สตาร์เมคเกอร์ฯ รีแบรนด์

สตาร์เมคเกอร์ฯ รีแบรนด์

กระแสร้องเพลงฟีเวอร์ในเมืองไทย ส่งผลต่อการขยายตัวของธุรกิจสถาบันการเรียนการสอนเกี่ยวกับการใช้เสียงเพื่อการร้องเพลงและการพูด ซึ่งมี “ดีมานด์” เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มณีนุช เสมรสุต ผู้อำนวยการสอน “สตาร์ เมคเกอร์ วอยซ์ อคาเดมี”  สถาบันสอนศิลปะการร้องใช้เสียงเพื่อการร้องและพูดภายใต้การควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สตาร์เมคเกอร์ฯ ใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาท ปรับปรุงสาขา ทั้ง 10 แห่ง โลโก้  หลักสูตร ห้องเรียน การอบรมบุคลากร ให้มีความทันสมัย นับเป็นการ “รีแบรนด์ดิ้ง” ครั้งใหญ่ในรอบ 12 ปี รองรับความต้องการและการขยายตัวของผู้เรียนที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง  เพื่อพัฒนาทักษะการร้องเพลง เพื่อนำไปใช้ในการประกวดร้องเพลง หรือเตรียมตัวสำหรับการทดสอบเพื่อเข้าศึกษาต่อ หรือประกอบอาชีพ “นักร้อง”  แม้กระทั่งเรียนเพื่อการแก้ไขเสียงและพัฒนาบุคลิกภาพต่อยอดในหน้าที่การงาน ฯลฯ  

“สตาร์เมคเกอร์ฯ ต้องรีแบรนด์ดิ้งเพื่อให้ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของเด็กในยุค 4.0”

โดยได้มีการเพิ่มหลักสูตรใหม่ อาทิ Smart Makeover เป็นหลักสูตรพูดและบุคลิกสำหรับนักบริหาร และ Born to be a Star หลักสูตรพัฒนาและค้นหาความเป็นศิลปิน ฯลฯ รองรับความต้องการในยุคปัจจุบันที่เด็กรุ่นใหม่สนใจก้าวสู่เส้นทางศิลปินมากขึ้น 

สถาบันฯ ยังลงทุนระบบสื่อการสอน Multimedia Intelligence Teaching System (MTS)  เป็นการนำเอาเทคโนโลยีมัลติมีเดียมาบูรณาการใช้กับหลักสูตรและแผนการสอนเพื่อให้สามารถทำการสอนในมาตรฐานเดียวกัน ใน 1 หลักสูตรการเรียนกลุ่มที่มีทั้ง 18 ชั่วโมง และ 36 ชั่วโมง ซึ่งครูที่สอนจะเก็บข้อมูล ประเมินผลจาก “Show Time”  พร้อมเสริมประสิทธิภาพผู้เรียนด้วยกิจกรรม master class, monthly activity, singing contest ที่ผู้เรียนทุกคนจะได้ใช้ทักษะจากการเรียนมาต่อยอดเพื่อสร้างสรรค์โชว์พิเศษตามโจทย์ที่กำหนดให้ในแต่ละเดือน เป็นกระบวนการวัดผลการพัฒนาของผู้เรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม นับเป็นมูลค่าเพิ่มของประสบการณ์

สตาร์เมคเกอร์ฯ  ตั้งเป้าภายในสิ้นปีนี้จะมีนักเรียนเพิ่มขึ้น 20% และ 40% ภายใน 3 ปี ทั้งนี้ได้แบ่งนักเรียนตามกลุ่มอายุ ประกอบด้วย กลุ่มเด็ก อายุ 5-7 ปี เรียนเพื่อฝึกความกล้าแสดงออกสร้างความมั่นใจ และมีความชอบการร้องต้องการเรียนรู้วิธีการที่ถูกต้อง อายุ 7 ปีขึ้นไปถึงวัยก่อนอุดมศึกษา จะเรียนเพราะชอบในการร้อง ต้องการพัฒนาและแก้ไขเสียง เพื่อทำกิจกรรมที่โรงเรียนหรือเข้าประกวดในเวทีต่างๆ  และ กลุ่มผู้ใหญ่หรือระดับผู้บริหาร จะเรียนเพื่อพัฒนา 2 ด้านหลัก คือ การร้องเพลง และการพูดในที่สาธารณะ เพื่อปรับปรุงบุคลิกภาพและการใช้น้ำเสียงให้ตรงกับวัตถุประสงค์ในการสื่อสารเพื่อให้เกิดความสนใจของผู้ฟัง ฯลฯ

ที่น่าสนใจ คือ กลุ่มลูกค้าใหม่  คู่แต่งงานที่ต้องการจะ “สร้างโชว์” เพื่อเซอร์ไพรส์บนเวทีฉลองสมรส ซึ่งนิยมเข้ามาเรียนร้องเพลงและฝึกโชว์มากขึ้น

“เวทีประกวดเพื่อคัดเลือกศิลปินหน้าใหม่เข้าสู่วงการบันเทิง เป็นกระแสที่ได้รับความนิยม ผู้ปกครองเปิดกว้างมากขึ้นและผู้เรียนก็ยังต้องการเรียนเพื่อแก้ไขจุดบกพร่องในการใช้เสียง จึงทำให้ตลาดสถาบันร้องเพลงยังได้เติบโตอีก”

ปัจจุบัน สถาบันฯ มีนักเรียนจากประเทศในแถบเออีซี อาทิ ลาว พม่า และเวียดนาม เข้ามาเรียนอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ตลาดของสถาบันสอนร้องเพลง อ้างอิงการเติบโตของสถาบันสอนดนตรีและขับร้องพบว่า ในปี 2558 มีมูลค่า 200 ล้านบาท  ปี 2559 มีมูลค่า 232-236 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 16-18% โดยอันดับ 1 เป็นคอร์สเรียนเปียโน อันดับ 2 คอร์สเรียนร้องเพลง อันดับ  3 คอร์สเรียนกีตาร์ ซึ่งสถาบันร้องเพลงไม่ได้แจ้งเกิดจากค่ายเพลง หรือ ครูร้องเพลงที่มีประสบการณ์เท่านั้น ยังมีกลุ่มที่รับสอนตามบ้านเกิดขึ้นจำนวนมาก