'บ้านปูเพาเวอร์' ลุยเทคฯ

'บ้านปูเพาเวอร์' ลุยเทคฯ

บ้านปูเพาเวอร์ "ลุยเทคฯ" ดันผลิตไฟฟ้าตามเป้า

บ้านปูเพาเวอร์เดินหาซื้อโรงไฟฟ้าให้ทันตามแผน หลังปักธงมีกำลังผลิต 4.3 พันเมกะวัตต์ ปี 2568 เน้นกิจการภูมิภาคหวังต่อเชื่อมธุรกิจบริษัทแม่เพิ่มขึ้น

นายวรวุฒิ ลีนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) BPP เปิดเผยว่า บริษัทยังมีแผนเข้าลงทุนโรงไฟฟ้ากลุ่มภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทตั้งงบการลงทุนปีนี้ 111 ล้านดอลลาร์ และเปิดกว้างในการลงทุนโรงไฟฟ้าในทุกประเภท

“บริษัทยังตั้งเป้าหมายเข้าลงทุนโรงไฟฟ้า เน้นการเข้าร่วมลงทุนระยะเริ่มต้นของโครงการบริษัทพิจารณาลงทุนในหลายประเทศ ทั้งกลุ่มอาเซียนญี่ปุ่น กับประเทศจีน”
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าที่จะเข้าลงทุน เปิดกว้างทั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่รูปแบบเดิม ทั้งธุรกิจถ่านหินสามารถเชื่อมโยงกับบริษัทแม่อย่างบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) รวมถึงการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ทั้งโซลาร์ ฟาร์ม โรงไฟฟ้า พลังงานลม ผลตอบแทนการลงทุนในแต่ละโครงการต้องการผลตอบแทนที่ไม่ต่ำกว่า10 %

การหาแหล่งลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่นั้น เป็นไปตามแผนของบริษัทที่ตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในปี 2568 ที่ 4,300 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีโรงไฟฟ้าทั้งสิ้น 26 โครงการ แบ่งเป็น บริษัทที่เปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 14 โครงการ และอยู่ระหว่างการพัฒนา12 โครงการ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ 2,069 เมกะวัตต์ ทั้งนี้บริษัทมีโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 567 เมกะวัตต์ ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถหาโรงไฟฟ้าได้เพิ่มเติมได้อีก 1,700 เมกะวัตต์ตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าปี 2568 จากพลังงานหมุนเวียนสัดส่วน 20 % ของกำลังการผลิตจากปัจจุบันที่10%

ช่วงครึ่งปีหลังมองว่าจะมีทิศทางที่ดีกว่าครึ่งปีแรกจะมีการเดินเครื่องจำหน่ายไฟฟ้าครบตามเป้าหมายที่ 2,069 เมกะวัตต์ แม้ว่าจะมีหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเพื่อซ่อมบำรุง แต่โดยรวมนั้นยังเป็นไปตามแผน ทั้งนี้ในปี 2561จะมีการเติบโตที่ดี จากการพัฒนาโรงไฟฟ้าที่อยู่ในแผนรวมถึงการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าโซลาร์ ฟาร์ม 2 แห่ง โดยคาดว่าจะจำหน่ายไฟฟ้าได้ 2,547 เมกะวัตต์

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่าบริษัทมีโครงการที่พัฒนาและก่อสร้างรวมกำลังการผลิตตามสัดส่วน 600 เมกะวัตต์ช่วงปี 2560-2563 ในปี 2560 กำลังการผลิตที่เข้าสู่ระบบ ปี 2561 มีแผนเปิดผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหิน SLG 396 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าญี่ปุ่นรวม 74 เมกะวัตต์ในปี 2562-2563 มีแผนเปิดผลิตโรงไฟฟ้ากำลังการผลิตตามสัดส่วนรวม 48 เมกะวัตต์ทำให้กำลังการผลิตรวมในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 2,610เมกะวัตต์ แผนเติบโตระยะยาว ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตตามสัดส่วนเป็น 4,300เมกะวัตต์ในปี 2568 ด้วยสัดส่วนโรงไฟฟ้าหมุนเวียนเพิ่มเป็น 20% มาจากทั้งการเข้าซื้อกิจการและพัฒนาใหม่ ประเทศเป้าหมายได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมุ่งเป้าไปยังประเทศลาว เวียดนาม ญี่ปุ่นและจีน