‘ฟิวเจอร์ฟู้ดแล็บ’ พี่เลี้ยงธุรกิจสตาร์ทอัพ

‘ฟิวเจอร์ฟู้ดแล็บ’ พี่เลี้ยงธุรกิจสตาร์ทอัพ

น้ำตาลมะพร้าว “หวานอย่างมีหวัง” ตัวอย่างจาก “ฟิวเจอร์ฟู้ดแล็บ” ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพภายใต้โครงการฟู้ดอินโนโพลิส ของสวทน.

น้ำตาลมะพร้าว “หวานอย่างมีหวัง” หนึ่งในตัวอย่างจาก “ฟิวเจอร์ฟู้ดแล็บ” ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพภายใต้โครงการฟู้ดอินโนโพลิส ของสวทน.ใช้ต้นแบบการพัฒนานวัตกรรมอาหารในอนาคต สร้างประสบการณ์ร่วมกับผู้บริโภคและตอบโจทย์สุขภาพ ฟังก์ชัน เพื่อสร้างมูลค่าและยกระดับสินค้าเกษตรไทยก้าวสู่สินค้าพรีเมียม
ศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต (Future Food Lab)เกิดจากความร่วมมือ 3 หน่วยงานคือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.)และ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประสบการณ์ร่วมสร้างมูลค่า

นายบัณฑิต อินณวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต กล่าวว่า ทิศทางหรือเทรนด์ของอาหารในอนาคต คงหนีไม่พ้นเรื่องสุขภาพ กลุ่มผู้สูงวัย โดยผ่านกระบวนการหรือกรรมวิธีตามธรรมชาติที่ยังคงคุณค่าทางโภชนาการ หรือทางเลือกใหม่ๆ ที่เสริมสุขภาพในมุมมองของตัวสินค้า แต่ในกระบวนการการพัฒนาสินค้าหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผมมองว่า ต้องสร้าง Customer Experience Innovation มากกว่าการสร้างนวัตกรรมและกระบวนการผลิต เพราะว่าผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการประสบการณ์ร่วมกับแบรนด์และสินค้า ฉะนั้น เราต้องมองสินค้าในเชิงนามธรรมด้วย
ยกตัวอย่าง น้ำตาลมะพร้าว “หวานยังมีหวัง” เป็นการทำน้ำตาลมะพร้าวแบบดั้งเดิมที่ดีต่อสุขภาพ รักษาระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชนโดยภาคเอกชนที่รับซื้อน้ำตาลจากชุมชนจะบวกราคารับซื้อจากเดิมอีก 20% เพื่อเป็นกองทุนย้อนกลับไปยังชุมชนในการใช้พัฒนาสวน และระบบนิเวศให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ให้น่าสนใจ โดยเล่าเรื่องกระบวนการทำน้ำตาลมะพร้าวแท้กำกับไว้ ถือเป็นผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ตลาดนิชที่มีกลุ่มลูกค้าเฉพาะ
นอกจากนี้ คนไทยชอบทำป๊อบโปรดักส์ วงจรชีวิตของสินค้าสั้น ผิดกับการทำตำนานโปรดักส์ ยิ่งอยู่ยิ่งยาว เพราะเรามีงบลงทุนจำกัดเหมือนการเลี้ยงลูกต้องเลี้ยงให้โต ไม่ต้องมีมาก แนวคิดในการพัฒนาสินค้าคือ ต้องพยายามค้นหาสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการมากกว่าฟังก์ชัน แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาตีโจทย์การพัฒนาสินค้า เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคที่แสวงหา ทั้งนี้เนื่องจากคู่แข่งสามารถลอกเลียนแบบบรรจุภัณฑ์และรสชาติได้ง่ายดังนั้น การพัฒนาสินค้าจึงต้องมองรูปแบบที่ลึกซึ้งขึ้น เพื่อให้คู่แข่งไม่สามารถลอกเลียนแบบแนวทางการพัฒนาสินค้า

ลดเสี่ยง-สกัดถูกก๊อบปี้

ศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคตจะทำหน้าที่วิจัยและนำส่งความรู้ที่ได้ให้ถึงมือผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด โดยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงหรือ Co-Learning และ Co-Desing ในฐานะผู้วิจัยและถอดบทเรียนให้กับผู้ประกอบการ ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถวิจัยต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ อะไรที่เป็นปัญหาอุปสรรค เพื่อให้รู้และสร้างภูมิต้านทานในการดำเนินธุรกิจ
จากนี้อีก 1-2 ปี จะสามารถขยายบทบาทจากนักเทคโนโลยีพี่เลี้ยง ไปยังกลุ่มผู้ใช้ที่เข้ามาซื้อผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมจากศูนย์ฯ ได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องรองานแฟร์อาหาร เพราะมีทั้งแหล่งซัพพลายเออร์ โออีเอ็มให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุนอย่างเบ็ดเสร็จโดยในระยะแรกคงเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ

“เราจะเช็คความพร้อมในเรื่องของการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาสินค้า แต่ถ้าทำไปแล้วมีความเสี่ยงก็ขอชะลอเพื่อตรวจสอบด้วยการดึงสถาบันการเงินหรือนักการตลาดเข้ามาช่วยดูแลแบบครบทุกมิติ จึงมั่นใจว่า 90% ของผลิตภัณฑ์จากโครงการนี้สามารถขายได้ ส่วนที่เหลืออาจต้องปรับปรุงให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของตลาดทั้งในเรื่องเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค” นายบัณฑิต กล่าว

สำหรับเป้าหมายของศูนย์วิจัยฯ ในปีแรกต้องการที่จะพัฒนาเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ 30 คน ด้วยการสร้างนวัตกรรมอาหารภายใน 6 เดือน ทำงานวิจัยเสร็จและอีก6 เดือนในการบ่มเพาะธุรกิจ 40 บริษัท รวมเป็น 70 บริษัทภายใน 1 ปี โดยได้รับงบสนับสนุน 20 ล้านบาทจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ส่วนมหาวิทยาลัยศิลปากรจะส่งบุคลากรมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ขณะที่ สวทน.ให้พื้นที่และอุปกรณ์ในโครงการอินโนโพลิส 1,000 ตารางเมตร