ภัยไซเบอร์ป่วนไทย“ชาวเน็ต” 67% เสี่ยงเป็นเหยื่อ

ภัยไซเบอร์ป่วนไทย“ชาวเน็ต” 67% เสี่ยงเป็นเหยื่อ

ภัยคุกคามบนโลกออนไลน์กำลังส่งผลกระทบทั้งระดับบุคคล องค์กร และประเทศ “แคสเปอร์สกี้” ชี้สถานการณ์ความปลอดภัยบนไซเบอร์ไทยน่าเป็นห่วง เหตุผู้บริโภค 67% ไม่เชื่อว่ามีโอกาสตกเป็นเหยื่อ

   ไพรัตน์ เติมศักดิ์มิตรชัย  ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ แคสเปอร์สกี้ แลป ประเทศไทย ผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ชั้นนำ กล่าวว่า สถานการณ์ภัยคุกคามในประเทศไทยมีความน่าเป็นห่วงอย่างมาก จากการสำรวจโดยแคสเปอร์สกี้ แลป พบว่าผู้ใช้ออนไลน์ไทยมากถึง 67% ไม่เชื่อว่าตนเองสามารถตกเป็นเหยื่อบนโลกไซเบอร์ได้

          จากดัชนีชี้วัดความปลอดภัยไซเบอร์ “แคสเปอร์สกี้ ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ อินเด็กซ์” ระบุว่า 3 ตัวชี้วัดหลักที่แสดงถึงภาพรวมของระดับขั้นความอันตรายของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตพบว่า ในประเทศไทยมีจำนวนผู้บริโภคที่ “ไม่ตระหนัก” หรือ ไม่เชื่อว่าตนเองตกเป็นเป้าการโจมตีทางไซเบอร์ 67% มีผู้ใช้ที่ “ไม่ป้องกัน” หรือ ไม่ติดตั้งโซลูชั่นเพื่อความปลอดภัยบนคอมพิวเตอร์ แทบเล็ต หรือสมาร์ทโฟน 31%

          นอกจากนี้ ผู้ที่ “ได้รับผลกระทบ” หรือ ตกเป็นเหยื่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ มีอยู่ 46% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก 29% เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากคนทั่วไปยังไม่สนใจและคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ชอบความยุ่งยาก ซับซ้อน อีกทางหนึ่งมีการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ รวมถึงช่องโหว่ที่ไม่อัพเดทระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ให้เป็นปัจจุบัน

          “วิถีชีวิตแบบดิจิทัลได้เพิ่มความเสี่ยง แต่ผู้ใช้งานหลายคนไม่คาดคิดว่าตนเองจะตกเป็นเหยื่อภัยคุกคามจึงไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการติดตั้งโปรแกรมเพื่อป้องกันความปลอดภัยบนดีไวซ์ ทั้งไม่ระมัดระวังขณะอยู่บนโลกออนไลน์ จนกลายเป็นเหยื่อได้ง่ายๆ”

          หากเทียบกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน นับว่าสถานการณ์ไทยไม่เลวร้ายมากนักโดยประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอันดับหนึ่งคือ เวียดนาม 59% ตามด้วยอินโดนีเซีย 58% ฟิลิปปินส์ 52% ไทย 46% และมาเลเซีย 42%

          สำหรับสถานการณ์ภัยคุกคามที่พบในไทยอันดับต้นๆ ประกอบด้วย การติดไวรัส ติดมัลแวร์ ถูกหลอกลวงให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลทางการเงิน ถูกเจาะระบบเข้าอุปกรณ์ส่วนตัว ถูกโจมตีโดยแรนซัมแวร์ มีปัญหาที่ข้อมูลส่วนบุคคลถูกเปิดเผยโดยบริษัทที่เข้าไปใช้บริการ ถูกแฮกระหว่างเชื่อมอินเทอร์เน็ต รวมถึงถูกขโมยบัญชีออนไลน์

          โดยรวมภัยคุกคามที่เข้ามาโจมตีมากที่สุด 2 อันดับแรกยังคงเป็นมัลแวร์ และมัลแวร์เรียกค่าไถ่ หรือ แรนซัมแวร์ แนวโน้มครึ่งปีหลังจากนี้สถานการณ์น่าจะทวีความรุนแรงต่อเนื่อง แรนซัมแวร์สมัยใหม่พุ่งเป้าไปที่การเจาะระบบและเข้ายึดข้อมูลที่มีความสำคัญ แต่ทั้งนี้ความรุนแรงหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป

          “นับเป็นสงครามไซเบอร์ที่แรงจูงใจหลักๆ มักเป็นเรื่องเงิน หรือต้องการโจรกรรมข้อมูลเพื่อเรียกร้องค่าไถ่จากองค์กรธุรกิจ”

          ปัจจุบัน ในระดับโลกแคสเปอร์สกี้สามารถตรวจจับมัลแวร์ได้วันละกว่า 3.1 แสนตัว ข้อมูลระบุว่า ค่าใช้จ่ายที่คนไทยต้องจ่ายเพื่อแก้ปัญหามัลแวร์ในแต่ละกรณีที่เกิดขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 49 ดอลลาร์ นับว่ายังน้อยกว่าเฉลี่ยทั่วโลกที่จ่ายประมาณ 92 ดอลลาร์ ด้านความเสียหายต้องสูญเสียเงินเฉลี่ย 293 ดอลลาร์ เฉลี่ยทั่วโลก 482 ดอลลาร์

4.0 หนุนไทยตื่นตัว

          ด้านอุปกรณ์ที่ภายในครัวเรือนมีการใช้งานมากที่สุดคือ สมาร์ทโฟน แทบเล็ต โน้ตบุ๊ค และเดสก์ท็อปตามลำดับ ซึ่งแม้ยอดผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดและเป็นดีไวซ์ที่เข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุด แต่อุปกรณ์ที่เป็นเป้าหมายหลัก ยังคงเป็นพีซีทั้งโน้ตบุ๊คและเดสก์ท็อป เนื่องจากสามารถหวังกับผลได้มากกว่า

          ส่วนพฤติกรรมการใช้งาน 10 อันดับแรก พบว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยนิยมชมภาพยนตร์และวีดิโอออนไลน์มากถึง 97% ค่าเฉลี่ยทั่วโลก 88% ใช้อีเมล 96% ทั่วโลก 95% ตามมาด้วยเข้าใช้โซเชียลมีเดีย 94% ทั่วโลก 81% ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์หรือแอพพลิเคชั่น 91% ทั่วโลก 75% ชอปปิงออนไลน์เฉลี่ยเท่ากับโดยทั่วโลก 90%

          นอกจากนี้ นิยมอ่านข่าวสาร 89% ส่วนทั่วโลก 84% อัพโหลดหรือแชร์คอนเทนท์ 87% ทั่วโลกแค่ 62% เล่นเกมออนไลน์ 84% ทั่วโลก 52% ออนไลน์แบงกิ้ง 82% ทั่วโลก 77% ใช้โปรแกรมแชทหรือวีดิโอคอลล์ 81% ทั่วโลกใช้ 66% ตามลำดับ

          ไพรัตน์ ประเมินว่า การลงทุนด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ในประเทศไทยค่อยๆ ขยายตัวมากขึ้นตามลำดับ เพราะข่าวการโจมตีจากแรนซัมแวร์ ความตระหนักรู้ที่เพิ่มมากขึ้น อีกทางหนึ่งการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลและการไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ส่งผลให้ธุรกิจองค์กรหันมาโฟกัสการลงทุนด้านซิเคียวริตี้เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือภัยไซเบอร์ที่อาจเข้ามาคุกคามได้โดยไม่คาดคิดมาก่อน

          สำหรับการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการซอฟต์แวร์โซลูชั่นด้านซิเคียวริตี้นั้น มีความรุนแรงมาต่อเนื่อง จากนี้จะแข่งกันทั้งด้านเทคโนโลยีและราคา แต่ละรายจะมีจุดโฟกัสที่ต่างกันไปและจำต้องทำตลาดรายเซ็กเมนท์ โดยกลุ่มที่คาดว่าจะตื่นตัวสูงมากคือ การเงินการธนาคาร และอุตสาหกรรมการผลิต

ผลสำรวจ “แคสเปอร์สกี้ ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ อินเด็กซ์” เป็นความคิดเห็นผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก สำรวจตามกลุ่มอายุและเพศของแต่ละประเทศ รวมมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 17,377 คน จาก 28 ประเทศทั่วโลก เฉพาะประเทศไทยเข้าร่วมตอบคำถามจำนวน 511 คน ผลสำรวจแสดงให้เห็นแนวโน้มเชิงบวก เนื่องจากมีจำนวนผู้ใช้ที่ตระหนักเรื่องความปลอดภัยสูงขึ้น ขณะเดียวกันมีความพร้อมในการปกป้องตนจากภัยไซเบอร์มากขึ้นตามลำดับ