โบรก 'แตะเบรก' ปล่อยกู้

โบรก 'แตะเบรก' ปล่อยกู้

โบรกแตะเบรกปล่อยกู้ "บัญชีมาร์จิน" หุ้นเล็กเบี้ยวหนี้

ในยามที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยผันผวนไม่ได้ปรับตัวไปทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่การซื้อขายแบบเก็งกำไรจะกระจุกตัวในหุ้นขนาดเล็ก ซึ่งนักลงทุนที่นิยมลงทุนเก็งกำไรก็จะใช้บัญชีสินเชื่อเพื่อซื้อขายหุ้นหรือ มาร์จิ้น เนื่องจากใช้เงินลงทุนไม่มาก แม้ปัจจุบันการใช้บัญชีมาร์จิ้นจะมีสัดส่วนที่น้อยลงหากเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540

ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เคยชี้แจงว่า การปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ ปัจจุบันมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท และมีการเติบโตจากปีก่อนเล็กน้อยอาจเป็นเพราะบรรยากาศการลงทุนไม่เอื้ออำนวยเหมือนปีก่อน ส่วนกรณีที่มีผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยซื้อขายหุ้นด้วยบัญชีมาร์จิ้นนั้น ส่วนตัวไม่ทราบถึงสาเหตุของการถูกบังคับขายหุ้นที่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้มีการเก็บตัวเลขผู้บริหารบจ.ที่เทรดหุ้นผ่านบัญชีมาร์จิ้นจำนวนมากน้อยแค่ไหน  แต่คงแนะนำว่าควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ หากพบว่าผู้บริหารซื้อหรือขายหุ้นตัวเอง ต้องประเมินสาเหตุให้ดี เพราะการลงทุนในหุ้นต้องดูที่พื้นฐานเป็นหลัก หากไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมก็ควรหลีกเลี่ยงไม่ควรเข้าไปร่วมวง 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจะเห็นว่า หุ้นที่ถูกบังคับขายส่วนใหญ่ จะเป็นหุ้นขนาดเล็ก และมีปัจจัยลบเข้ามาส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น โดยเฉพาะประเด็นกรณีของการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบีอี ซึ่งมีผลกระทบไปถึงราคาหุ้นปรับลดลงแรงเพราะนักลงทุนตื่นตระหนกและเทขายออกมา

ล่าสุดโบรกเกอร์บอกว่า บริษัทหลักทรัพย์บางราย สั่งระงับการปล่อยสินเชื่อมาร์จิ้นกับหุ้นขนาดเล็ก หรือบางรายได้ปรับลดวงเงินปล่อยกู้ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะหุ้นที่อยู่ในกลุ่มบริษัทขนาดเล็กและอาจมีผลกระทบจากผิดชำระหนี้ตั๋วบีอี จนทำให้หุ้นอาจถูกสั่งให้หยุดซื้อขาย หรือผลประกอบการออกมาไม่ดีทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงแรง ดังนั้นบล.จึงเลือกที่จะลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจลง อย่างไรก็ตาม การปล่อยบัญชีมาร์จิ้นหุ้นใหญ่ยังคงดำเนินการตามปกติ ส่วนมูลค่าการซื้อขายหุ้นโดยรวมปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนรายบุคคลได้ชะลอการซื้อขายนั้น อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการชะลอการปล่อยกู้มาร์จิ้นเท่านั้น

เป็นเรื่องปกติของโบรกเกอร์ที่จะต้องระมัดระวังการปล่อยกู้ในบัญชีมาร์จิ้น โดยเฉพาะหุ้นที่มีความเสี่ยงอาจถูกพักการซื้อขายหรือมีปัจจัยกดดันทำให้ราคาหุ้นปรับลดลงแรง ทำให้นักลงทุนได้รับผลกระทบและโบรกเกอร์ต้องเรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มหากนักลงทุนไม่สามารถนำหลักประกันมาเติมตามเกณฑ์ก็จะถูกฟอซ์เซล”

จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า หุ้นที่มีปัญหาเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินหรือบีอี พบว่ามีผลกระทบเชื่อมโยงไปถึงราคาหุ้นในกระดานปรับตัวลดลงแรง จนทำให้ต้องเกิดการบังคับขายหุ้นเกิดขึ้นประกอบด้วย บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) EARTH และบริษัท ดีมีเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) DCROP

โดย“อนิศ โอสถานุเคราะห์” กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีมีเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)ชี้แจงผ่านสื่อออนไลน์ว่า กรณีที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลง(ระหว่าง วันที่11-14ก.ค.2560) เนื่องจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ถูกบังคับขาย (forced sell) ส่งผลให้ปริมาณหุ้นเข้าไปอยู่ในตลาดเป็นจำนวนมากและมีผลต่อราคา แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ถูกforced sellด้วยกรณีใดนั้นไม่ยังชัดเจน ทั้งนี้บริษัทยืนยันว่า นโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัท ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่สภาพคล่องของบริษัทยังคงดำรงกระแสเงินสดสูงถึง 500 ล้านบาท ขณะที่บริษัทไม่มีหนี้สินและตั๋วเงินระยะสั้น(บีอี)จึงไม่มีความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าวและ บริษัทอยู่ระหว่างการหาแนวทางในการ

ก่อนหน้านี้ “ขจรพงศ์ คำดี ”ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) EARTH เคยกล่าวว่าราคาหุ้นปรับลดลง 2 ฟลอร์ต่อเนื่องเนื่องจากกลุ่มผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ “คำดี-พิหเคนทร์” ถูกฟอร์ซเซลจำนวนมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ใช้บัญชีมาร์จิ้นในการซื้อหุ้น ซึ่งเมื่อราคาลงแรงไปอยู่ในจุด Trigger และไม่ได้ใส่หลักประกันเพิ่มเติม จึงถูกฟอร์ซเซล โดยรวมกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ถูกฟอร์ซเซลไปประมาณ 15% และน่าจะสิ้นสุดลงแล้ว ส่งผลให้สัดส่วนถือหุ้นอาจลดลงจาก 45% เหลือราว 30%และขอยืนยันว่าไม่มีกลุ่มผู้ถือหุ้นและผู้บริหารไม่ได้มีการทะเลาะกันภายใน และยังบริหารงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี โดยกลุ่ม “คำดี-พิหเคนทร์” และพันธมิตร ยังถือหุ้นรวมกันเกิน 50% แม้ถูกฟอร์ซเซลไปแล้วบางส่วน