สศค.ชี้เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณขยายตัวต่อเนื่อง

สศค.ชี้เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณขยายตัวต่อเนื่อง

สศค. ชี้เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวในระดับสูง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมิถุนายน 2560 และไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ว่า เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง โดยการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดี สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนมิถุนายน 2560 ยังคงขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณดีขึ้นจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนมิถุนายน 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.2 ต่อปี ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าในเดือนมิถุนายน 2560 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.7 ต่อปี และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 หลังปรับปัจจัยพิเศษ ขยายตัวร้อยละ 0.9 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลที่ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ดุลการค้าเกินดุลจำนวน 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนมิถุนายน 2560 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11.4 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวได้ดีจากจีน กลุ่ม CLMV มาเลเซีย อินเดีย และเกาหลี เป็นหลัก ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยขยายตัวร้อยละ 7.6 ต่อปี

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนมิถุนายน 2560 อยู่ที่ร้อยละ -0.05 และร้อยละ 0.4 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2560 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.1 และ 0.5 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2560 อยู่ที่ระดับร้อยละ 42.9 ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 อยู่ที่ระดับ 185.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 3.4 เท่าเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น