกว่ากาแฟ ทำให้คนติดแอลกอฮอล์กันมาก และเมื่อนั้นก็จะส่งผลถึงชีวิตและการงานที่ดิ่งวูบตามมา

อันดับ 4 อาการป่วยทางกายและทางจิต จริงๆ ค่อนข้างมีเปอร์เซ็นต์น้อย เมื่อเทียบกับ 2 อันดับแรก แต่ก็เกิดขึ้นได้ เช่น กรณีของบาร์บารา ที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมจนหมดตัว บาร์บาราบอกว่า คนที่ทำงานราชการและพนักงานประจำจะมีสวัสดิการและประกันสุขภาพที่ดูแลครอบคลุมกว่า แต่สำหรับคนที่เป็นนายตัวเองหรือเจ้าของธุรกิจ ต่อให้มีประกันสุขภาพคุ้มครองอยู่ แต่ก็ต้องจ่ายเอง 25 เปอร์เซ็นต์ของค่ารักษาพยาบาล ซึ่งหากเป็นโรคร้ายแรงเข้า ก็ถึงกับสูญทรัพย์ทุกอย่างได้เลย ในทางกลับกัน การป่วยทางจิตเป็นสาเหตุที่น้อยยิ่งกว่า เพราะพบว่าคนไร้บ้านนั้นมาป่วยทางจิตภายหลังการเป็นคนไร้บ้านต่างหาก

ตามด้วยปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่ผลักคนออกมาอยู่ริมถนนเป็นอันดับ 5 และสุดท้ายกับคนไร้บ้านกลุ่มเล็กที่สุด และเป็นกลุ่มที่ยากที่สุดในการจะดึงพวกเขาออกจากท้องถนน นั่นคือกลุ่มเจตจำนงอิสระ (Free Will) ที่ต้องการจะใช้ชีวิตแบบไม่อยู่ในระบบจริงๆ อาจต่อต้านสังคม หรือเชื่อมั่นในแนวทางที่สวนกระแสสุดๆ

นโยบายเกี่ยวกับคนไร้บ้านของเวียนนา

เวียนนาพยายามพาคนออกจากท้องถนนกลับเข้าสู่ชีวิตปกติให้มากที่สุด โดยมีทั้งนโยบายจากรัฐ ซึ่งร่วมมือกับองค์กรอิสระ และเอกชนต่างๆ เริ่มจากรัฐจัดหาปัจจัยขั้นพื้นฐานที่สุดอย่างที่อยู่อาศัยให้ เพราะเมื่อคนมีที่พักออมแรงแล้ว ก็ย่อมมีจุดตั้งต้นชีวิตได้ ส่วนเรื่องงานนั้น นอกจากต้องดิ้นรนหางานกันเอง ซึ่งก็เลือกงานไม่ได้มาก ก็มีองค์การ และผู้ประกอบการสังคมอย่างเช่น Shades Tours ที่พยายามสร้างอาชีพให้คนไร้บ้านเช่นกัน

การจัดหาที่พักอาศัยให้เริ่มจากมีที่พักชั่วคราว (คือเข้ามาลงชื่อนอน 1 คืน และออกในตอนเช้า) ในหน้าร้อน 400 เตียง และหน้าหนาว 1,500 เตียง

ทัวร์คนไร้บ้านในเวียนนา รู้จักชีวิตใต้เงาของเวียนนา

บาร์บาราพาพวกเราเดินมายังประตูหลังของโรงโอเปรา Vienna State Opera ซึ่งระหว่างปี 1990 - 2010 ในหน้าหนาว (นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน – สิ้นเดือนเมษายนของปีถัดไป) ประตูบานนี้จะเปิดออกให้คนไร้บ้านได้เข้ามาอาศัยนอนหลบหนาวยามค่ำคืน และจากไปในตอนเช้า

แต่มีเหตุการณ์ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการสงเคราะห์นี้ให้เป็นนโยบายรัฐ โดยในเดือนตุลาคม 2009 มีการประท้วงปฏิรูปการศึกษาของเหล่านักศึกษาทั่วออสเตรีย โดยเฉพาะในเวียนนา มหาวิทยาลัยและสถานที่สำคัญของเวียนนาเต็มไปด้วยการชุมนุมของนักศึกษา และคนไร้บ้านก็เข้ามาร่วมประท้วงด้วย จึงทำให้เกิดการตระหนักถึงคนไร้บ้านขึ้นมา หลังจากการประท้วงซึ่งนักศึกษาเป็นฝ่ายชนะ นอกจากนโยบายด้านการศึกษา ก็ได้เกิดนโยบายเกี่ยวคนไร้บ้านชัดเจนขึ้นมาด้วย ที่พักอาศัยชั่วคราวโดยรัฐก็เกิดขึ้น และมีเพียงพอในหน้าหนาว ทำให้ในปีต่อมาทางโอเปราไม่จำเป็นต้องเปิดประตูบานนี้อีกแล้ว

ลำดับต่อจากที่พักค้างคืนชั่วคราว ซึ่งต้องเข้ามาลงทะเบียนใช้วันต่อวัน ก็มีบ้านพักแบบ Transit Housing และ Social Housing ซึ่งเป็นสวัสดิการรัฐของกรุงเวียนนา คนเวียนนาสามารถเข้าพักได้เลย ไม่ว่าจะเคยทำงานหรือไม่ แต่หากเป็นคนสัญชาติอื่น หรือเมืองอื่น ต้องทำงานในเวียนนาอย่างน้อย 2 ปี จึงจะมีสิทธิ์ลงทะเบียนเข้าพัก บาร์บาราบอกว่าแม้คนส่วนใหญ่ไม่รู้ แต่ทั่วทั้งเวียนนาจะมีบ้านสังคมสงเคราะห์เพื่อคนไร้บ้านกระจายอยู่มากมายในทุกเขต สถานที่ต่อมาที่เธอพาเราไปชมอยู่ด้านหลังของจัตุรัส Heldenplazt เป็นอาคารหนึ่งของรัฐที่กำลังจะทำเป็น Transit Housing เร็วๆ นี้

Transit Housing ที่ว่าคือบ้านพักชั่วคราว ซึ่งผู้ที่มาลงทะเบียนจะได้สิทธิ์เข้าพักอาศัย รวมกันในห้องหนึ่งจำนวน 2 – 6 เตียง ห้องน้ำรวม กับล็อกเกอร์เก็บของเล็กๆ ในระหว่างนี้ ก็ต้องพยายามหางานทำ เพื่อให้มีรายได้มาเลี้ยงตัวเองให้ได้ และขั้นต่อไปจึงจะมีสิทธิ์ในการยื่นขออยู่ในที่ Social Housing ได้

ทัวร์คนไร้บ้านในเวียนนา รู้จักชีวิตใต้เงาของเวียนนา

เดินไกลมาอีกหน่อย บาร์บาราพาเรามาดูด้านนอกของ Social Housing ซึ่งเป็นบ้านสังคมสงเคราะห์ที่สามารถจ่ายค่าเช่าอยู่ได้ในราคาเพียง 1 ใน 3 ของค่าเช่าอพาร์ทเมนท์ทั่วไปในเวียนนา ทุกเขตในเวียนนาจะมี Social Housing อยู่ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีรายได้น้อย ไม่เกิน 300 ยูโรต่อเดือน สามารถขอสิทธิ์เข้าอยู่ได้ บ้านนี้สามารถเช่าอยู่อาศัยได้ไปตลอดตราบเท่าที่จ่ายไหว แต่หากเสียชีวิตก็ต้องคืนให้รัฐไม่สามารถส่งต่อสิทธิ์ให้ใครได้ และก่อนหน้าที่จะมีสิทธิ์ลงทะเบียนของเข้าอยู่ ก็ต้องมีรายได้และที่อยู่แน่นอนก่อน 2 ปี การมี Transit Housing ก่อนจึงสำคัญ และการมีที่พักและบ้านพักต่างๆ ก็สำคัญมากในการเป็นจุดตั้งตัวของคนไร้บ้าน เพราะไม่เช่นนั้น คนไร้บ้านที่กระจัดกระจายอยู่ข้างถนน สถานีรถไฟ หรือสวนสาธารณะอาจเพิ่มจากพันต้นๆ เป็นหลักหมื่นได้ไม่ยาก ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกแบบนี้

ไม่มีใครต้องหิวในเวียนนา

นอกจากที่พักแล้วก็มีเรื่องอาหาร พื้นที่สุดท้ายที่บาร์บาราพาเรามาคือบริเวณโบสถ์ Franziskaner ซึ่งเป็นหนึ่งในโบสถ์ และองค์กรหลายแห่งในเวียนนา ที่จัดอาหารฟรีให้แก่ผู้ที่ต้องการ ไม่ใช่เพื่อคนไร้บ้านเท่านั้น แต่รวมถึงคนยากจนด้วย อย่างที่โบสถ์แห่งนี้ ทุกเช้า 9.00 – 11.00 น. จะมีบาทหลวง แม่ชี และอาสาสมัครมาทำอาหารฟรีสำหรับคนอย่างน้อย 100 คน โดยประสานเรื่องวัตถุดิบจากองค์กรเกี่ยวกับคนไร้บ้าน ซึ่งได้มาจากการบริจาค จากซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารที่มีวัตถุดิบเหลืออยู่มาทำอาหารให้ อาหารเพื่อสังคมสงเคราะห์แบบนี้ยังมีอีกในหลายๆ แห่งทั่วเวียนนา ฉะนั้น อาหารจึงไม่ใช่ปัญหาสำหรับคนไร้บ้านในเวียนนา แต่ที่อยู่นั่นแหละสำคัญ

ทัวร์คนไร้บ้านในเวียนนา รู้จักชีวิตใต้เงาของเวียนนา

ส่วนเรื่องการรักษาพยาบาลนั้น ถ้าตกงานนานกว่า 1 เดือนก็ไม่มีประกันสุขภาพอีกต่อไป (โรงพยาบาลรัฐจะรักษาคนที่ไม่มีประกันเฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น) แต่ที่นี่มี Louise – Bus : Medizinbus รสบัสการแพทย์ขององค์กรการกุศล ที่ให้บริการทางการแพทย์ฟรี โดยจะขับไปจอดตามที่ต่างๆ ที่มีคนไร้บ้านอยู่เยอะ เช่น หน้าสถานีรถไฟ โดยมีหมอและพยาบาลอาสาประจำรถ รักษาโรคทั่วไป ทันตกรรม ไปจนถึงมะเร็งก็ยังมี

ชีวิตทำร้ายเราได้มากแค่ไหน

ก่อนเริ่มต้นทัวร์ ตลอดค่อนวันนั้นท้องฟ้าในเวียนนากระจ่างใส แดดจัดจนไม่อาจถอดแว่นกันแดดได้ แต่พอเริ่มทัวร์แค่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น ฟ้าก็กระหน่ำฝนลงมาจนต้องวิ่งหลบเข้าไปหนาวสั่นกันอยู่ใต้ชายคาตึก ไม่ต่างจากชีวิตคนเรา ที่ช่วงเวลาหนึ่งรุ่งโรจน์สดใส แล้วเกิดพลิกอับดับแสงด้วยเหตุบางอย่าง จากคนที่เคยมีทุกสิ่ง อาจกลายไปคนที่ไม่มีแม้แต่บ้านจะซุกหัวนอน

บาร์บารา (เธอขอให้ใช้ชื่อแค่บาร์บารา) ไกด์ของเรา จบปริญญาตรีด้านศิลปะ เคยเป็นเจ้าของแกเลอรี่ เป็นแม่ใบเลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกชาย 1 คน เพราะการป่วยเป็นมะเร็งเต้านมทำให้ค่ารักษานั้นท่วมท้นเกินกว่าประกันสุขภาพจะรองรับไว้ได้ แม้ว่าเธอต้องจ่ายเพียง 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ก็ทำให้เธอต้องสูญเสียทุกอย่าง ไปเป็นคนไร้บ้านอยู่ราวปีครึ่ง แล้วค่อยๆ กลับเข้าสู่การมีชีวิตปกติ ซึ่งเธอยอมรับว่าการเป็นคนไร้บ้านผู้หญิงนั้น ลำบากกว่าผู้ชายมาก

สำหรับ โจเซฟ คือเขาคนไร้บ้านที่กำลังเตรียมตัวมาเป็นไกด์ของ Shades Tours โจเซฟเรียนจบปริญญาตรีด้านการท่องเที่ยว แล้วทำงานในร้านอาหารมาตลอด เป็นทั้งพนักงานเสิร์ฟจนถึงผู้จัดการร้าน แต่หลังอายุ 40 เขาก็มีอันต้องตกงาน และค่อยๆ สูญเสียทุกอย่างไปเช่นกัน

ความยากลำบากฉายออกมารอบตัวโจเซฟชัดเจนเหลือเกิน มันน่าตกใจที่ว่าเราไม่เคยนึกมาก่อนว่าคนไร้บ้านจะต้องมีลักษณะอย่างไร แต่อย่างที่บอกไปว่าเรากลับรู้ได้ในทันทีว่าเขาคือคนไร้บ้าน เช่นเดียวกับบาร์บาร่า แม้จะพ้นสภาวะของคนไร้บ้านแล้ว เพราะเธอมีงานทำ มีที่อยู่แน่นอน และกำลังรอสิทธิ์เข้าอยู่อาศัยใน Social Housing แต่ก็มีร่องรอยบางอย่างที่ไม่อาจลบเลือน ความเศร้าแฝงอยู่ในสีหน้า แววตา และอากัปกิริยา ขณะที่โจเซฟพูดถึงเรื่องของเขา เขาพยายามพูดทุกอย่างราวกับว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา (เช่น การที่ต้องมาทำงานแบกหามกะดึกกลางแจ้งในฤดูหนาว) ปากของเขาเกร็งเหมือนระงับความรู้สึก ดวงตาช้ำมีน้ำตาคลอตลอดเวลา เราไม่ได้สงสารเขา เพราะเราคิดว่าไม่มีใครต้องการความสงสาร โดยเฉพาะคนที่พยายามยืนหยัดอย่างแรงกล้าเพื่อกลับมาดูแลตัวเองได้อย่างสมฐานะมนุษย์ บาร์บาราและโจเซฟย้ำว่าคนไร้บ้านที่เวียนนาจะไม่ขอเงิน คนไร้บ้านกับขอทานนั้นเป็นคนละกลุ่มกัน

แต่เรารู้สึกว่าชีวิตคือความไม่แน่นอน หลายครั้งมันก็โบยตีพวกเราอย่างโหดร้าย เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ชีวิตจะไม่ทำร้ายเราเข้าสักวัน

ในทางกลับกัน ชีวิตซึ่งเหมือนอยู่ภายใต้โชคชะตาที่ไม่อาจควบคุมได้ แต่หากว่าคนไร้บ้านเหล่านั้นอาศัยอยู่ในเมือง ในประเทศที่มีระบบที่ “ใส่ใจ” จะแก้ปัญหา และปูทางลากจูงคนที่ถูกชีวิตพัดกระเด็นกระดอนออกไป ให้กลับมา “ใช้” ชีวิตได้อย่างเต็มภาคภูมิ ยืดอก สบตาคนได้อย่างผ่าเผย เราว่านั่นคือสิ่งที่ควบคุมได้ และเป็นไปได้แน่นอน