ปลดวังวนวิกฤติ ทองม้วน “เวอร์จิ้น โคโค่”

ปลดวังวนวิกฤติ ทองม้วน “เวอร์จิ้น โคโค่”

พัฒนาธุรกิจ“ทองม้วน”แตกไลน์สินค้านับร้อยเอสเคยู กวาดรางวัลนวัตกรรมดีเด่นมานับไม่ถ้วน ทว่า 19 ปีของถนนธุรกิจ “เวอร์จิ้น โคโค่” กลับหนีไม่พ้นสารพัดบ่วงรุมเร้า  จึงต้องปรับแผนธุรกิจ-การตลาดครั้งใหญ่ หันหัวเรือสู่ตลาดในประเทศ

ชื่อของ ปราโมทย์ ไชยอุฬาร กรรมการผู้จัดการบริษัทเวอร์จิ้น เอฟ แอนด์ บี จำกัด อาจยังไม่เป็นที่รู้จักเท่ากับแบรนด์ ทองม้วน เวอร์จิ้น โคโค่” (Virgin Coco)ขนมทองม้วนแป้งหนาไม่หัก พลิกแพลงหลากหลายรสชาติ ขนมหวานต้นตำรับไทยสไตล์พรีเมี่ยม ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมักซื้อติดมือกลับไปเป็นของฝาก

ธุรกิจของปราโมทย์เริ่มต้นจากกิจการเล็กๆ ทำกันเองกับภรรยาเมื่อปี 2546 ขายทองม้วนต้นสูตรต้นตำรับ แต่มีดีตรงนวัตกรรมเก็บไว้ได้นานกว่า 1 ปี ไม่แตกหักง่าย ทำให้สามารถแจ้งเกิดสินค้าในซอยละลายทรัพย์ ย่านสีลม ได้ไม่ยาก

ในปีต่อมาสินค้าเวอร์จิ้น โคโค่ ยังขึ้นห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง ตามมาด้วยการขึ้นเชลฟ์ดิวตี้ฟรี คิงเพาเวอร์ ในสนามบินสุวรรณภูมิ และซอยรางน้ำ

ปราโมทย์ ยังไม่หยุดคิดต่อยอดทองม้วนนวัตกรรมด้วยการ มิกซ์แอนด์แมทกับส่วนผสมอาหารไทย และช็อกโกแลต ผลไม้ต่างๆ ทำให้สินค้าภายในร่มเงาของ “เวอร์จิ้น โคโค่” ในปัจจุบันแตกตัวไปถึง 300 เอสเคยู แยกเป็น 5 ประเภท คือ โคโค่ โรล (ทองม้วนหลากหลายรส) 2.โคโค่ คัพ ทองม้วนป่นผสมช็อกโกแลต 3.โคโค่ เวเฟอร์ ทองม้วนแผ่น 4.ผลไม้ชุบช็อกโกแลต และผลไม้อบแห้ง และล่าสุด คือ ไอศกรีมผลไม้หลากหลายชนิด ที่เริ่มเปิดตัวในปีนี้ รวมไปถึงสินค้าออร์แกนิก

“เร็วๆ นี้กำลังจะมีสินค้าเกี่ยวกับออร์แกนิกมาเปิดตลาดกลุ่มคนรักสุขภาพ ซึ่งอยู่ระหว่างทำวิจัยและพัฒนา (R&D)” เจ้าตัวเผย

ปัจจุบันทองม้วน "เวอร์จิ้น โคโค่” ยังมีตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ เกือบ 20 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย ไต้หวัน สวิตเซอร์แลนด์ ฯลฯ

 “ผมเริ่มธุรกิจจากการขายทองม้วน ในซอยละลายทรัพย์ขับรถส่งของเอง ก่อนสินค้าจะขึ้นห้างฯ เราเปิดตลาดด้วยกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ลูกค้าหลักของธุรกิจคือต่างประเทศตั้งแต่นั้นมา”

ด้านสินค้าและผลิตภัณฑ์ อย่างที่บอกเขาไม่หยุดคิดจึงคลอดสินค้าแตกไลน์โปรดักส์ใหม่ที่มีนวัตกรรมตลอดเวลา การันตีจากไปคว้ารางวัลผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง อาทิ ปี 2547 ได้รับรางวัลแชมป์เปี้ยนโอท็อป 5 ดาว , รางวัลผู้ส่งออกดีเด่น หรือ ไพรม์ มินิสเตอร์ เอ็กซ์ปอร์ต อวอร์ดในปี 2552

ทว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเวอร์จิ้น โคโค่ กลับเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตั้งแต่ ปัญหาการเมืองในไทย ไข้หวัดนก ที่ล้วนสะเทือนตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้นักท่องเที่ยวขึ้นๆ ลงๆ จนทำให้ธุรกิจต้องเพิ่มทุนมาดำเนินธุรกิจอยู่หลายรอบ

วิกฤติในรอบ10ปีที่่ผ่านมา ทำให้รายได้เราไม่เติบโตจะยืนอยู่ที่ปีละ 120-160 ล้านบาทมาตลอด หรือบางช่วงแม้ยอดขายจะขึ้น แต่เราก็ต้องนำเงินส่วนนี้มาลงทุนใหม่ เพื่อเพิ่มยอดขาย กำไรที่ได้จึงหมดไปการลงทุนเพื่อขยายผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อบูทยอดขาย เขาเล่า

กลายเป็นคำตอบที่ว่า หลายปีที่ผ่านมา ทำไมยอดขายจึงไม่มีทางทะยานไปไกลกว่า 100 ล้านบาท สักที !

ผมก็งงกับชีวิตเพราะเจอวัฎจักรนี้มาตลอด พอมีกำไร แล้วเจอวิกฤติขาดทุนวนอยู่เช่นนี้ตลอด 10 ปีเราจึงเพิ่มโปรดักท์เพื่อเพิ่มยอดขายมาตลอด" 

อีกหนทางรอดของธุรกิจคือ “การกู้เงิน” เพื่อนำไปลงทุนให้สินค้าจึงมีหลากหลายเอสเคยู เป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่ต้องการหาความแตกต่าง เบื่อความจำเจ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ในปีนี้บริษัทจึงมองหา "ผู้ร่วมทุนใหม่" เข้ามาแก้ปัญหาการขาดทุนจากการเพิ่มทุน เพื่อขยายสินค้าตลอดเวลา

โดยเฉพาะการร่วมทุนกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ตามนโยบายของธนาคารที่จะร่วมทุนกับกิจการที่มีโอกาสเติบโต โดยเอสเอ็มอีแบงก์ถือหุ้นในเวอร์จิ้นฯสัดส่วนหุ้นประมาณ 18 % เป็นปลดล็อคปัญหาคาราคาซังมานานกว่า 10 ปีให้เบาบาง

ช่วงนี้เป็นช่วงระดมทุน นอกจากมีเอสเอ็มอีแบงก์ ยังมีพาร์ทเนอร์ที่สนใจเข้ามาร่วมทุนอีก เพื่อให้กิจการไต่ระดับขึ้นไปได้

ปีนี้เขาจึงวางแผนเติบโตก้าวกระโดดครั้ง หลังจากมีทุนใหม่โดยสร้างโรงงานใหม่ที่มีระบบการวิจัยและพัฒนา(R&D)มูลค่า 60 ล้าน ปรับโครงสร้างธุรกิจ พร้อมกับปรับแผนการตลาด เปลี่ยนเป้าหมาย จากเดิมพึ่งพิงตลาดต่างประเทศมากถึง 70% ก็หันมาหาตลาดในประเทศมากขึ้น เพื่อบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจ

หลังบ้านและอาร์แอนด์ดีสินค้า พร้อมโตแล้ว แต่มีปัญหาเรื่องการพัฒนาตลาดเพราะเราพึ่งพิงตลาดต่างประเทศมากไป เมื่อท่องเที่ยวเจอวิกฤติต่างๆเราก็โดนเต็มๆ เพราะนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มคนที่อ่อนไหว เราก็จะปรับแผนตลาดใหม่

เขายังหวังว่า ทุนใหม่ที่เข้ามาจะทำให้ธุรกิจเติบโตก้าวกระโดด โดยในปีนี้คาดว่าจะมียอดขายมูลค่า 200 ล้านบาท และคาดว่ายอดขายจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยวางเป้าหมายยอดขายไว้ที่ 500 ล้านบาท

สิ่งที่ทำให้เขามั่นใจกับการลงทุนครั้งนี้ เพราะมีคำสั่งซื้อใหม่จากตลาดจีน เกาหลี รวมถึงสหรัฐอเมริกา มีพันธมิตรเข้าเจรจานำเข้าเพื่อเข้าไปปักธงในห้างใหญ่ อย่างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่อย่าง คอสโก้ (Cosco) วอล-มาร์ท (Wal-Mart) และลอตเต้ (Lotte)

รวมถึงมีโอกาสลุยขยายช่องทางการจำหน่ายในประเทศได้อีกหลายช่องทาง ทั้งโมเดิร์นเทรด และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ที่ยังต้องการทองม้วนพรีเมี่ยม โดยเฉพาะการสร้างโอกาสใหม่ด้วยโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ คาเฟ่ต์ ขนมหวาน ชื่อ EK (Elephant King) ที่สื่อถึงต้นกำเนิดความเป็นไทย ที่ทำให้แบรนด์แข็งแกร่งพร้อมลุยต่างประเทศอีกครา

แก้โจทย์จุดอ่อนที่พึ่งพิงหน้าร้านคนอื่นมาสู่การมีหน้าร้านของตัวเอง

 “หน้าร้านเป็นสิ่งที่ทำให้แบรนด์แข็งแกร่ง และมีช่องทางการเข้าถึงลูกค้าตอกย้ำอัตลักษณ์ของแบรนด์ให้คนได้ชัดขึ้น”

------------------

Key to Success 

กลับหัวเรือตอกย้ำแบรนด์ขนมไทย

-พลิกขนมต้นตำรับไทยให้ร่วมสมัย

-ค้นนวัตกรรมขนมไทยไม่แตกหัก เก็บได้นาน

-ไม่หยุดคิด มิกซ์แอนด์แมทสูตรใหม่ตลอดเวลา

-วางตัวเองชัดเจนเป็นขนมพรีเมี่ยม

-ผู้ร่วมทุนใหม่แก้วิกฤติ

-สร้างแบรนด์หน้าร้านแฟรนไชส์ และโมเดิร์นเทรด