รับสร้างบ้านยุค 4.0ชูเทคโนโลยีรับไลฟ์สไตล์เจนวาย

รับสร้างบ้านยุค 4.0ชูเทคโนโลยีรับไลฟ์สไตล์เจนวาย

วงเสวนา “Home Builder 4.0 ถอดรหัสนวัตกรรม นำคุณค่าสู่ธุรกิจ” โดยสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน มีผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้าน และนักวิชาการ ร่วมสะท้อนมุมมองการปรับตัวของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม “รับสร้างบ้าน”  ในยุค “ไทยแลนด์ 4.0”

พิชิต อรุณพัลลภ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ยุค 4.0 นี้  เทคโนโลยีนวัตกรรมก่อสร้างเข้ามามีอิทธิพล สร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวให้ทัน 

บริบทการเปลี่ยนแปลงภายใต้การเกิดขึ้นของดีมานด์กลุ่มใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มเจนวาย ที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องหันมามองกลุ่มเป้าหมายนี้มากขึ้น”

สิ่งที่กลุ่มคนรุ่นใหม่มองหา คือ ความสะดวกสบาย ตอบสนองต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การบริการและความคุ้มค่าที่ผู้บริโภคจะได้รับ ผู้ประกอบการรายใดตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้เร็วจะได้เปรียบ!! เจาะตลาดได้ก่อน

หากผู้ประกอบการยังดำเนินการในรูปแบบเดิมๆ ธุรกิจก็จะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ ในทางกลับกันหากผู้ประกอบการปรับตัวเร็ว เรียนรู้พฤติกรรมและความชื่นชอบของกลุ่มเป้าหมายใหม่ รวมถึงนำ “เทคโนโลยี” มาปรับใช้กับการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม โดยอาจนำมาใช้เสริมประสิทธิภาพการทำงานให้เร็วขึ้น ลดข้อผิดพลาดในการทำงาน ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการคำนวณต้นทุนต่างๆ จะส่งผลดีต่อธุรกิจทำให้พัฒนาก้าวไกลมากขึ้น

สำหรับการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับวัสดุก่อสร้าง พบว่า ผู้ประกอบการปรับตัวมากขึ้นแล้ว  เช่น การผลิตอิฐมวลเบา  การพัฒนาส่วนประกอบต่างๆ ทำให้เกิดวัสดุก่อสร้างหลากหลาย ขณะที่การขายและการตลาดเริ่มเห็นชัดเจนว่ามีการนำ “เครื่องมือดิจิทัล” มาช่วยดำเนินงาน เช่น การดึงแพลตฟอร์มออนไลน์มาช่วยเสริมช่องทางการขาย การสื่อสารและประชาสัมพันธ์โครงการด้วยการใช้เทคโนโลยีจำลองภาพเสมือนจริงให้ลูกค้าเห็นภาพโครงการก่อนสร้างเสร็จได้ชัดเจนขึ้น

แนวทางการสร้างบ้านในยุค 4.0 ควรเป็นบ้านที่มีความคุ้มค่าการใช้งาน ปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ภายในบ้านได้หลากหลาย หรือเป็นรูปแบบมัลติฟังก์ชัน เช่น อาจเป็นโฮมออฟฟิศภายในบ้านได้ ผู้อยู่อาศัยคำนึงถึงการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่ามากขึ้น และการใช้ชีวิตภายในบ้านในอนาคตจะเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีให้ได้เห็นกันมากขึ้น”

ทั้งนี้ ธุรกิจรับสร้างบ้านมีความซับซ้อน ทำงานบนความพึงพอใจของผู้บริโภค และการเปลี่ยนแปลง ยิ่งปัจจุบัน ผู้บริโภคมีช่องทางเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างบ้านมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบรับสร้างบ้านจะต้องทำความเข้าใจในกระบวนการรับสร้างบ้านกับผู้บริโภคให้ชัดเจน

 สุวรรณ จันทิวาสารกิจ อาจารย์ประจำหลักสูตร CIO วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ภายในปี 2568 จะมีประชากรกลุ่มเจนวายเพิ่มมากขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 3 ใน 4 ของประชากรโดยรวม ดังนั้นเทรนด์การสร้างบ้านจากนี้จะให้ความสำคัญกับเรื่อง “ไลฟ์สไตล์” เพราะคนเจนวายจะมองเรื่องการอยู่อาศัยที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของพวกเขา ประกอบกับคนวัยนี้ยังเป็นกลุ่มที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี ดังนั้นการออกแบบบ้านควรเสริมด้วย “เทคโนโลยี” ที่สามารถเชื่อมต่อกับการใช้ชีวิตได้

การสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจสร้างบ้าน รวมถึงธุรกิจที่อยู่อาศัยให้สอดรับกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีองค์ประกอบสำคัญ เช่น คอนเน็คทิวิตี้ เชื่อมโยงการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวัน การวางแบบและควบคุมมาตรฐานการเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น การออกแบบผนังที่ดูดซับและเชื่อมต่อสัญญาณไวไฟสำหรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ดี 

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจด้วยการพัฒนาสู่บริการที่ปรึกษา ให้คำแนะนำและดูแลรักษาอุปกรณ์ติดตั้งต่างๆ ภายในบ้าน เป็นการขยายไลน์ธุรกิจและสร้างรายได้

ต่อตระกูล ยมนาค ประธานกรรมการ บริษัท วิศวกรที่ปรึกษาต่อตระกูล ยมนาคและคณะ จำกัด กล่าวว่า ในอดีตวงการก่อสร้างถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงยากที่สุด แต่ปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยส่งผลให้ขั้นตอนการก่อสร้างทำได้รวดเร็วขึ้น เช่น เทคโนโลยีที่นำมาใช้กับวัสดุก่อสร้าง เช่น ระบบก่อสร้างสำเร็จรูป รวมถึงขั้นตอนการก่อสร้างโดยรวมที่ทำให้ใช้แรงงานก่อสร้างลดลง

“การบริหารจัดการให้คนงานก่อสร้างดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็สามารถช่วยลดระยะเวลาการก่อสร้างได้เช่นกัน โดยที่ไม่ต้องทุ่มงบลงทุนมูลค่าสูงๆ ซื้อเครื่องมือช่วยในการก่อสร้าง"

ตัวอย่างเช่น ขั้นตอนการคัดเลือกก่ออิฐสร้างบ้าน อาจมีแรงงานที่ทำหน้าที่คัดเลือกอิฐคุณภาพโดยเฉพาะ เพื่อลดระยะเวลาขั้นตอนให้แก่ช่างก่ออิฐที่ต้องมาคัดเลือกทีหลัง ทำให้ช่างก่ออิฐสามารถทำงานได้เร็วขึ้น