เปิดห้องเรียนชุมชนไทย ส่ง SDGs สู่มือเยาวชนโลก

เปิดห้องเรียนชุมชนไทย ส่ง SDGs สู่มือเยาวชนโลก

แม้ยูเอ็นจะประกาศเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน (SDGs) 17 ข้อตั้งแต่ปี 2015 ทว่า เรื่องนี้ยังจำกัดวงแค่ระดับนโยบาย

เยาวชนจึงเป็นกุญแจสำคัญ ในการส่งต่อความเข้าใจ คิด ลงมือทำ ออกแบบโมเดลจากการคลุกคลีใช้ชีวิตกับชุมชน ประสบการณ์เลอค่า ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ ลุกขึ้นมากำหนดชะตาโลกสู่ความยั่งยืน

อย่างที่รู้กันดีว่า ในปี 2015 องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ประกาศเป้าหมายแห่งการพัฒนายั่งยืน (SDGs-Sustainable Development Goals) 17 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขจัดความยากจน 2.ขจัดความหิวโหย 3.การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 4.การศึกษาเท่าเทียม 5.ความเท่าเทียมทางเพศ 6.การจัดการน้ำและสุขาภิบาล 7.พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ 

8.การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ 9.อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน 10.ลดความเหลื่อมล้ำ 11.เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน 12.แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน 13.การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 14.การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล 15.การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก 16.สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก และ 17.ความร่วมมือการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยทั้ง 17 หัวข้อได้ลงนามความร่วมมือขับเคลื่อนโลกจากภาครัฐ ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง 

ทว่า สำหรับภาค“การศึกษาและเยาวชนคนรุ่นใหม่” ยังถูกพูดถึงและมีบทบาทในเรื่องเหล่านี้ค่อนข้างน้อย จึงเป็นที่มาของโครงการ APYE- Asia Pacific Youth Exchange โครงการที่จัดขึ้นเพื่อให้เยาวชนจากเอเชียแปซิฟิกได้เรียนรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development ซึ่งเริ่มจัดตั้งแต่ปี 2558 ในประเทศฟิลิปปินส์ และขยายมาสู่ประเทศไทยที่เริ่มจัดตั้งแต่ปี 2559

ณิชกานต์ ธรมรัช ผู้จัดการโครงการ APYE ในไทย เล่าว่า องค์กรแห่งนี้มีภารกิจในการส่งต่อความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องของ 17 ข้อ แห่งการพัฒนายั่งยืน(SDGs) ลงไปสู่เยาวชน ซึ่งน้องๆ คนรุ่นใหม่ที่อายุระหว่าง 18-30 ปี ถือเป็นพลังคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต การปลูกฝั่งสร้างความเข้าใจ สร้างเครือข่ายให้เยาวชนเข้าไปศึกษาจากประสบการณ์การทำงานและการใช้ชีวิตอยู่กับชุมชน จึงเป็นการส่งต่อทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่องความยั่งยืน ที่ไม่ใช่แค่ภาพฝันโลกสวย หรือมีอยู่แค่ในตำรา

ทว่า ทฤษฎีจะต้องถูกแปลงเป็นเป้าหมายที่ปฏิบัติได้จริง เริ่มจากการสร้างความเข้าใจ และสร้างการตระหนักรู้ให้เยาวชนได้เชื่อมโยงSDGs ให้เป็นเรื่องใกล้ตัว ที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา พวกเขาจะต้องลุกขึ้นมากู้โลก โดยการออกแบบโมเดลการพัฒนาที่เป็นนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) ด้วยมือของพวกเขา รู้จักใช้ความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดโมเดลการพัฒนาใหม่ๆ ที่ดีงามให้โลกในยุคหน้า

หลังจากยูเอ็นประกาศ SDGs ก็ยังถูกพูดถึงแค่ในระดับนโยบายฝ่ายบริหารเท่านั้น ทางยูเอ็นจึงอยากผลักดันไปสู่เยาวชนให้มีบทบาทกับเรื่องนี้

สำหรับการจัดการในไทย ได้มีการจัดกิจกรรม ระหว่างวันที่ 17-30 ก.ค. 2560 ประกอบด้วย การจัดฟอรัมสัมมนาให้ข้อมูลเรื่อง SDGs  การจัดอบรมเรียนรู้กรณีศึกษาจากผู้ประกอบการด้านโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ 15 ราย รวมไปถึงการให้เยาวชนจากชาติต่างๆลงพื้นที่ไปใช้ชีวิตอยู่กับชุมชน 6 วัน เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตและช่วยกันคิดออกแบบ แนวทางที่จะสร้างนวัตกรรมชุมชนยั่งยืนร่วมกับผู้นำชุมชน

เยาวชน 170 คนจาก 20 ประเทศในแถบเอเชีย จะกระจายทีมกันเข้าไปใช้ชีวิตในชุมชน 5 พื้นที่ซึ่งเป็นตัวแทนสังคมไทยที่มีภูมิหลัง ลักษณะพื้นที่ ปัญหาและความพร้อมแตกต่างกัน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา ถอดรหัสความยั่งยืนให้ตรงตามเป้าหมายของยูเอ็นในมิติที่แตกต่างกัน

น้องๆ เยาวชนที่กำลังมีไฟอยากทำสิ่งดีๆเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ได้โชว์ฝีมือขับเคลื่อนชุมชนจากการประยุกต์ปัญหาและความต้องการจาก 17 ข้อSDGs ให้ตรงกับโจทย์ของแต่ละชุมชน ได้แก่

1.ชุมชน กุฎีจีน ย่านคลองสาน ชุมชนเก่าแก่ ที่ถือเป็นย่านวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่มีความหลากหลายเชื้อชาติ สถาปัตยกรรม อดีตมีฝรั่งเข้ามาตั้งรกรากสมัยสงคราม ได้ชื่อว่าเป็นย่านความเชื่อทางศาสนา มีทั้งโบสต์ซาตาครู้ส และวัดอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน

เยาวชนกลุ่มที่ลงพื้นที่นี้แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ ตรงที่ไม่ได้พักอาศัยกับชุมชน แต่ได้อาศัยอยู่ที่วัดประยูรวงศาวาส ทุกๆ วันก็ลงพื้นที่ไปคุยกับชุมชนละแวกนั้น โดยโฟกัสที่เรื่องเศรษฐกิจ ความยั่งยืนของสังคมเมือง โครงสร้างพื้นฐานของการวางผังเมือง

2.หมู่บ้านเสรีพัฒนาการ ย่านพัฒนาการ เป็นชุมชนเมืองที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย และวิถีชีวิตของคนเมือง ที่มีรูปแบบปัญหาในแบบคนเมือง สิ่งที่ต้องเติมเต็มเรื่องน้ำ การบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ และการพัฒนาการศึกษาอย่างทั่วถึง

3.ชุมชนบางน้ำผึ้ง จ.สมุทรปราการ อดีตชุมชนที่เคยทำเกษตรกรรม แต่มีปัญหาเรื่องน้ำกร่อย จึงเลิกและหันมาพัฒนาเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีตลาดน้ำ คนบางส่วนในชุมชนออกไปทำงานในเมืองแล้วกลับเข้ามาในพื้นที่ ตลาดน้ำจึงเสมือนเป็นกิจกรรมประจำชุมชนที่ทำร่วมกัน

ชุมชนแห่งนี้ต้องการเข้าไปออกแบบปัญหาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ภาวะโลกร้อน และระบบนิเวศน์

4.ชุมชนหนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ชุมชนเกษตรกรรม เป็นชุมชนที่กำลังเรียนรู้การรวมกลุ่มในท้องถิ่นจัดการตนเอง มีการพัฒนาเป็น “ชุมชนเข้มแข็งและอยู่ดีมีสุข” มีรูปแบบวิสาหกิจชุมชน ที่ยกระดับสู่การเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9

5.ชุมชนคลองใหญ่ จ.ตราด เป็นพื้นที่ติดกับชายแดนกัมพูชา จึงมีคนต่างด้าวอาศัยอยู่จำนวนมาก เด็กหลายคนเกิดขึ้นจากที่นี่แต่ไม่มีบัตรประชาชนจึงขาดโอกาสในการเรียน พื้นที่ยังติดกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ระยอง ซึ่งได้รับผลกระทบด้านการประมง จึงต้องเข้าไปบริหารจัดการความไม่เท่าเทียมของการพัฒนา ลดความเหลื่อมล้ำ การประมง

เยาวชนจะได้เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างสรรค์โมเดลนวัตกรรมเพื่อสังคม ซึ่งได้จากการลงพื้นที่ พูดคุยกับชุมชน ผู้นำชุมชนและเยาวชนในพื้นที่ มาเรียนรู้ร่วมกัน แล้วนำโมเดลที่ได้กลับไปนำเสนอที่ยูเอ็นในวันสุดท้ายอีกรอบ

สิ่งที่ได้หลังจากอบรม เริ่มต้นจากชุมชน เป็นการส่งต่อการทำงานร่วมกันของคนรุ่นใหม่ เยาวชนต่างชาติที่เข้ามาทำงานร่วมกับเยาวชนในพื้นที่ คนในพื้นที่ทีมีแรงบันดาลใจ และมีไฟที่อยากจะพัฒนาบ้านเกิดให้มีความยั่งยืนก็ต้องสานต่อ

เช่นเดียวกับเยาวชนต่างชาติที่เข้ามาในเมืองไทย ก็นำโมเดลแบบแผนของการพัฒนายั่งยืนนี้กลับไปปลุกการทำงานในบ้านเมืองของตัวเอง โดยเฉพาะ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักการพัฒนายั่งยืนที่ตอบโจทย์หลักการของยูเอ็นในหลายข้อ จะเป็นปรัชญาการเรียนรู้ของไทยที่กระจายต่อให้กับต่างประเทศทั่วโลก เข้าใจวิถีการพัฒนายั่งยืนในแบบไทยที่เป็นองค์ความรู้แบบไทยได้ช่วยกอบกู้โลกให้น่าอยู่

แรงบันดาลใจที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้จากพื้นที่ ได้เห็นภาพจริง ส่วนใหญ่ต่างชาติ จะประทับใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่คนไทยทำอยู่แล้ว เพราะมีพื้นฐานเชื่อมโยงกับSDGs หลายด้าน

ที่สำคัญที่สุดเยาวชนที่ได้เข้าร่วมโครงการที่ปัจจุบันมีแล้วกว่า 4-5 ครั้ง เกือบ 1,000 คนเป็นเครือข่ายเยาวชนที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนSDGs เพื่อโลกที่ยั่งยืน ประกอบด้วย สมดุลเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อพวกเขาเติบโตไปเป็นผู้บริหารองค์กร หรือมีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคม

เครือข่ายเยาวชน ช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนSDGsในระดับคนคนทั่วไป พวกเขาคือผู้นำในอนาคต ที่มีพลังการเปลี่ยนแปลง ลงมือทำเพื่อโลกได้โดยที่รู้สึกได้เองว่าพวกเขาต้องทำเพราะมันเกี่ยวข้องกับตัวเขา แทนรอการรอระดับนโยบายขับเคลื่อน

โดยโมเดลที่จะทำให้เรื่องเหล่านี้ส่งต่อไปได้อย่างยั่งยืนมีการต่อยอด คือการหา พันธมิตรทำงานเพื่อสานต่อในแต่ละเรื่องต่อไป ซึ่งชุมชน กุฎีจีน ได้พันธมิตร คือศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง  (UddC -Urban Design and Development Center) ส่วนชุมชน หมู่บ้านเสรี ทำงานร่วมกันกับโรงเรียน สุวิทย์เสรีอนุสรณ์ , ชุมชนบางน้ำผึ้ง ทำงานกับอบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) , ชุมชนหนองสาหร่าย ทำงานกับอบต. และชุมชน คลองบางใหญ่ พันธมิตรคือ สายการบินบางกอก แอร์เวย์ส ซึ่งพันธมิตรเหล่านี้ถือว่ามีบทบาทสำคัญที่จะขับเคลื่อนความยั่งยืนต่อไป