จาก "หูฉลาม" ถึงการ "ล้างผลาญ" ทะเล

จาก "หูฉลาม" ถึงการ "ล้างผลาญ" ทะเล

ความตายของฉลามกว่า 100 ล้านตัว เพื่อแลกกับซุปบำรุงกำลังถ้วยละ 300 บาท นี่เป็นภาพสะท้อนหนึ่งถึง “ความย่อยยับ” ของมหาสมุทรที่กำลังถูก "ล้างผลาญ" ในวันนี้ โดยเฉพาะ "ทะเลไทย"

ด้วยความพิถีพิถันตั้งแต่การจัดเตรียมวัตถุดิบ ตั้งแต่ตากแห้ง นำไปต้มจนเปื่อย แล้วค่อยขูดหนังทิ้งเหลือแต่กระดูกอ่อน นำไปปรุงกับน้ำซุปหนืดข้น ชิ้นเนื้อไก่ หรือหมู และเครื่องยาจีน ยิ่งทำให้ เมนูอายุวัฒนะตามความเชื่อของชาวจีนโบราณอย่าง “หูฉลาม” ยิ่งมีราคาเพิ่มมากขึ้นไปอีก 

แต่ใครจะรู้...

ก้านครีบสีนวลตาฉ่ำน้ำซุปใสในถ้วยกระเบื้องเขียนลายบนโต๊ะจัดเลี้ยงนั้นมีอะไรใต้ท้องน้ำที่ทะเลต้อง “แลก” ไปบ้าง

  • โศกนาฏกรรมความอร่อย

“หูฉลามกว่าร้อยละ 72 ถูกเสิร์ฟในงานแต่งงาน”

“อีกราวร้อยละ 61 จัดขึ้นโต๊ะในวันรวมญาติ”

“ขณะที่อีกร้อยละ 47 วางไว้ระหว่างมื้อเจรจาธุรกิจ”

ทั้งหมดล้วนแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มความนิยมในการบริโภคหูฉลามของคนไทยนั้นเป็นไปอย่างแพร่หลาย และแนวโน้มที่ปรากฏอย่างชัดเจนก็คือ คนไทยส่วนใหญ่ยังอยากลิ้มรสหูฉลามสักครั้งในชีวิต 

มันไม่ใช่แค่การที่ไทยยังเป็นตลาดสำคัญของการค้าหูฉลาม หรือเราต้องตื่นเต้นกับซุปหูฉลามราคาไม่เกินเอื้อมตาม “เหลา” ทั่วกรุงเทพมหานคร แต่จากรายงาน ผลสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทย โดย องค์กรช่วยสัตว์ป่า หรือ ไวด์เอด (WILDAID) ที่ปรากฏสู่สายตาสาธารณะเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ยังเผยให้เห็นโศกนาฏกรรมที่อยู่ร่วมกับความอร่อยเหล่านี้

ความจริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังตัวเลขจำนวนฉลามที่ถูกล่าทั่วโลก 63 ล้าน ถึง 273 ล้านตัวต่อปี ไปจนถึงการส่งออกหูฉลามแปรรูปกว่า 2,300 ล้านบาทของไทยก็คือ วันนี้ประชากรฉลามทั้ง 14 สายพันธุ์ที่อาศัยในน่านน้ำในภูมิภาคต่างๆ กำลังลดลงในอัตรา 40-99 เปอร์เซ็นต์ 

โดยเฉพาะ ฉลามสีน้ำเงิน (Prionace glauca) ฉลามซิลค์กี้ หรือฉลามเทา (Carcharhinus falciformis) ฉลามเสือ (Galeocerdo cuvier) และฉลามหัวบาตร (Carcharhinus leucas) ที่ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN กำหนดให้อยู่ในสถานะ “เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์” (NT) รวมทั้งฉลามอีก 10 สายพันธุ์ที่อยู่ในข่าย “ใกล้การสูญพันธุ์” (VU) และ "ใกล้สูญพันธุ์" (EN) 

อาจดูเป็นเรื่องตลกร้ายที่มาเฟียแห่งท้องทะเล อย่างฉลาม ผู้ล่าที่อยู่ลำดับบนสุดของระบบนิเวศใต้น้ำจะถูกต้อนเพียงเพราะหู หรือครีบ (FIN) ของตัวเอง และยิ่งจะหัวเราะไม่ออก ถ้าเรารู้ว่า เมื่อฉลามตัวสุดท้ายถูกหิ้วขึ้นมาจากทะเล จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปบ้าง

นอกจากฉลามจะถูกนับเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในมหาสมุทร (ไม่นับรวมวาฬซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) และอยู่คู่กับท้องทะเลมากว่า 400 ล้านปีแล้ว ความเป็น “นักล่า” ที่อยู่บนยอดสุดของห่วงโซ่อาหารที่คอยควบคุมประชากรสัตว์น้ำยังถือเป็นบทบาททางธรรมชาติที่มอบมาให้ติดตัวพวกมันด้วย 

ถ้าทะเลขาดนักล่าอย่างฉลามแล้ว อาจเป็นไปได้ว่า ปริมาณของปลาใหญ่ที่กินปลาอื่นในทะเลจะเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปลาขนาดเล็กหมดไปทะเลอาจเสียสมดุล ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณปลาในทะเลลดจำนวนลง และส่งผลต่อปลาบนโต๊ะอาหารของคนเราก็จะน้อยลง และมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย 

โดยผลกระทบที่แท้จริงในทางวิทยาศาสตร์ก็ยังคงประเมินกันอยู่ว่ามีอะไรรอเราอยู่ในวันพรุ่งนี้บ้าง

แน่นอนว่า หากไม่มีการทำอะไรปรากฏการณ์ "ทะเลเสียสมดุล" ก็จะไม่ใช่เรื่องเกินจริงอีกต่อไป

  • จิ๊กซอว์ตัวเดียวกัน

ไม่ว่าจะเป็น “มูลค่า” หรือ “ความเสี่ยง” ที่เกิดกับฉลามในอัตราส่วน “มหาศาล” มันยังเป็นภาพสะท้อนผลกระทบที่ต่อไปยังจิ๊กซอว์ตัวอื่นๆ ของวิกฤตที่เกิดขึ้นกับทะเลในปัจจุบันนี้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาณาเขตกว่า 323 ล้านไร่ของทะเลไทย

อย่างที่รู้กันดีว่า ทะเลคือแหล่งทรัพยากรอันมีค่าของบ้านเรา ในรายงานเรื่อง เศรษฐกิจสีคราม : ผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล โดย ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ประเมินมูลค่าผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทยทั้งทางตรง และทางอ้อมในปีพ.ศ. 2559 นั้นมีไม่ต่ำกว่า 221 ล้านล้านบาท หรือ 1.55 เท่าของจีดีพี 

ขณะที่สินค้าสัตว์น้ำจากทะเล และประมงชายฝั่งที่ถูกป้อนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมมีมากกว่า 1.22 ล้านตัน และเป็นแหล่งรายได้ไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี 

ด้านการท่องเที่ยว ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็ชี้ชัดว่า ยอดนักท่องเที่ยวทะเลเพิ่มขึ้นชนิดก้าวกระโดดภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี จากนักท่องเที่ยว 15 ล้านคนในปี 2553 วันนี้ ตัวเลข “ดีด” มาอยู่ที่ 36.5 ล้านคนเมื่อปี 2559 ทำให้มีเงินสะพัดถึง 1,800 ล้านบาท 

เมื่อโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี เม็ดเงิน “มหาศาล” ที่ได้มาก็ต้องแลกกับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทะเล และชายฝั่ง “มหาศาล” เหมือนกัน   

วันนี้ ปะการังใต้ทะเล เสื่อมโทรมลงไปแล้วกว่า ร้อยละ 80 และถ้านับนิ้วกันจริงๆ แนวปะการังสมบูรณ์ของไทยก็เหลืออยู่เพียง 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

“ป่าชายเลนยังดี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หญ้าทะเลก็ไม่เท่าไหร่ ถูกคุกคามแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ สัตว์ทะเลหายากตายเป็นเบือ และมีแนวโน้นว่าจะเพิ่มมากยิ่งขึ้น วาฬ และโลมาตายเฉลี่ย 2.3 วันต่อตัว เต่าทะเลทุก 2 วันจะมีเต่าตาย 1 ตัว สาเหตุสำคัญมาจากมนุษย์ทั้งนั้น” ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เคยหยิบตัวเลขรายงานทางวิชาการเกี่ยวกับทะเลขึ้นมายืนยัน 

แม้กระทั่งรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเองก็ตามยังระบุเอาไว้ชัดเจนว่า กิจกรรมทางทะเลอย่างอุตสาหกรรมประมงที่ทำประมงมากเกินไป ทำให้ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ความสมบูรณ์ของทรัพยากรและสัตว์น้ำของไทยลดลงไปอย่างรวดเร็ว และยังลุกลามไปถึงการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย การลักลอบทำประมงในเขตอนุรักษ์ แรงงานผิดกฎหมาย และไร้การควบคุม นำไปสู่การได้ใบเหลือง IUU จากสหภาพยุโรปในที่สุด 

นอกจากนั้น ยังรวมไปถึง นิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งทั้ง 29 แห่ง แท่นขุดเจาะปิโตเลียมอีก 436 แท่น ท่าเรืออีกกว่า 440 ท่าทั่วประเทศ รวมทั้งการขยายตัวของชุมชนชายฝั่งล้วนส่งผลกระทบต่อทะเลทั้งทางตรง และทางอ้อม 

เรื่องนี้ถ้าถาม ม่าเบ่ย์ อาห์มัน ชาวประมงบ้านตะโล๊ะใส ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล และเพื่อนๆ ชาวประมงพื้นบ้านอีกนับร้อยชีวิตตามชายฝั่ง เขาก็ยอมรับว่า “จริง” ปูปลาที่เคยได้อยู่ 200 กิโลกรัมต่อการออกเลครั้งหนึ่งเมื่อ 20 ปีก่อน เหลือไม่ถึง 50 กิโลกรัมในวันนี้ มันเป็นทั้งความผิดปกติ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงๆ 

“50 ปีก่อน เราเคยหาปลาด้วยอวนลากได้ 300 กิโลกรัมต่อชั่วโมง แต่ในวันนี้ เหลือเพียง 17.8 กิโลกรัมต่อชั่วโมง คิดเป็นแค่ 6 เปอร์เซ็นต์ของ 50 ปีก่อนเท่านั้น” ชิน - ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพ และนักนิเวศวิทยาใต้ทะเลยกรายงานอีกชุดขึ้นมาเปรียบเทียบ

ผลพวงหนึ่งของตัวเลขชุดดังกล่าวสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมการประมงแบบ “เหมาเข่ง” ไม่ได้มีการแบ่งประเภทของปลาที่จะหา หรือแม้แต่ขนาดของปลาในอวน นักนิเวศวิทยาหนุ่มคนเดิมเล่าว่า ฉลามกว่าร้อยละ 90 ก็ติดอวนขึ้นมาด้วยเหตุผลนี้ พอๆ กับพวกเต่า หรือสัตว์ทะเลอื่นๆ แน่นอนว่า ทุกชีวิตที่ติดขึ้นมาล้วนขายได้ เพราะยังมีสายพานอุตสาหกรรมแปรรูป และอาหารสัตว์รอรับอยู่

แน่นอนว่า นี่เป็นความจริงอีกด้านที่ใครหลายคนอาจไม่ทันสังเกตเห็นเวลาออกทะเล พอๆ กับ คนไทยอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ไม่รู้ว่า ฉลามส่วนมากถูกล่าเพื่อเอาครีบ

ทั้งๆ ที่ทั้งหมดนี้... เป็นเรื่องเดียวกัน

  • เพื่อทะเลที่ยั่งยืน

ถึงจะมีความพยายามรณรงค์ตลอดมา แต่การล้างผลาญทะเลรายวันก็ยังคงดำเนินต่อไป เรื่องนี้ช่างภาพนักอนุรักษ์อย่างชินมองว่า นี่เป็นเรื่องความตระหนักรู้ที่ยังไม่ถูกปลูกฝังให้สิ่งแวดล้อมกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต ดังนั้น ไม่แน่ว่าเราอาจต้องเห็นปลาตัวสุดท้ายถูกหิ้วขึ้นจากทะเลก่อนถึงค่อย “รู้สึก” 

แต่ปลายทางอุโมงค์ก็ไม่ได้มีแค่ความมืดมิดเพียงอย่างเดียว หลายๆ ประเทศติดทะเลเริ่มสร้างความตระหนักรู้ และปรับตัวกับขุมทรัพย์ธรรมชาติที่เคยคิดว่าไม่มีวันหมดกันแล้ว 

อย่างที่ อังกฤษ เมื่อไม่นานมานี้ต้องพบพานกับ วิกฤต “ปลาค็อด” ที่เคยจับได้แถบทะเลเหนือลดลงกว่า 95 เปอร์เซ็นต์จากการประมงเกินขนาด นำไปสู่ความร่วมมือและความพยายามจากหลายภาคส่วนเพื่อฟื้นจำนวนปลาค็อดให้กลับคืนมาอีกครั้ง

โดยนอกจากจะมีการควบคุมโควต้าปริมาณ และวันจับอย่างเคร่งครัดแล้ว อุปกรณ์จับปลายังถูกปรับเปลี่ยนทั้งอุตสาหกรรม อีกทั้งยังมีการใช้กล้องวงจรปิดแบบระบบส่งภาพทางไกล (remote monitoring CCTV) คอยตรวจตราเรือแต่ละลำ

เรียกว่า “ปฏิวัติวงการ” กันเลยทีเดียว

แม้วันนี้ สถานการณ์ประชากรของปลาหน้าตาพิลึก แต่เนื้ออร่อยชนิดนี้ในระดับโลกยังน่าเป็นห่วงอยู่มาก แต่การออกมาแสดงความรับผิดชอบของคนหาปลา ที่ร่วมกับบริษัทรับซื้อปลา และเนื้อปลารายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลกอย่างยูนิลีเวอร์ และ World Wildlife Find ผ่านตรารับรองของ Marine Stewardship Council หรือ MSC ซึ่งแสดงถึงมาตรฐานในการจับปลาที่มีความรับผิดชอบก็ดูเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เกิดขึ้น 

ที่หมู่เกาะกาลาปาโกส (Galápagos Islands) กุ้งมังกรหนามเขียว (Green Spiny Lobster) เคยเป็นสัตว์น้ำที่มีอยู่อย่างชุกชุม และเป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีอิทธิพลต่อระบบนิเวศ (Keystone Species) แต่ค่าตัวที่แพงลิ่วทำให้พวกมันถูกจับอย่างไม่ยั้งมือจนเกือบจะหมดไปในช่วงปี 2543 

เมื่อเกิดตระหนักได้ว่า เจ้ากุ้งมังกรหนามเขียวมีความสัมพันธ์ในการควบคุมประชากรหอยเม่นไม่ให้แย่งสาหร่ายทะเลอาหารของกิ้งก่าอิกัวน่าทะเล หนึ่งในแหล่งรายได้กว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของการท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ ชาวประมง นักวิทยาศาสตร์ และภาครัฐจึงร่วมมือกันภายใต้แนวคิด “จับให้น้อยลง แต่ขายได้แพงขึ้น” และมีการติดตามประเมินผลอย่างสม่ำเสมอในทุกๆ ปีจนกุ้งมังกรเหล่านี้ฟื้นขึ้นมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

สำหรับประเทศไทย การกำหนดเขตอนุรักษ์ หรือแม้แต่การทำ “ธนาคารปู-ปลา” โดยกลุ่มชาวประมงในหลายพื้นที่ก็เป็นหนึ่งในแนวทางที่จะรักษามรดกจากธรรมชาติเอาไว้เพื่อคนรุ่นต่อไป 

“จะมารอภาครัฐอย่างเดียวคงไม่ได้ พวกเราก็ต้องช่วยเหลือตัวเองด้วย” เจริญ โต๊ะอิแด ชาวประมงพื้นบ้าน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช พูดถึงการทำแนวอนุรักษ์ทั้ง ซั้งบ้านปลา เขตประมงพื้นบ้าน เขตอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ธนาคารปู ของชาวบ้าน ในวันที่อุตสาหกรรมประมงพาณิชย์รุกคืบเข้ามาถึงท้องเลหน้าบ้าน ซ้ำเติมปัญหาที่มาในรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น นากุ้ง เขื่อนกันคลื่น การขุดลอกแม่น้ำปากพนัง จนทำให้ครั้งหนึ่งหาดทรายขาดถูกกลบด้วยดินเลนไป

ที่สำคัญ...

เราต้องไม่ลืมว่า ครั้งหนึ่งมหาสมุทรเคยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แทนคนเราไปแล้วถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณก๊าซทั้งหมดแทนที่เกิดขึ้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

ทำให้วันนี้ทะเลเองก็ใช้ชีวิตด้วยความยากลำบากจากความเป็นกรดที่เพิ่มขึ้นถึง 30 เท่าจากที่ควรจะเป็น ส่งผลให้ประชากรร่วมทะเลอย่าง หอย ปู กุ้ง ปะการัง ปลาหมึก ขยายพันธุ์ได้น้อยลง 

เมื่อทุกสิ่งในธรรมชาติล้วนเชื่อมโยงกัน การเปลี่ยนแปลงสิ่งหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อระบบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง และท้ายที่สุดมันก็จะย้อนกลับมาหาตัวเราอยู่ดี อย่างที่ เดวิด โบรเวอร์ (David Brower) นักสิ่งแวดล้อมคนสำคัญชาวสหรัฐเคยกล่าวเอาไว้ว่า...   

เรามิได้รับโลกใบนี้ต่อมาจากบรรพบุรุษ แต่เราหยิบยืมมันมาจากอนาคตของลูกหลาน

ภาพ : ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย /เนชันแนลจีโอกราฟฟิก ประเทศไทย