"ฟิตเนสฝึกสมอง" ชะลอสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ 

"ฟิตเนสฝึกสมอง" ชะลอสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ 

“สำหรับฝึกสมองผู้สูงอายุ” ไอเดียน่าสนใจอย่างยิ่งที่จะช่วยชะลอการเกิดโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ฝึกสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดกิจกรรมกระตุ้นสมรรถภาพสมองทั้งทางตรง และทางอ้อมเนื่องจากหน้าที่ของสมองมีความซับซ้อนมาก

จากความเข้าใจของหลายๆ ท่าน โรคสมองเสื่อมกับการก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุนั้นอาจดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่มาคู่กัน จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าสำหรับการป้องกันโรคนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเสี่ยงบางประการที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคสมองเสื่อมเร็วกว่าวัยนั้น สามารถป้องกันหรือชะลอระยะเวลาการเกิดอาการดังกล่าวได้ “ฟิตเนสสำหรับฝึกสมองผู้สูงอายุ” จึงเป็นไอเดียที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่จะช่วยชะลอการเกิดโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ

ผศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย หัวหน้าศูนย์ฝึกสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ผู้สูงอายุที่เกษียณจากการทำงานแล้วอยู่ติดบ้าน ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ก็จะเกิดอาการเฉาหรือซึมเศร้า และหลงลืมได้ง่าย ทั้งนี้กลุ่มอาการสมองเสื่อม ก็คือการเสื่อมถอยของการรู้คิด (Cognition) ซึ่งเป็นกระบวนการของสมองที่จะรับรู้ จัดการข้อมูล และตอบสนองต่อข้อมูลนั้นได้อย่างเหมาะสม สำหรับ “ภาวะสมองเสื่อม” และโรคสมองเสื่อม” นั้นมีสาเหตุที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ผู้สูงอายุที่เป็นโรคภูมิแพ้ เมื่อรับประทานยาแก้แพ้บางชนิด ก็อาจเกิดผลข้างเคียงจากตัวยาที่มีฤทธิ์ทำให้ประสิทธิภาพในการจดจำลดลง แต่หากหยุดรับประทานยา ภาวะสมองเสื่อมก็จะหายไป แต่สำหรับกลุ่มโรคสมองเสื่อมนั้นมักจะเกิดจากความชรา หรือความเสื่อมถอยของระบบประสาท ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ รองลงมาคือ โรคหลอดเลือดสมอง

Cognitive Fitness Center หรือ ฟิตเนสฝึกสมองผู้สูงอายุ ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ฝึกสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เกิดจากการทำงานร่วมกันของจิตแพทย์ และประสาทแพทย์ ด้วยยุทธศาสตร์เชิงป้องกัน โดยให้การดูแลกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมในอนาคต ผู้เข้ามารับบริการจึงมี 2 กลุ่มใหญ่ คือผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปี ขึ้นไป ซึ่งยังไม่ได้เป็นโรคสมองเสื่อม สามารถเดินทางไปกลับเองได้ ไม่ต้องมีผู้ดูแล เพราะการมาทำกิจกรรมต่างๆ นอกสถานที่เช่นนี้ อาจจะเกิดความเสี่ยงในการหกล้ม การหลงทาง หรือหายออกจากบ้านไป และกลุ่มที่เริ่มมีความเสี่ยงแต่ยังไม่เป็นโรคสมองเสื่อม ซึ่งเป็นการรู้คิดหรือสมรรถภาพสมองเสื่อมเล็กน้อย ในทางการแพทย์เราเรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่มผู้ป่วย Mild Cognitive Impairment หรือ MCI

สำหรับกิจกรรมแต่ละวันที่ให้บริการจะแบ่งออกเป็นช่วงเช้า 2 กิจกรรม เริ่มตั้งแต่เวลา 9.00 น. ช่วงบ่าย 1 กิจกรรม กิจกรรมละ 1 ชั่วโมง ซึ่งจะเสร็จสิ้นในเวลา 14.00 น. ดังนั้นในหนึ่งสัปดาห์จะมีทั้งสิ้น 15 กิจกรรมที่ไม่ซ้ำกัน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นสมรรถภาพสมองทั้งทางตรง และทางอ้อมเนื่องจากหน้าที่ของสมองมีความซับซ้อนมาก ดังนั้นการฝึกสมองจึงไม่ได้ฝึกเรื่องความจำเท่านั้น แต่กิจกรรมต่างๆ ยังต้องช่วยในการฝึกสมาธิ ฝึกการรับรู้ ฝึกการคิด การวางแผนการตัดสินใจ รวมไปถึงการเข้าสังคมด้วย ตัวอย่างกิจกรรมเช่น ดนตรีบำบัด การฝึกร้องเพลง งานศิลปะ การออกกำลังกาย การฝึกโยคะหรือชี่กง เป็นต้น อีกทั้งกิจกรรมแบบกลุ่มได้แก่ Creative Movement Therapy เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มคนทำละครเวทีที่เข้ามาช่วยออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีกิจกรรมที่หลากหลาย ผู้สูงอายุสามารถเลือกกิจกรรมที่จะเข้าร่วมตามความชอบได้ด้วย

อีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ นั่นก็คือ Movie Club หรือโครงการภาพยนต์เพื่อผู้สูงอายุ ฉายภาพยนตร์เดือนละ 1 เรื่อง เมื่อผู้สูงอายุมาชมภาพยนตร์นอกจากจะได้รับความบันเทิงและข้อคิดกลับบ้านไปแล้ว สำคัญคือกิจกรรมนี้ทำให้ได้ออกจากบ้านมาเจอเพื่อนเหมือนสมัยวัยรุ่น ที่เคยชวนไปดูหนัง ดังนั้นการฉายภาพยนต์จึงเปรียบเสมือนการนัดพบกันอย่างหนึ่ง

สำหรับเรื่องอาหารการกินที่หลายๆ ท่านพยายามหายาอายุวัฒนะขนานต่างๆ มารับประทาน เพื่อชะลอการเสื่อมของระบบการทำงานของสมองนั้น การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม ลดอาหารจำพวกไขมัน และอาหารรสจัด รวมถึงการเสริมสร้างโปรตีนให้กับร่างกาย ก็เรียกได้ว่าเป็นการบำรุงสมองเช่นกัน