‘พลังวิจัย’ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม

 ‘พลังวิจัย’ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม

ต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้า 43 ที่นั่ง แป้งเกี๊ยวปราศจากกลูเตนจากแป้งข้าว และออร์กาโนเจลจากน้ำมันรำ ตัวอย่างผลงานวิจัยที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ในโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ครั้งที่ 3

ต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้า 43 ที่นั่ง แป้งเกี๊ยวปราศจากกลูเตนจากแป้งข้าว และออร์กาโนเจลจากน้ำมันรำ ตัวอย่างผลงานวิจัยที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ในโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ครั้งที่ 3 หนึ่งในกลไกของ สกว. ที่มุ่งผลักดันให้เกิดงานวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการหรือภาคอุตสาหกรรม


ปีนี้ให้ทุนสนับสนุนกว่า 150 ทุน โดยมีภาคเอกชนร่วมลงทุนกระจายทั้งในระดับปริญญาโทและเอก 6 สาขา ได้แก่ อาหารและแปรรูปอาหาร, เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, ยา สมุนไพรและวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, โลหะ ยานยนต์ ขนส่งและโลจิสติกส์, พลังงาน สิ่งแวดล้อมและปิโตรเคมี


รถโดยสารไฟฟ้าบริการจริง


ต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน จากสำนักวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นคันแรกที่บริการบนสภาพถนนจริงให้พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำหรับนำร่องการพัฒนาเทคโนโลยีการขนส่งด้วยระบบรถไฟฟ้า และศึกษาความเหมาะสมการนำมาใช้ร่วมกับระบบขนส่งมวลชน โดยได้วิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบกับรถโดยสารที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากการทดสอบวิ่งบนถนนจริง


นายสุชาติ พันธุ์ไพศาล นักวิจัย กล่าวว่า ผลการทดสอบรถโดยสารทั้งสองที่มีผู้โดยสารจำนวนเท่ากัน วิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย 60-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเส้นทางเดียวกันทั้งนอกเมืองและในเมือง พบอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงเท่ากับ 0.68-1.09 กิโลวัตต์ต่อกิโลเมตร และ 0.36-0.40 ลิตรต่อกิโลเมตร หรือ 3.05-4.93 บาทต่อกิโลเมตร และ 8.75-9.84 บาทต่อกิโลเมตร ตามลำดับ คิดเป็นค่าใช้จ่าย 2.74-4.93 บาทต่อกิโลเมตร ประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายกว่ารถโดยสารเชื้อเพลิง 2-3 เท่า


“ไทยสร้างและประกอบรถโดยสารไฟฟ้าไร้มลพิษคันแรกได้สำเร็จ ลดการสั่งซื้อจากต่างประเทศในราคาไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาทต่อคัน หากรัฐบาลให้การสนับสนุนจะทำให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองและส่งออกได้ด้วย” นักวิจัยกล่าว


ขณะที่นักวิจัยจากภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้การพัฒนาสูตรแป้งผสมสำเร็จสำหรับผลิตแผ่นเกี๊ยวปราศจากกลูเตนจากแป้งข้าว ด้วยการผสมไฮโดรคอลลอยด์ เพื่อช่วยปรับปรุงโดจากแป้งข้าวให้มีความยืดหยุ่นคล้ายโดจากแป้งสาลี ผลทดสอบทางการตลาด ปรากฏว่าผู้บริโภคให้การตอบรับดี ล่าสุดทางบริษัท วราวุธอุตสาหกรรม จำกัด เตรียมนำไปต่อยอดทางพาณิชย์เพื่อเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มคนที่แพ้กลูเตนซึ่งมีมากในต่างประเทศ รวมไปถึงกลุ่มคนทั่วไปที่สนใจผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยทางผู้ประกอบการกำลังวางแผนส่งออกทั้งแป้งผสมสำเร็จสำหรับผลิตแผ่นเกี๊ยวและแผ่นเกี๊ยวจากแป้งข้าวของไทย


วิจัยเพิ่มมูลค่าน้ำมันรำข้าว


ขณะที่ออร์กาโนเจล (organogel) ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากน้ำมันรำข้าว ผลงานของนักวิจัยสถาบันเดียวกัน ได้รับทุนวิจัยจากบริษัท น้ำมันบริโภคไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันรำข้าวคิง โดยนายประวิทย์ สันติวัฒนา กรรมการบริหาร กล่าวว่า งานวิจัยจากหน่วยงานรัฐจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์ ได้เรียนรู้ร่วมกับนักวิจัยในวงกว้าง ขณะที่การทำวิจัยในบริษัทจะได้ในเชิงลึก พร้อมกันนี้อุปกรณ์การทดลองวิจัยในภาครัฐมีความพร้อมมากกว่า เมื่อเทียบกับเอกชนที่ไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนซื้ออุปกรณ์มาทำผลิตภัณฑ์เพื่อการวิจัย 2-3 รายการ


ออร์การ์โนเจลจากน้ำมันรำข้าว มีคุณสมบัติเหมือนหรือใกล้เคียงกับไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ สำหรับการนำไปใช้ในการผลิตเนยเทียม สเปรด เนยขาว ช็อคโกแลตเคลือบ และผลิตภัณฑ์ขนมต่างๆ ที่ปราศจากไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ในระดับอุตสาหกรรมต่อไป
นอกจากอุตสาหกรรมอาหารแล้ว นักวิจัยยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ เครื่องสำอาง ยาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของไขพืช เนื่องจากไขรำข้าวเป็นวัตถุดิบที่หาได้ในประเทศ แต่น้ำมันรำข้าวยังถูกนำไปใช้ประโยชน์ค่อนข้างจำกัดและยังไม่เป็นที่แพร่หลาย

“การทำตลาดนอนออยล์ เป็นการเปิดตลาดใหม่หรือเป็นบลูโอเชียนที่จะสร้างโอกาสในการเป็นผู้นำตลาดได้ง่ายขึ้น เดิมเราทำตลาดน้ำมันรำข้าวเป็นหลัก แต่จากนี้ไปจะไม่สามารถสร้างความแตกต่างได้มากนัก ขณะที่นวัตกรรมจากกลุ่มนอนออยล์จะทำให้เราได้เปรียบคู่แข่ง และให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่าน้ำมันในอนาคตเมื่อตลาดมีความพร้อม” นายประวิทย์ กล่าว