อัษฎาวุธ อาสาสรรพกิจ สตาร์ทชีวิต-สปีดความสุข

 อัษฎาวุธ อาสาสรรพกิจ สตาร์ทชีวิต-สปีดความสุข

ทุกวันนี้ในบ้านเราไม่มีใครไม่รู้จัก “บอม-อัษฎาวุธ อาสาสรรพกิจ” พิธีกรรายวิทยุและโทรทัศน์ที่ให้สาระความรู้เกี่ยวกับยานยนต์อย่างถึงแก่นหลากหลายรายการ ลูกไม้ใต้ต้นของ พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ หรือ “น้าเดช” กูรูรถรุ่นเก๋าของคนในวงการนั่นเอง

เกือบจะได้เป็นเจ้าของร้านอาหารไทยในออสเตรเลีย หลังจากรับจ๊อบล้างจานขณะเรียนปริญญาโทแล้วเก็บออมจนถอยรถใหม่ได้สำเร็จ แถมยังคำนวณผลกำไรเบื้องต้นของกิจการร้านอาหารอย่างต่ำปีละ 5 ล้านบาท เพียงแต่ถูกคุณแม่บินจากเมืองไทยไปเบรกโปรเจกบรรเจิดนี้ ทั้งยังสะกิดเตือนให้คิดถึงธุรกิจของครอบครัวในไทยว่าใครจะดูแล


ทุกวันนี้ในบ้านเราไม่มีใครไม่รู้จัก “บอม-อัษฎาวุธ อาสาสรรพกิจ” พิธีกรรายวิทยุและโทรทัศน์ที่ให้สาระความรู้เกี่ยวกับยานยนต์อย่างถึงแก่นหลากหลายรายการ ที่ถ้าใครเป็นแฟนตัวจริงจะได้เห็นหน้าและได้ยินเสียงหนุ่มคนนี้แทบจะตลอด 7 วันต่อสัปดาห์ และถ้าเป็นแฟนตัวจริงก็จะรู้อีกว่าหนุ่มคนนี้เป็นลูกไม้ใต้ต้น ของ พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ หรือ “น้าเดช” กูรูรถรุ่นเก๋าของคนในวงการนั่นเอง โดยรับช่วงต่องานของผู้เป็นพ่อแบบเต็มตัว


ก่อนจะมาเดินตามรอยเท้าผู้เป็นพ่อในฐานะ “กูรูรถ” หนุ่มวัยสี่สิบคนนี้บอกว่า ความฝันด้าน “อาชีพ” นั้นเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามสิ่งเร้าที่เข้ามาในแต่ละช่วงวัย มีทั้งนักจิตวิทยา ครูบนดอย และเจ้าของร้านอาหารไทยในต่างประเทศ

“ตั้งแต่เด็กใครๆ ก็บอกว่าผมเป็นหัวดี แต่ไม่ตั้งใจเรียนตอนเรียนมัธยมที่อัสสัมชัญชีวิตสุดๆ มาก กับเพื่อนกับฝูงนี่ถึงไหนถึงกัน มีวีรกรรมค่อนข้างเยอะ เป็นช่วงวัยที่สนุกมาก ตรงนั้นก็ทำให้ผมมีเพื่อนดีๆ มาจนถึงทุกวันนี้ พอถึงช่วงที่จะต้องเอนทรานซ์ก็มีความคิดผุดขึ้นมาว่าอยากเรียนจิตวิทยา พุทธศาสตร์ ศิลปศาสตร์อะไรประมาณนี้ ก็เลือกไว้ที่ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ บอกตรงๆ ผลคือเอ็นทรานซ์ไม่ติด

ตอนนั้นบ้านผมอยู่สะพานใหม่ไปเรียนที่อัสสัมชัญ บางรัก นั่งรถเมล์ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร เห็นขึ้นป้ายรับสมัครนักศึกษาปริญญาตรีวิทยาลัยการฝึกหัดครู สาขาจิตวิทยา ผมก็เดินดุ่ยๆ เข้าไปสมัคร แต่ระหว่างนั้นก็ไปสมัครที่คณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้า เพราะรู้ว่านางเอกคนโปรด ติ๊ก-กัญญารัตน์ เรียนอยู่ ไปสมัครที่นิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ และบริหารธุรกิจ ที่เอแบค
พอถึงวันที่จะต้องมอบตัวปรากฏว่าเป็นวันเดียวกันหมด ก็มานั่งคิดว่าถ้าไปเรียน ม.หอการค้า จะได้เจอติ๊กกี่วัน เรื่องตัวเลขก็ไม่ค่อยชอบ นิเทศก็คงไม่ไหว หรือจะไปเอแบคก็จะได้เพื่อนกลุ่มเดิม แต่สุดท้ายก็เลือกเรียนจิตวิทยา ที่ มรภ.พระนคร พอเรียนจบปริญญาตรีคุณพ่อคุณแม่ก็ให้ไปเรียนต่อปริญญาโทที่ออสเตรเลียที่ University of Canberra"

ช่วงระยะเวลาที่เรียนปริญญาโทอยู่นั้น จากเด็กวัยรุ่นที่ไม่สนใจการเรียน ก็หันกลับมามุ่งมั่นตั้งใจเรียน ด้วยวัยที่โตขึ้น ความคิดก็เปลี่ยนไป และก็เป็นอีกช่วงชีวิตหนึ่งที่ทำให้เขาโตเป็นผู้ใหญ่อย่างแท้จริง

“พ่อแม่ส่งไปเรียนคือไม่ได้ลำบากอะไรแต่ก็ฟุ่มเฟือยไม่ได้ แล้วตอนนั้นเวลามีวันหยุดผมกับเพื่อนๆ ชอบขับรถไปเที่ยวกัน ผมชอบขับรถก็เลยรับหน้าที่เป็นคนขับ ข้อแม้ของผมคือต้องเป็นคนเลือกรถ ทำให้มีโอกาสได้สัมผัสกับรถรุ่นต่างๆ เยอะมาก พอมาวันหนึ่งก็เกิดอยากจะมีรถบ้าง ก็เลยไปรับจ้างล้างจานที่ร้านอาหารไทย คำนวณแล้วว่ารถราคา 2,000 เหรียญ ต้องล้างจานกี่ใบ ในที่สุดก็ซื้อรถคันแรกด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเองได้ ยี่ห้อ HOLDEN V6 เครื่องใหญ่ ผมชอบรถคันใหญ่ เครื่องแรงๆ แล้วอยู่ในเมืองที่คล้ายๆ ชนบทเวลาขับรถบนทางหลวงจะสนุกมาก”

อัษฎาวุธใช้เวลาเรียนปริญญาโทร่วม 3 ปี เมื่อใกล้จบเขาก็มีโปรเจคใหม่นำเสนอพ่อแม่ที่ประเทศไทยทันทีว่าเขาอยากจะเป็นเจ้าของร้านอาหารไทยในออสเตรเลีย

“ไอเดียนี้เกิดตอนไปรับล้างจานเก็บตังซื้อรถนี่แหละ เพราะเห็นว่าร้านที่ไปทำงานนี่ขายดีมากลูกค้าแน่น ชีวิตเจ้าของร้านดูดีมาก คุณแม่เป็นนักบัญชีก็ถามว่า ถ้าทำร้านอาหารไทยคิดว่าจะได้เงินเท่าไหร่ ผมก็คิดตัวเลขคิดแผนเสร็จสรรพแล้วว่าถ้าทำแบบนี้ๆ ปีหนึ่งผมจะทำกำไรได้อย่างต่ำปีละ 5 ล้านบาท ท่านก็บอกว่าก็เยอะนะ แต่เห็นไหมว่าวงจรชีวิตเจ้าของร้านจริงๆ เป็นอย่างไร นอนดึก ตื่นสาย ปิดร้านก็สังสรรค์ต่อบางคนเข้าบ่อน มันคุ้มกับกำไรที่ได้หรือเปล่า แต่ที่เด็ดคือคุณแม่ทิ้งท้ายว่าแล้วธุรกิจที่พ่อกับแม่ทำไว้ใครจะทำต่อ แล้วแม่ก็บินกลับ ผมก็มาคิดตามที่คุณแม่พูด เออก็จริงนะ ผมเป็นลูกชายคนโต ก็เห็นทุกสิ่งที่พ่อกับแม่ทำมามากกว่าน้องๆ ทุกคน ถ้าผมไม่กลับ ท่านก็ยังต้องเหนื่อยต่อไป ผมก็เลยกลับ”


การเข้ามาทำงานก็ไม่ใช่ว่านั่งเก้าอี้บริหารแล้วสั่งงานได้ ดั่งคำสอนเตือนสติของคุณพ่อคุณแม่ที่ว่า ไม่มีสูตรสำเร็จจากมหาวิทยาลัยอย่าคิดว่าเรียนจบปริญญามาจะทำงานเป็น อัษฎาวุธจึงต้องมาเรียนรู้งานไม่ต่างกับการไปเป็นลูกจ้างคนอื่น

“เอาจริงๆ คือผมก็ช่วยคุณพ่อทำรายการมาตั้งแต่ก่อนจะไปเรียนต่อแล้วล่ะ แต่ตอนนั้นเรายังไม่มีความรู้เรื่องรถมากเหมือนท่าน พอถึงเวลาที่เราต้องมาทำงานจริงจัง เป็นช่วงที่บริษัทกำลังเติบโต เราได้เวลาทำรายการเพิ่ม สิ่งที่ผมทำก็เป็นสิ่งที่ผมเรียนรู้จากคุณพ่อคือเราต้องทำงานทุกอย่างให้เป็นเพื่อที่จะได้สั่งงานลูกน้องได้ เรียนรู้ทั้งกระบวนการเลยว่ากว่าจะเป็นรายการทีวีต้องทำอะไรบ้าง ผมทำทุกอย่างตั้งแต่ขับรถพากองไปถ่ายรายการ ไปเรียนรู้ว่าตากล้องจะถ่ายภาพอย่างไร มุมกล้องแบบไหน ไปนั่งในห้องตัดต่อดูวิธีการตัดต่อ เพราะตอนที่คุณพ่อเริ่มทำรายการท่านก็ไม่มีความรู้เกี่ยวกับนิเทศศาสตร์ ท่านก็ใช้วิธีการนี้เหมือนกัน คือท่านจะบอกเสมอว่ารู้อะไรก็ต้องรู้ให้จริงทำให้เป็น”


อัษฎาวุธ เล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการเป็นเจ้าของกิจการที่ทำงานเป็นและทำงานได้นั้น ทำให้เขาผ่านช่วงวิกฤติเล็กๆ ของบริษัทมาได้อย่างไร
       “ตอนนั้นทำนิตยสาร AUTOCAR THAILAND มาได้เกือบ 5 ปีแล้ว อยู่ๆ ลูกน้องในทีมก็มาทยอยลาออกแบบไม่ให้มีเวลาเตรียมตัวอะไรเลย แต่โชคดีที่เป็นนิตยสารรายเดือน วิธีแก้ปัญหาคือ นิตยสารร้อยกว่าหน้า ผมแปลเองทั้งหมด อาร์ทเวิร์คคุมเอง เพราะสิ่งเหล่านี้ทำมาตั้งแต่เริ่มอยู่แล้ว แล้วก็มีแผนสองคุยกับคุณพ่อคุณแม่ว่าถ้าไม่ไหวจริงๆ จะแก้ปัญหาอย่างไร จะต้องเอาใครมาช่วยบ้าง แต่มันก็ผ่านมาได้ด้วยดี

ตอนนั้นผมก็นอยด์เหมือนกันนะว่า เรามั่นใจว่าดูแลลูกน้องดีแต่ทำไมเวลาที่เขาจะไป ก็ทิ้งไปแบบไม่ใยดี คุณพ่อก็เตือนสติว่าคิดในทางกลับกัน เราควรภูมิใจที่มีส่วนสร้างคนเก่งๆ เราจะเป็นเครดิตการทำงานของเขาไปตลอด
ทุกวันนี้บริษัทผมก็จะมีคนหมุนเวียนตลอด 3-5 ปี อาจจะดูว่าทำไมคนเข้าคนออกบ่อย แต่สำหรับผมมองว่ามันก็ดีอย่างหนึ่งคือคนใหม่เข้ามาพร้อมไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ ก็ทำให้งานของเราที่นำเสนอ ไม่ว่าจะรายการทีวี วิทยุ หรือนิตยสาร มีความแปลกใหม่อยู่เสมอ”


ส่วนสไตล์การทำงานของ กูรูรถหนุ่มคนนี้ ก็ยังได้มาจาก “พัฒนเดช” ผู้เป็นพ่ออีกเช่นกัน กับแนวคิด “คิดต่าง กล้าตัดสินใจ อะไรที่ไม่ถนัดไม่ทำ”

“เริ่มแรกที่ทำอีเว้นท์รถ ผมเริ่มจากรถมือสอง เพราะผมกับพ่อจะชอบรถมือสอง เราก็จัดเวียนไปศุกร์-อาทิตย์ จนกระทั่งได้รับโจทย์จากลูกค้าว่า ทำไมไม่เอารถใหม่มาบ้าง เพราะตั้งใจมาซื้อให้มางานเดียวแล้วจบ ผมก็มองว่าไม่ถนัดรถใหม่ป้ายแดง แต่มีเพื่อนเป็นรุ่นพี่อัสสัมชัญ “ชลัทชัย ปภัสร์พงษ์” แห่งสื่อสากล เขาจัดมอเตอร์เอ็กซ์โป เชี่ยวชาญรถใหม่ป้ายแดงแน่ๆ จึงไปชวนมาร่วมงานด้วยกัน ส่วนเรื่องพื้นที่ผมเลือกไบเทค เพราะมองว่ากรุงเทพฝั่งโน้นรวมไปถึงภาคตะวันออกไม่มีงานโชว์รถเลย แล้วลูกค้าฝั่งโน้นมีกำลังซื้อ

ทำไมเลือกจัดช่วงโลว์ซีซั่นที่หลายคนมองว่าคนจะไม่ซื้อรถ แต่ผมมองว่านี่คือโอกาส บวกกับข้อเสนอจุดคุ้มทุน ว่าถ้าเขามาลงงานนี้กับผมเขาจะได้อะไร ก็เลยเกิดงาน FAST Auto Show Thailand ผมเป็นเจ้าแรกที่กล้าเปิดตลาดเอารถมือสองมาชนกับรถใหม่ป้ายแดง และกล้าการันตีลูกค้าที่มาซื้อรถในงานด้วยว่าถึงจะเป็นมือสองแต่รถมีคุณภาพคุ้มราคาทุกคัน ไม่ถึงพอใจยินดีรับคือ แล้วก็ประสบความสำเร็จ เราขายพื้นที่ได้ คนขายรถก็ขายได้ ลูกค้าซื้อรถก็ยังไม่ใครเอารถมาคืน”


คำว่า “ปัญหาอุปสรรค” เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเจอ แต่สำหรับอัษฎาวุธ บอกว่าเขาชอบเจอกับปัญหา
“ชีวิตเรียบๆ ไม่มีสีสันจะไปสนุกอะไร สำหรับผมการที่ชีวิตต้องเจอกับปัญหาอุปสรรคให้แก้ไขเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ชีวิตมีสีสัน ปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาจะทำให้เราแกร่งขึ้น แม้อาจจะแก้ไขหรือเอาชนะปัญหาอุปสรรคได้หรือไม่ มันไม่ใช่คำตอบ แต่เราจะได้เรียนรู้วิธีแก้ วิธีป้องกันการรับมือกับปัญหานั่นต่างหากที่สำคัญ และสำคัญยิ่งไปกว่าคือ ปัญหาที่เจอจะทำให้เราได้พิสูจน์ความสามารถของตัวเอง ทุกวันนี้ผมเชื่อว่าไม่มีปัญหาไหนที่แก้ไข รับมือกับมันไม่ได้ ไม่มีหรอก มันอยู่ที่คุณจะกล้าชนกับมันหรือเปล่า”


เมื่อให้เปรียบชีวิตตัวเองกับความเร็วของรถ ผู้บริหารหนุ่มในฐานะกูรูรถยอมรับว่า มันมีทั้งช่วงเวลาเร็ว แรง และช้า สลับกันไปตามช่วงอายุที่เปลี่ยนแปลง
            “ตั้งแต่อายุ 35 คิดว่าความเร็วคงที่ ไม่เร็วมากแต่สม่ำเสมอ เอาความปลอดภัย ทุกวันนี้ 3 บริษัทมีทีมงานรวมกันประมาณ 20 คน ถามว่าน้อยไหมกับงานที่มีอยู่ คนอื่นอาจจะมองว่าน้อย แต่ทีมงานผมทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมเองยังไม่คิดว่าจะขยายไปมากกว่านี้ เพราะเราอยู่กันแบบครอบครัวจริงๆ น้องๆ เรียก พ่อกับแม่ผมว่า ลุงกับป้า เรียกผมว่าพี่ ไม่มีคำว่านาย หรือท่าน มีปัญหาอะไรเรามาคุยกัน ปรึกษากัน ทำให้บรรยากาศการทำงานมันมีความสุข

ผมให้ความสำคัญกับครอบครัวมาก เพราะโตมาแบบเห็นพ่อแม่ทำงานหนักมาตลอด แบบที่หยุดเสาร์อาทิตย์ไปเที่ยวไม่มีนะ มีแต่พ่ออยู่ห้องตัดต่อ แม่ก็พาผมกับน้องไปกินข้าวกับพ่อที่ตัดต่อ พ่อทำแรลลี่ผมต้องไปนั่งจดคะแนน แต่คือเราได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน ก็เลยเป็นความตั้งใจของผมเมื่อเข้ามาทำงานว่าจะให้พ่อกับแม่เกษียณเร็วขึ้น อยากให้ท่านได้พักผ่อน ถ้าไม่ได้มีอะไรหนักหนาสาหัสก็จะไม่ไปกวนใจ"


พอถึงเวลาที่เขามีครอบครัวของตัวเองก็เลยตั้งใจที่จะแบ่งเวลาให้ชัดเจน ทั้งกับทีมงานเหมือนกัน โดยจะบอกเสมอถ้างานไม่ได้เร่งด่วนคอขาดบาดตายไม่ต้องทำโอที ให้กลับบ้านไปใช้เวลาอยู่กับครอบครัวดีกว่า อัษฎาวุธกำลังจะเป็นคุณพ่อในอีกกี่เดือนข้างหน้านี้ ของขวัญที่เขาเตรียมไว้สำหรับต้อนรับ ลูกสาว สมาชิกใหม่ของครอบครัว
              "ถือว่าเป็นของขวัญชิ้นพิเศษมากๆ ไม่ใช่แค่เพราะมีลูก แต่ผมอยากใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับการทำงาน ดูแลพ่อแม่ น้องๆ หลานๆ ได้เห็นทุกๆ คนมีความสุข ผมก็มีความสุขเช่นกันครับ”