จี้คดีค้ามนุษย์ฟันนายทุน-บิ๊กขรก. พบ15สำนวนแค่ชั้นประทวน

จี้คดีค้ามนุษย์ฟันนายทุน-บิ๊กขรก. พบ15สำนวนแค่ชั้นประทวน

ปลัดยธ.จี้ดีเอสไอทำงานเชิงรุก สั่งเร่งรัดคดีค้ามนุษย์ พบ15สำนวน ส่วนใหญ่ดำเนินคดีกับชั้นประทวน รุกตรวจสอบเส้นทางการเงินเชื่อมโยงให้ถึงเครือข่ายใหญ่

นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงการติดตามการดำเนินการทางวินัยและการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ว่า รัฐบาลได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นติดตามการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ที่ผ่านมาได้เร่งรัดติดตามการดำเนินการทางวินัยและการดำเนินคดี รวมถึงเส้นทางการเงินกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินคดีและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และหากมีความผิดทางวินัยก็ต้องไล่ออก ส่วนกรณีที่มีเจ้าหน้าที่รัฐคอยช่วยเหลือบิดเบือนสำนวนก็ต้องถูกดำเนินคดีด้วย

ล่าสุดได้ติดตามคดีทั้งหมด 15 คดี ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องหลายคดีทั้งคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา คดีน้ำเพียงดิน จ.แม่ฮ่องสอน และคดีค้าบริการภูเรือ จ.เลย ซึ่งสำนวนมีความคืบหน้าไปมาก แต่กลับดำเนินคดีได้แค่เจ้าหน้าที่รัฐชั้นประทวนเท่านั้น ขณะที่นายทุนใหญ่หรือเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงไม่มีรายชื่อถูกดำเนินคดีเลย จึงสั่งการให้พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปประสานและติดตามเพื่อให้รูปคดีครบถ้วน ส่วนคดีใดมีเจ้าหน้าที่รัฐถูกดำเนินการทางวินัยแล้วแต่ไม่เป็นไปในทำนองเดียวกันหรือไม่เป็นธรรมก็จะช่วยติดตามอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้ดำเนินการทางวินัยฐานประพฤติชั่ว และดำเนินคดีอาญาฐานค้ามนุษย์กับเจ้าหน้าที่รัฐซื้อบริการทางเพศกับเด็กด้วย

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปราบปรามคดีค้ามนุษย์เพื่อแสดงออกถึงความเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และการดูแลเยาวชน ดังนั้นดีเอสไอจะทำงานตั้งรับอยู่ไม่ได้ จะต้องมีบทบาทเชิงรุกเข้าไปในแต่ละสำนวนคดี ตัวเลขการจับกุมต้องมากขึ้น หลายคดีผู้ต้องหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเพียงชั้นประทวน ดังนั้นดีเอสไอจึงต้องเข้าไปตรวจสอบเส้นทางการเงินเพื่อเชื่อมโยงไปถึงเครือข่ายระดับที่สูงกว่าชั้นประทวน โดยกระทรวงยุติธรรมจะเข้ามากำกับดูแลอย่างใกล้ชิด และจะเรียกประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าเป็นรายคดีอย่างน้อยเดือนละครั้ง”ปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าว

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ดีเอสไอรับนโยบายของกระทรวงยุติธรรมมาดำเนินการ โดยคดีในความรับผิดชอบของดีเอสไอได้สอบสวนขยายผลเส้นทางการเงินและข้อมูลการติดต่อทางโทรศัพท์ เพื่อให้ได้ความเชื่อมโยงถึงผู้รับผลประโยชน์เหนือเจ้าหน้าที่ชั้นประทวน แต่ต้องยอมรับว่าการดำเนินคดีขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน หากในชั้นตรวจค้นจับกุมสามารถยึดโพยหรือบัญชีการจ่ายส่วยได้ ก็สามารถนำมาขยายผลได้ แต่คดีค้ามนุษย์ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ชั้นประทวนจะทำหน้าที่เก็บเงินตามสถานบริการต่างๆ ทำให้ปรากฎหลักฐานในชั้นการดำเนินคดีเพียงเท่านั้น หลังจากนี้ศูนย์ป้องกันและปราบปราการค้ามนุษย์ จะเร่งขยายผลการสอบสวนว่าส่วยที่เรียกเก็บถูกส่งไปให้เจ้าหน้าที่ระดับใดบ้าง

แหล่งข่าวจากดีเอสไอ เปิดเผยว่า ในที่ประชุมได้มีการติดตามคดีค้ามนุษย์ที่มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องและมีหลักฐานความผิดชัดเจน 14-15 สำนวน เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญและกำชับให้รายงานความคืบหน้าเป็นระยะๆ ทั้งนี้ คดีทั้งหมดยังได้รับความสนใจจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่คอยติดตามข้อมูลอยู่ตลอดด้วย โดยผู้ที่เกี่ยวข้องได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบเป็นรายคดี เช่น คดีค้ามนุษย์กลุ่มโรฮิงญา ซึ่งมีการดำเนินคดีพ.ท.มนัส คงแป้น กับพวก 20 ราย โดยความผิดทางวินัยก็มีคำสั่งพักราชการและไล่ออกจากราชการไปแล้ว ส่วนคดีอาญาศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาไปแล้วเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมาการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยังได้สั่งยึดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องในคดีค้ามนุษย์ทั้งหมด ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างเปิดโอกาสให้เจ้าของทรัพย์เข้าชี้แจงธุรกรรมการเงินว่าทรัพย์ที่ได้มาไม่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์อย่างไร แต่โดยส่วนใหญ่เจ้าหน้ารัฐจะถูกดำเนินคดีอาญาและวินัยควบคู่กันไป โดยคณะกรรมการชุดนี้เข้ามาดำเนินการเพื่อไม่ให้คดีถูกระงับหรือหมดอายุความไป