โอเพ่น อินโนเวชั่น@มิตรผล

โอเพ่น อินโนเวชั่น@มิตรผล

มิตรผลจะเป็นผู้นำในธุรกิจน้ำตาลและ Bio Based โดยใช้นวัตกรรมและการจัดการ

ในช่วงครึ่งแรกของปีมีองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ขับเคลื่อนด้านนวัตกรรมกันอย่างคึกคัก แตกต่างกันบ้างตามภารกิจและวิสัยทัศน์ของแต่ละองค์กร  อย่างเช่น เอสซีจี ที่วันนี้รุกไปอีกขั้นกับบทบาทของ CVC (Corporate venture capital) ในชื่อ Adventures ขณะที่ผู้เล่นรายใหญ่ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่รุดหน้าไปแล้วก่อนหน้านี้

ล่าสุด มิตรผล ผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาล และชีวพลังงานมายาวนานกว่า 60 ปีก็ประกาศเดินหน้ายุทธศาสตร์ Bio-Economy พร้อมสนับสนุนสตาร์ทอัพด้าน Bio-Based ครั้งแรกในไทยด้วยเช่นกัน

เรียกว๋าเป็น Open Innovation ครั้งสำคัญของ 'มิตรผล"

ที่ผ่านมา เป็นเวลากว่า 60 ปีที่กลุ่มมิตรผลขับเคลื่อนธุรกิจอ้อย น้ำตาลและชีวพลังงาน ด้วยกลยุทธ์ Value Creation นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาบริหารจัดการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มพืชเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ 

เริ่มตั้งแต่เพิ่มผลผลิตวัตถุดิบต้นน้ำด้วยเกษตรกรรมสมัยใหม่แบบ “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” จนถึงเพิ่มมูลค่าให้ของเหลือทิ้ง ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน เช่น นำชานอ้อยมาผลิตเชื้อเพลิงไฟฟ้าชีวมวล นำกากน้ำตาล (โมลาส) มาหมักผลิตเอทานอลผสมกน้ำมันเบนซินเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือ กากหม้อกรองที่เหลือจากการผลิตเอทานอลมาพัฒนาเป็นสารปรับปรุงดินกลับไปใช้ในไร่อ้อย 

และธุรกิจ Bio-Based ที่ต่อยอดส่วนที่เหลือจากกระบวนการผลิตอ้อยให้เป็นพลาสติกชีวภาพ อาหารเสริม เป็นต้น 

“เราทำมา 3 ปีแล้ว เรื่อง Bio Based และนับต่อจากนี้จะโฟกัส Bio Based ให้มากขึ้นกว่าเดิม” ประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มมิตรผล กล่าวและว่า ภาพที่จะเห็นได้มากขึ้นของ ‘มิตรผล’ นับจากนี้คือ สเต็ปก้าวที่ลึกกว่าเดิมในเรื่องของ Bio Based

จากเดิมที่การสร้างนวัตกรรมทำได้ใน 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่ นวัตกรรมที่เกิดจากทีมงานภายในผ่านหน่วยงานวิจัยที่พัฒนาขึ้นมาทำทางด้านนี้โดยเฉพาะเพื่อสร้าง Value  ให้กับเกถัดมา การได้มาซึ่งนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นเรื่องของการ “ซื้อ” ซึ่งก็มีให้เห็น ยกตัวอย่างจากการซื้อธุรกิจในสหรัฐอเมริกา

และสุดท้ายการสร้างนว้ัตกรรมแบบเปิด หรือ Open Innovation Platform ที่เริ่มต้นไปแล้วกับโปรเจ็คไปแล้วในปีที่ผ่านมา กับโครงการ นวัตกรรมความคิด พลิกชีวิตสู่อนาคต

(Mitr Phol Bio Innovator Awards 2016)

โดยทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมคุณหมออ้อย มาจากคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน สร้างผลงานนวัตกรรมที่ Gen-treat แผ่นพลาสเตอร์ปิดแผลจากเซลลูโลสอ้อย ส่วนทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นของทีมสาวน้อยอ้อยควั่น จาก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กับผลงานถ่านแม่เหล็กบำบัดน้ำเสียจากอ้อย ขณะที่ ทีมชนะเลิศอันดับ 2 เป็นของทีม Aloe Patch จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ที่คิดค้นแผ่นปิดแผลชนิดล้างออกได้จากว่านหางจระเข้และใบบัวบก

“จากเวทีที่เปิดให้นักเรียนได้มานำเสนอไอเดียดังกล่าวก็ได้จุดประกาย และทำให้เห็นว่าเด็กๆ เก่งและมีไอเดียที่สามารถนำไปต่อยอดได้”   

ทำให้ในปีนี้ “มิตรผล”โฟกัสถึงการเปิดรับไอเดียและนวัตกรรมจากภายนอกองค์กรมากขึ้น โดยให้น้ำหนักกับการสนับสนุน ร่วมลงทุน และผลักดันสตาร์ทอัพ ที่มีแนวคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมด้าน Bio-Based ใน 5 สาขา คือ Bio-Based Chemicals, Bio-Based Material, Bio-Fertilizer, Food for the Future และ Feed for the Future  

ซึ่งในปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่ “มิตรผล” เข้าร่วมในงาน Techsauce Global Summit 2017 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 กรกฏาคม 2560 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอทเซ็นทรัลเวิลด์ 

“ในงานจะมีผู้เชี่ยวชาญและประสบการณ์ในอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาล และชีวพลังงานกว่า 60 ปี มาพูดให้ฟังว่ามิตรผลทำอะไรบ้าง พร้อมกับ กับเปิดเวที Private Pitching Stage ให้สตาร์ทอัพทั้งไทยและต่างประเทศร่วมเสนอไอเดียใน 5 สาขาด้าน Bio Based” 

ประวิทย์ กล่าวว่า ธุรกิจด้าน Bio-Based มีความเชื่อมโยงกับธุรกิจหลักของกลุ่มมิตรผล ทั้งการส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพ การลดต้นทุนในการทำงาน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจพลังงานชีวภาพ รวมถึงสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ จากนวัตกรรมบริการที่สามารถนำไปขายให้กับผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานชีวภาพรายอื่น หรือแม้แต่กับธุรกิจอื่น ๆ เกิดเป็นช่องทางรายได้ใหม่ที่จะผลักดันวงจรการเติบโตแบบก้าวกระโดดครั้งใหม่ เป็น New S-Curve

การขับเคลื่อนในครั้งนี้ ประวิทย์ บอกเป็นเพียงก้าวแรกๆ ของการทำงานร่วมกับผู้สร้างนวัตกรรมจากภายนอกองค์กร 

สิ่งสำคัญ คือการมองหาความแปลกใหม่จากนักพัฒนาเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ เนื่องจากมองว่า Open Innovation เป็นเรื่องที่บริษัทใหญ่ต้องการมองหาโปรดักท์ที่ High Value

ที่ผ่านมา ได้เห็นกระแสการตื่นตัวจากทั่วโลกใน Startup สาย Bio-Based ทีให้ความสำคัญและลงมือทำเรื่องนี้ในประเทศ จีน ไต้หวัน และสิงคโปร์  ที่ได้มีการวิจัย คิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อต่อยอดคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่พืชทางการเกษตร และต่อยอดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จนเกิดเป็น Bio-Economy

แม้วันนี้ “มิตรผล” จะยังไม่มองไกลถึงการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะอย่างเช่น CVC ซึ่ง ประวิทย์ บอกเป็นเพียงการศึกษาเท่านั้น แต่ในภาพใหญ่ทุกก้าวจะเดินไปแบบค่อยเป็นค่อยไป เน้นการเปิดกว้างเพื่อเรียนรู้ และเดินไปด้วยกันระหว่าง “มิตรผล” กับ “สตาร์ทอัพ”   

การสนับสนุนจะเกิดใน 4 ด้านหลัก คือ Research-Investment-Partnership-Operation Enhancement

Research มุ่งวิจัยที่สามารถผลักดันให้ผลิตภัณฑ์เกิดขึ้นได้จริงและสามารถนำมาช่วยในการวางโร้ดแม็พในการทำธุรกิจ โดย “มิตรผล” มีห้องแล็ป ที่ชื่อ “ศูนย์นวัตกรรมและการวิจัย” ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานให้กับสตาร์ทอัพ

Investment หัวใจสำคัญในการลงทุนด้าน Bio-Based คือการวางเงินลงทุนที่เหมาะสม ในแต่ละช่วงเวลาของธุรกิจ รวมถึงการลงทุนซ้ำเมื่อธุรกิจเติบโตได้ดี

Partnership การสร้างพันธมิตรที่จะร่วมพัฒนาไปด้วยกัน โดยจะมีการส่งเสริมด้านความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การตลาด รวมถึงประสบการณ์ในการทำธุรกิจ ตั้งแต่การนำผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง (Prototype) ไปทดลองกับกลุ่มลูกค้าจริง รวมทั้งการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด

Operation Enhancement รูปแบบการบริหารจัดการที่สตาร์ทอัพสามารถเรียนรู้และนำไปต่อยอด ตัวอย่างเช่น ZERO Waste Model 

“ผมว่าการทำงานทุกอย่างไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ในช่วงเวลาเริ่มต้นนี้นับว่าเป็นการเรียนรู้  ลองผิดลองถูก โดยเชื่อว่า หากโยนโจทย์ที่ถูกต้องไปให้กับบรรดาสตาร์ทอัพที่เก่งๆ ได้คิด จะทำให้ได้ห็นสิ่งที่พอจะเป็นไปได้แล้วต่อยอดให้เกิดขึ้นได้จริง

เพื่อที่สุดแล้ว มิตรผล จะเป็นผู้นำในธุรกิจน้ำตาลและ Bio Based โดยใช้นวัตกรรมและการจัดการ” ประวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย