รัฐดัน 'โครงการห้องเรียนอาชีพ' จบแล้วหางานทำที่บ้านเกิด

รัฐดัน 'โครงการห้องเรียนอาชีพ' จบแล้วหางานทำที่บ้านเกิด

รัฐบาล คสช. ดัน "โครงการห้องเรียนอาชีพ" หวังเด็กเรียนจบแล้ว หางานทำที่บ้านเกิดได้เลย ปรับรูปแบบการศึกษาในห้องเรียน สอนคู่ขนานสายสามัญ-อาชีวะ ตอบสนองความต้องการแต่ละพื้นที่

พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. มีนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการปรับรูปแบบการศึกษาในห้องเรียนให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาที่เรียนจบแล้วสามารถหางานทำในพื้นที่บ้านเกิดได้ โดยรัฐบาลได้จัดทำโครงการห้องเรียนอาชีพ นำรายวิชาสายอาชีวศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน มาสอนคู่ขนานกับสายสามัญในห้องเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

เช่น โรงเรียนเบตง วีระราษฎร์ประสาน อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่จะพัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยว โดยจับมือกับวิทยาลัยการอาชีพเบตง เปิดสาขาการโรงแรม และคหกรรมขึ้น และโรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม จ.นราธิวาส ร่วมกับวิทยาลัยการอาชีพสุไหงโกลก เปิดสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และช่างเชื่อมโลหะ เพื่อรองรับการลงทุนและการก่อสร้างที่กำลังขยายตัวในพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งเริ่มต้นในภาคการศึกษา 1/2560 เป็นภาคเรียนแรก เด็กที่จบการศึกษาจากห้องเรียนอาชีพจะได้วุฒิการศึกษา 2 ใบ คือ มัธยมศึกษาตอนปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สามารถเลือกได้ว่าจะศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา หรือจะทำงาน นอกจากนี้ ยังมีการสอนพื้นฐานในการบริหารจัดการธุรกิจให้นักเรียนที่เรียนจบแล้วอาจเลือกเป็นผู้ประกอบการรายย่อยเองได้

พลโทสรรเสริญ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้เปิดห้องเรียนอาชีพ 6 โรงเรียน มีนักเรียนแล้วรวม 310 คน ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษ ได้แก่ 3 โรงเรียนในพื้นที่โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน คือ โรงเรียนราชมุนีรังสฤษฎ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี โรงเรียนเวียงสุวรรณ์วิทยาคม อ.แว้ง จ.นราธิวาส โรงเรียนเบตง วีระราษฎร์ประสาน อ.เบตง จ.ยะลา และอีก 3 โรงเรียน ในเขตพัฒนาพิเศษชายแดน คือ โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ อ.แม่สาย จ.เชียงราย โรงเรียนแม่จันวิทยาคม อ.แม่จัน จ.เชียงราย และโรงเรียนสรรพวิทยาคม อ.แม่สอด จ.ตาก

"นายกฯ ให้กำลังใจทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ถือเป็นการช่วยกันให้นักเรียน ม.ปลาย มีทางเลือกมากขึ้น สามารถหาสร้างรายได้แบ่งเบาภาระผู้ปกครองได้เร็วขึ้น พร้อมทั้งกำชับกระทรวงศึกษาฯ ประสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจและชุมชนเพื่อวางแผนผลิตบุคลากรให้สอดรับกับความต้องการของพื้นที่ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ และต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองว่าเด็กที่เรียนในสายอาชีพไม่ใช่เด็กที่เรียนไม่เก่ง แต่เป็นเด็กที่จะสามารถเริ่มทำงานสร้างรายได้ได้เร็วกว่า และในอนาคตควรขยายไปยังพื้นที่ทั่วประเทศนอกเหนือจากเขตพัฒนาพิเศษ" พลโทสรรเสริญ กล่าว