สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ วันที่ 17-21 กรกฎาคม 2560

สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ วันที่ 17-21 กรกฎาคม 2560

“เงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 26 เดือนครั้งใหม่ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงจากแรงขายหุ้นกลุ่มธนาคาร”

Foreign Exchange Market

- เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 26 เดือนครั้งใหม่ที่ 33.42 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงเทขายท่ามกลางความไม่แน่นอนของจังหวะการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ นอกจากนี้ สัญญาณเตรียมทบทวนมาตรการซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางยุโรป และความกังวลเกี่ยวกับอุปสรรคในการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ก็เป็นปัจจัยลบที่กดดันค่าเงินดอลลาร์ฯ ด้วยเช่นกัน

- สำหรับในวันศุกร์ (21 ก.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 33.44 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 33.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (14 ก.ค.)


สำหรับสัปดาห์ถัดไป (24-28 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.30-33.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (25-26 ก.ค.) และประเด็นทางการเมืองในสหรัฐฯ ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ (เบื้องต้น) เดือนก.ค. ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมิ.ย. ดัชนีราคาบ้านเดือนพ.ค. และจีดีพีประจำไตรมาส 2/2560


Stock Market

- ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงเกือบตลอดสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,573.51 ลดลง 0.27% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงประมาณ 9.57% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 38,364.71 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 561.29 จุด ลดลง 0.99% จากสัปดาห์ก่อน

- ดัชนีตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงขายเกือบตลอดสัปดาห์ โดยเฉพาะในหุ้นขนาดใหญ่ และหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังจากรายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2/2560 ออกมาอ่อนแอกว่าที่คาด ประกอบกับบางแห่งมีปัญหาหนี้เสีย ทั้งนี้ แม้ดัชนีหุ้นไทยจะได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อในหุ้นกลุ่มพลังงานตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะประคองทิศทางในภาพรวม


สำหรับสัปดาห์ถัดไป (24-28 ก.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,565 และ 1,555 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,580 และ 1,590 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การประชุมของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันโอเปกและนอกโอเปก ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ สำคัญ ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนคารกลางสหรัฐฯ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2560 ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน มิ.ย. และดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือน ก.ค. ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ อาทิ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2560 และดัชนี PMI (เบื้องต้น) ของบางประเทศในแถบยุโรป และตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่น