ท่องเที่ยวชู 8 คลัสเตอร์โลเคชั่นถ่ายหนัง

ท่องเที่ยวชู 8 คลัสเตอร์โลเคชั่นถ่ายหนัง

กรมการท่องเที่ยว โปรโมทเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศที่ถ่ายทำในไทย ชู 8 คลัสเตอร์ โลเคชั่นกองถ่ายนอก งัด อินเซนทีฟต่อยอดปีที่ 2 เพิ่มงบแตะ 120 ล้านบาท

นางสาววรรณสิริ โมรากุล อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการให้สิทธิประโยชน์ (อินเซนทีฟ) กองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยเป็นวงเงิน 100 ล้านบาท สำหรับปีงบประมาณ 2560 ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอการพิจารณาอนุมัติโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยเพิ่มงบประมาณเป็น 120 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้ภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ที่มีงบ 50 ล้านขึ้นไปมาถ่ายทำในไทยมากขึ้น จากที่ผ่านมามีภาพยนตร์ที่ขอใช้อินเซนทีฟคืนเงิน 15% จากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในไทยแล้ว 2 เรื่อง เป็นภาพยนตร์ที่มีงบ 66 ล้านบาท และ 70 ล้านบาท

“การแข่งขันในอาเซียนสูงมาก โดยเฉพาะมาเลเซีย กำหนดอัตราคืนเงินไว้สูง 30% ทั้งมีความพร้อมจากการลงทุนสร้างโรงถ่ายของไพน์วู้ดจากอังกฤษ ทำให้ไทยเสียโอกาสในการเจรจานำภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ มาร์โคโปฤโล มาถ่ายทำในไทย เพราะมาเลเซียมีอินเซนทีฟที่ดีกว่า”

ดังนั้น กรมการท่องเที่ยว วางกลยุทธ์นำเสนอจุดแข็งด้านโลเคชั่นในการถ่ายทำที่มีความพร้อมและหลากหลาย 8 เขตพัฒนาการท่องเที่ยวในไทยที่มีแผนพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ตามยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย ปี 2558-2560 ซึ่งการเป็นเจ้าภาพเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศที่ถ่ายทำในประเทศไทย ครั้งที่ 5 นี้ ได้จัดโครงการส่งเสริมการรับรู้ไทยในฐานะโลเคชั่นถ่ายทำภาพยนตร์ดีที่สุดในโลกผ่าน กิจกรรมหลัก อาทิ แข่งขันถ่ายทำภาพยนตร์สั้นในไทย  การฉายภาพยนตร์ที่เคยมาถ่ายทำในไทย ระหว่างวันที่ 21-25 ก.ค. ที่โรงภาพยนตร์พารากอนซีนีเพล็กซ์ โดยคัดเลือกภาพยนตร์ต้นแบบที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยมีชื่อเสียง อาทิ เจมส์ บอนด์ ถ่ายทำที่เกาะตะปู คิลลิ่ง ฟีลด์ส และแอร์ อเมริกา

นอกจากนี้ได้จัดงานภายใต้แนวคิด “Fascination Destination” กำหนดให้นักศึกษาด้านภาพยนตร์จากทั่วโลกที่ได้รับการคัดเหลือ 24 ทีม จากสมัครเข้ามากว่า 200 ทีมทั่วโลก เลือกเดินทางไปถ่ายทำใน 8 คลัสเตอร์ รวม 37 จังหวัด ที่มีจุดเด่นหลากหลาย อาทิ เขตอารยธรรมล้านนา อารยธรรมอีสานใต้ ชายฝั่งทะเลตะวันออก อันดามัน

จุดเด่นของการแข่งขันรายการนี้ กำหนดให้ทุกทีมจากต่างประเทศรับนักศึกษาไทยเข้าร่วมทีม 1 คน เป็นผู้ช่วยการผลิต ช่วยส่งเสริมทักษะฝีมือให้เยาวชนไทยก้าวสู่มืออาชีพในวงการภาพยนตร์ระดับนานาชาติ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศได้

ขณะที่ทีมนักศึกษาภาพยนตร์ในไทย เป็นครั้งแรกที่เปิดการแข่งขันเฉพาะเยาวชนไทยภายใต้หัวข้อ “การท่องเที่ยวเชื่อมโยงโครงการพระราชดำริ” มี 29 โครงการทั่วไทย มีการคัดเลือกทีมเข้ารอบสุดท้ายเพื่อไปถ่ายทำรวม 9 ทีม

สำหรับ กองถ่ายต่างประเทศที่มาถ่ายทำในไทยปี 2559 มี 779 เรื่อง สร้างรายได้ 2,300 ล้านบาท โดย 6 เดือนแรก มีการเข้ามาถ่ายทำแล้ว 432 เรื่อง

นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมเยาวชนไทยให้สร้างผลงานในวงการภาพยนตร์ระดับนานาชาติได้ร่วมกับสมาคมเครือข่ายภาพยนตร์แห่งเอเชีย ส่งนักศึกษาภาพยนตร์ไทยปีละ 2 คน เข้าร่วมโครงการ “ฟลาย โปรเจค” ซึ่งจะสลับการเป็นเจ้าภาพในการจัดอบรมเยาวชนจากชาติสมาชิกร่วมกันเพื่อเพิ่มความรู้และทักษะด้านภาพยนตร์โดยปีนี้อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ