ไม่ยอมแพ้ จนกว่าจะถึงเส้นชัย สูตรเคลื่อน 'ฮาบิแททกรุ๊ป'

ไม่ยอมแพ้ จนกว่าจะถึงเส้นชัย  สูตรเคลื่อน 'ฮาบิแททกรุ๊ป'

เพราะหลงใหลการซื้อที่อยู่อาศัยเป็น‘ทุนเดิม’ก่อนจะพบว่าธุรกิจนี้สร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำ อดีตนักธุรกิจผู้คร่ำหวอดในแวดวงไอที เบนเข็มรุกอสังหาฯเต็มตัว เปิดน่านน้ำสีคราม สู่เส้นทางแจ้งเกิด’ฮาบิแทท กรุ๊ป’

จากความชื่นชอบที่อยู่อาศัยหรูหราเป็นการส่วนตัวถึงขั้นที่ยกให้เป็น“งานอดิเรก”ท่ามกลางเพื่อนฝูงหนุ่มๆพากันไปเล่นกีฬา เตะฟุตบอล แต่สำหรับ “ชนินทร์ วานิชวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ฮาบิแทท กรุ๊ป จำกัด กลับเลือกที่จะตระเวนดูคอนโดมิเนียมได้เป็นวันๆ

กลายเป็น“จุดเริ่มต้น” ทำให้เขาค่อยๆก้าวสู่การเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยปัจจุบันตั้งบริษัทเป็นของตนเอง ในนาม “ฮาบิแทท กรุ๊ป” (ก่อตั้งมา 5ปี) และกำลังกำหนดทิศทางสู่การเติบโตในปีถัดๆไป

ทว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่ธุรกิจแรกที่“ชนินทร์”ซีอีโอหน้าใหม่ หยิบจับ “ธุรกิจเทคโนโลยี” หรือ ไอที คืออาชีพแรกที่เจ้าตัวทำ โดยเป็นการเข้าไปช่วยงานพี่ชายมากกว่าความสนใจเฉพาะตัว 

 “ปูมหลังเดิม ผมเป็นนักพัฒนาซอฟท์แวร์ ด้านการศึกษา ด้านบันเทิงต่างๆ แบรนด์คนไทย ส่งออกไปยุโรป สหรัฐ ซึ่งธุรกิจเดิมนี้ค่อนข้างพึ่งพาบุคลากรเยอะ และธุรกิจก็เป็นทรัพย์สินทางปัญญา จับต้องไม่ได้ แถมยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวของเทคโนโลยีอยู่ตลอด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินทรัพย์ กลายเป็นความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจเมื่อเทียบกับธุรกิจอสังหาฯที่ทำเรื่องพวกนี้น้อยกว่า” เขาเท้าความ ก่อนเล่าต่อว่า

จากความชอบส่วนตัว ทำให้ริเริ่มลงทุนในฐานะผู้ซื้อคอนโดมิเนียมเพื่ออยู่อาศัย จากห้องแรก พออยู่ไป 3เดือน5เดือน ก็หาที่อยู่ใหม่ โดยขายห้องแรกออกไป กลายเป็นการทำธุรกิจ “ซื้อมาขายไป” ตอนนั้นก็ได้กำไรจากส่วนต่างจากการขายอสังหาฯกลับมา โดยห้องชุดแรกที่ซื้ออยู่ราคา4.2ล้านบาท และขายไปในราคา7.9ล้านบาท

“อดีต13-14ปีก่อนส่วนต่างกำไรที่ได้รับค่อนข้างสูง เพราะความต้องการที่อยู่อาศัยมีมากกว่า ปริมาณที่อยู่อาศัย บวกไลฟ์สไตล์การมองหาที่อยู่อาศัยที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบระดับจาก3ดาว ขึ้นเป็น4-5ดาว ก็ทำให้มีห้องชุดเพิ่มเป็นเงาตามตัว จาก2ห้อง เป็น3ห้อง ขายออกไปบ้างและปล่อยเช่าเพื่อหาผลตอบแทน ตลอดเวลา3-4ปี จากห้องชุดเดียวก็ถือครองห้องชุดกว่า60ห้อง เป็นสินทรัพย์ที่หมุนเวียนในมือ ทำเงินให้โตต่อเนื่อง” เจ้าตัวเล่า 

ทว่า เมื่อคอนโดที่ลงทุนได้เริ่มได้ผลตอบแทนลดลงจาก7-8%เหลือ4-5% จากจำนวนนักพัฒนาอสังหาฯในตลาดมีมากขึ้น ห้องชุดที่แพงขึ้น ทำให้เขาเริ่มมองหา“โอกาสใหม่” ด้วยการก้าวสู่งสังเวียนนักพัฒนาอสังหาฯเต็มตัว ด้วยการพัฒนาโครงการเป็นของตัวเอง ครั้นจะให้ทำธุรกิจ“ตามตลาด”สร้างห้องชุดเหมือนรายอื่น ผู้เล่น“รายเล็ก”ย่อมแข่งขันยาก  

เมื่อเห็นปัญหานี้ ชนินทร์จึงหันเข็มทิศหาน่านน้ำสีคราม(Blue Ocean) เฟ้นหาทำเลทองต่างจังหวัด เมืองท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรมฯ ทั้งชลบุรี ศรีราชา พัทยา ภูเก็ต ชะอำ ผุดโปรเจคเฉพาะกลุ่มขึ้นมา (Niche Market)   

“จะลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯก็ได้ แต่การแข่งขันสูง เลยเลือกที่จะเป็นฮีโร่ในตลาดที่แข่งขันไม่เยอะเท่ากรุงเทพฯแต่ยังอยู่ในทำเลทอง”

พัทยา เป็นหมุดหมายแรกที่ ชนินทร์ นำเงินสะสมจากการทำกำไรขายอสังหาฯ ลุยโปรเจค “เดอะ วิลล์ จอมเทียน พูลวิลล่า”จำนวน80ยูนิต มูลค่ากว่า500ล้านบาท และใช้เวลาราว1ปีเศษก็สามารถปิดการขายได้หมด และ 5ปีที่ผ่านมา เขาขับเคลื่อนฮาบิแทท กรุ๊ป ให้เติบโตขึ้นจากโครงการเดียว เพิ่มเป็น 5 โครงการ และเตรียมเปิด2โครงการใหม่ในครึ่งปีหลังของปีนี้ มูลค่าโครงการกว่า1,000ล้านบาท ทั้งบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียม 

นับเป็นครั้งแรกที่“รุกคืบ”สู่ทำเลกลางกรุงเทพฯในย่านอโศก

 โดยโครงการใหม่ เน้น “ทำเล” ตระเวนหาที่ดินใจกลางเมืองย่านอโศกไม่เกิน1ไร่ พัฒนาคอนโดราคาหลักแสนบาทต่อตารางเมตร ไม่เกิน100ยูนิต และทำเลเพลินจิต พัฒนาบ้านเดี่ยวไม่เกิน10หลัง ราคาไม่เกิน100 ล้านบาทต่อยูนิต ซึ่งการทำโปรเจคไซส์กะทัดรัด นอกจากแก้โจทย์หาที่ดินใจยาก ความเป็นโครงการขนาดเล็กยังเป็นบลูโอเขียนทำให้บริษัท “แทรกตัว” ในตลาดตึกสูงระฟ้า 

 “เสน่ห์ของเราคือเป็นรายเล็กที่เคลื่อนไหวเร็ว เราจะไม่ทำโครงการใหญ่ใช้เวลา5-7ปี แต่จะทำขนาด700-800ล้าน ไม่เกินนี้ เพื่อให้สามารถขายได้ไว ปิดการขายไวและไปต่อได้เร็ว”

 สำหรับการพัฒนาอสังหาฯ ชนินทร์ เล่าว่า จะยึด3ปัจจัย เพื่อปูทางสู่ความสำเร็จ ได้แก่ “ทำเล” ต้องย่านไพรม์(ทำเลทอง) เช่น พัทยาต้องติดทะเลหรือเดินลงทะเลได้ ส่วนกรุงเทพฯต้องเกาะถนนใหญ่ ไม่อยู่ในซอยลึกเกินไป“โปรดักท์ดี” ให้ความสำคัญทั้งออกแบบ ดีไซน์ที่แตกต่าง แลนด์สเคป ฟังก์ชั่น การตกแต่งเพื่อเป็นจุดขายแข่งขันในตลาดได้ โดยดึงมือดีระดับโลกมาเพิ่มความโดดเด่น 

อีกสิ่งที่การันตีของดีคือทุกโครงการ เช่น ครอสทู ไวบ์ พัทยา ซีเฟียร์, เบสท์ เวสเทิร์น พรีเมีย เบย์เฟียร์ฯ ได้รับ“รางวัล”เช่น จากเอเชีย พร็อพเพอร์ตี้ อวอร์ดส และไทยแลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ อวอร์ดส

การเป็นผู้เล่นรายเล็ก ขยับสู่ธุรกิจสเกลที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เข้าใกล้การชนกับอสังหาฯรายใหญ่ ทำให้ชนินทร์ต้องทำ “การบ้าน” หนักอีกขั้น ไม่ว่าจะเป็นการตลาด การดูแลการเช่าเพื่อตอบโจทย์นักลงทุน

"ผมต้องทำความเข้าใจตลาด โดยไล่ดูทุกโครงการ ยิ่งสมัยซื้ออยู่อาศัยต้องรู้จักทุกโครงการที่เปิดขาย รู้จักรายละเอียดของแต่ละโครงการ เห็นมุมห้องก็บอกได้ทันทีว่าเป็นโครงการอะไร ซึ่งดูเยอะ เพราะเงินของเรา หากนำไปลงทุนผิดคือจบ มันจึงไม่สามารถผิดได้ ทุกกระสุนที่มีต้องยิงให้ได้หมด ผมดูเพราะผมชอบด้วย สนุก มีความสุข ดูจนรู้ว่าทำไมโครงการนี้ขายดี”เรียกว่าวิเคระาห์จุดแข็งจุดอ่อนได้ครบ 

เริ่มรุกธุรกิจด้วยทีมงาน4-5ชีวิต จนเติบใหญ่มีพนักงานเกือบร้อยชีวิต เจ้าตัวยอมรับว่า องค์กรมาไกลเกินฝัน และมาถึงจุดนี้ได้เพราะ“แพสชั่นล้วนๆ คือผมชอบทำของดี และภูมิใจที่เป็นเจ้าของ เช่นเดียวกับขายให้ลูกค้าและคิดว่าเขาจะภูมิใจเช่นกัน” 

ส่วนเป้าหมายการเคลื่อนองค์กรแห่งนี้ แน่นอนเขามองไกลถึงท็อป10ในตลาด นั่นคือเป้าหมายระยะยาว แต่ระยะ3-5ปี จะนำฮาบิแทท เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนพัฒนาโปรเจคใหม่ๆและหาแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำ 

“ตอนนี้บริษัทยังไม่ใหญ่ แต่ก็วางแผนที่จะเติบโตจากนี้ไปอีกเยอะ และอยากสร้างแบรนด์ฮาบิแททให้เป็นที่รู้จัก เหมือนกับยักษ์ใหญ่รายอื่นๆ รวมถึงติดท็อปในตลาดมีสินค้าหลากหลาย ผู้บริโภคนึกถึงที่อยู่อาศัยแบรนด์พรีเมี่ยม หรู มีดีไซน์แตกต่างนึกถึงฮาบิแทท" 

 อย่างไรก็ตาม การปลุกปั้นฮาบิแทท ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะช่วงแรกๆเจออุปสรรคมาก โดยเฉพาะ “การก่อสร้าง”สุดหินเพราะอิงคุณภาพ การส่งมอบตรงเวลา สารพัด แต่เมื่อตกผลึกว่าปัญหาคืออะไรก็หาทางแก้ไข และยอมจ่ายแพง! เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า 

การทำธุรกิจปีแรกโหดสุด เพราะโครงการแรกทุกอย่างยากหมด การก่อสร้าง เปลี่ยนใบอนุญาติ ทำตลาดฯลฯมันเป็นสเต็ปที่ต้องเรียนรู้ มีปัจจัยที่ไม่ทราบเยอะ

"ผมเชื่อว่าเมื่อมีเป้าหมายต้องไปให้ได้ ระหว่างทางก็แก้ปัญหา สุดท้ายคนที่ประสบความสำเร็จต้องแก้ปัญหาได้ และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคหลายคนไปไม่ถึงเป้าหมายเพราะยอมแพ้เสียก่อน ผมเชื่อว่าจะสำเร็จวันแรกคงไม่ได้เดินถนนแล้วเจอเลย หากเดินซ้ายตันก็เปลี่ยนมาทางขวา เดินไปขวาตัน ก็เดินไปตรงกลาง”

ส่วนเป้าหมายสูงสุดการสวมบทบริหาร ชนินทร์คาดหวังให้ “สนุกกับการทำงาน” ซึ่งทุกวันนี้สามารถนั่งคิดงาาน7 วัน 24 ชั่วโมง โดยไม่เหนื่อย 

“เป็นสิ่งที่สนุก บางคนขับเคลื่อนสู่เป้าหมายเรื่องเงิน แต่ของผมเป้าหมายทำงานแล้วสนุก งานออกมาดี โปรดักท์ขายดี ลูกค้ามีความสุข”