เสื้อคลุมพระราชา

เสื้อคลุมพระราชา

ใครบ้างที่อยากเป็นพระราชา ?

องอาจ เจียมเจริญพรกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ โปรดิวเซอร์ และศิลปิน กล่าวถึงแรงบันดาลใจที่มาของผลงาน “เสื้อคลุมพระราชา” หนึ่งในผลงานไฮไลท์ ในนิทรรศการเหนือเกล้าฯชาวไทย ที่กลุ่มศิษย์เก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รุ่น 42 ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อน้อมถวายความอาลัยแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

“เราเห็นในหลวงทรงฉลองพระองค์บรมราชภูษิตาภรณ์ ได้แรงบันดาลใจมากจากตรงนี้ น้ำหนักเสื้อประมาณ 22กิโลกรัม เราเกิดความคิดว่า ใครบ้างที่อยากเป็นพระราชา ?”

องอาจ บอกว่าเมื่อมองเข้าไปยังฉลองพระองค์นี้สิ่งที่เขามองเห็นคือ ภาพพระราชกรณียกิจนานัปการ

“เราคิดว่าในหลวงสวมฉลองพระองค์นี้มาตั้งแต่ประสูติแล้ว และทรงมาตลอดพระชนม์ชีพ แนวคิด คือ คนเป็นพระราชาต้องสวมใส่ฉลองพระองค์ที่เต็มไปด้วยพระราชภารกิจมากมาย มีใครบ้างที่อยากเป็นพระราชา

รู้สึกว่ามันหนัก ในหลวงทรงมาตลอดรัชกาล เรารู้สึกว่ามันหนักมาก”

“เสื้อคลุมพระราชา” เป็นผลงานศิลปะเทคนิคผ้าปักลาย ขนาด 130x160 ซม. เริ่มต้นมาจากภาพสเก็ตช์ที่เขาเขียนไว้เมื่อ 7 ปีก่อน ครั้งนั้นตั้งใจว่าจะเป็นต้นแบบของงานจิตรกรรม

“จนวันที่เพื่อนจะแสดงงาน เราปฏิเสธว่าเราทำงานไม่ทันหรอก บังเอิญไปเปิดสเก็ตช์ผลงานเก่าๆพบงานชิ้นนี้เข้า ประกอบกับเราเป็นคนชอบงานปัก สะสมเสื้อปัก ทำให้เกิดไอเดียว่าเป็นไปได้มั้ย ? ที่เราจะทำงานชิ้นนี้ด้วยเทคนิคการปักผ้า

ไปตระเวณหาร้านปัก เจอแต่ร้านเล็กๆ ไปเจอช่างคนหนึ่ง ทำแบบไปให้เขาดู เขางงไม่เข้าใจว่าศิลปะคืออะไร เราบอกว่า ทำเพื่อในหลวง เขาบอกว่าเห็นภาพครั้งแรกแล้วจะร้องไห้เลยนะ เขาถามซ้ำว่าจะทำอย่างนี้จริงๆเหรอ ค่าใช้จ่ายสูงนะ ผมบอกว่าเท่าไหร่ก็จะสู้ ผมอยากให้เสื้อตัวนี้สำเร็จออกมา

เราเข้าใจแล้วว่าผลงานชิ้นนี้จะสำเร็จออกมาสมบูรณ์ด้วยงานปัก”

ศิลปินกล่าวถึงความตั้งใจว่า “อยากให้คนมองไกลๆมองเห็นเป็นฉลองพระองค์ของในหลวง แต่พอมาดูในรายละเอียดจะเห็นเรื่องราวของพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทำมาโดยตลอด เป็นเสื้อคลุมพระราชาที่เราคิดว่า ไม่ใส่ก็ต้องใส่ จำเป็นต้องใส่

เราไม่รู้หรอกนะว่าฉลองพระองค์นี้มีน้ำหนักมาก แต่สิ่งที่หนักมากกว่าน้ำหนักของฉลองพระองค์ คือ สิ่งที่พระองค์ต้องทำอยู่ตลอดพระชนม์ชีพ สิ่งที่พระองค์ทรงอยู่ไม่ใช่สุขสบายนะ เป็นสิ่งที่หนักๆทั้งนั้นเลย

งานศิลปะชิ้นนี้บอกเลยว่าเป็นงานที่เรารู้สึกชอบมากที่สุด ในภาษาศิลปินเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนะ ผลงานชิ้นนี้ถือว่าเป็นมาสเตอร์พีซชิ้นหนึ่งของเราเลยที่คิดแล้วลงตัวมากที่สุด และเมื่อออกมาทุกคนเข้าใจ

เมื่อวันที่ปัก พยายามเข้าไปหาช่างเฝ้าเครื่องปักอยู่ตลอดพิมพ์กว่า 2 ล้านฝีเข็ม เป็นเครื่องปักผ้า หน้ากว้างใหหญ่สุด พยายามแบ่งล็อกให้ได้ เป็นมาสเตอร์พีซของเรา เพราะไม่ได้คิดออกมาง่ายๆ”

นอกจาก “เสื้อคลุมพระราชา”แล้ว องอาจสร้างสรรค์ผลงาน “องค์พระราชา” ( The miracle of the KING) มาจัดแสดงคู่กัน แม้ว่าจะได้สามารถใช้เทคนิคปักผ้าได้สำเร็จตามความตั้งใจก็ตาม

“สุดท้ายแก้ปัญหาด้วยการเพ้นท์ เพื่อยืนยันมุมมองอย่างหนึ่ง”

ศิลปินเล่าว่า “ตอนที่เราไปกราบพระบรมศพ เวลาที่เงยหน้าขึ้นมาเราเห็นพระบรมโกศของพระองค์เป็นพระพุทธรูป คือยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว เราไม่ได้คิดว่าท่านเป็นพระพุทธเจ้าแต่ท่านเป็นพระ เป็นพระที่ประกอบแต่คุณงามความดี

แม้กระทั่งตอนที่ท่านสวรรคตไปแล้ว เรายังสามารถของเห็นท่านเป็นองค์พระ เป็นความเชื่อส่วนตัวนะ เราเชื่อว่าคนที่ทำอะไรดีๆเวลาจากไป เหมือนรูปรอยของความดียังคงอยู่ เป็นผลงานที่ออกมาจากความรู้สึกจริงๆ เป็นความรู้สึกของคนทำงานศิลปะนะ เป็นการทำงานที่ตอบโต้กับความรู้สึกจริงๆ เป็นความรู้สึกที่เราซื่อสัตย์กับมัน ไม่ได้คิดว่าจะเขียนในหลวงสวยๆ แต่เรารู้สึกว่า “เหนือเกล้าฯ” ดูแล้วอยากให้คิดถึงในหลวง”

ผลงานองค์พระราชา หลังจากการสิ้นสุดการแสดง เขาจะนำกลับไปปักอีกครั้งเพื่อให้ได้ผลงานงานศิลปะตามที่วาดหวังไว้

สำหรับผลงานศิลปะที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ ศิลปินบอกกับเราว่าไม่ได้เป็นผลงานของเขาเพียงคนเดียว หากเป็นการร่วมแรงแรงใจระหว่างศิลปินและช่างปักชาวบ้านที่มีจักรเป็นเครื่องมือเพียงตัวเดียว

“ช่างปักเป็นชาวบ้าน การเลือกไหมคู่สี มีความฟลุกอยู่ ด้วยความเป็นฝีมือชาวบ้าน ไหมไม่ได้มีสีเหมือนพู่กัน เมื่อปักเสร็จต้องมาเย็บเป็นเสื้อ ชาวบ้านก็มาช่วยกันทำ เป็นความรู้สึกที่ดีมาก

เราเห็นคนที่รักในหลวง คนปักผ้า คนเย็บผ้าช่วยกันทำ พอเสร็ขออกมาเขาก็ภูมิใจ บอกว่าไม่เคยทำงานอะไรที่สวยอย่างนี้มาก่อน เราก็ไม่เห็นมาก่อนเหมือนกัน จากที่เราเคยได้เห็นในอากาศตอนนี้มาอยู่ตรงหน้า เหมือนเป็นการร่วมมือร่วมใจกันสร้างสรรค์งานศิลปะ รู้สึกว่ามีคุณค่ามากสำหรับเรา

ตอนนำผ้าไปร้านอบรีด ทุกคนที่เห็นผลงานร้องไห้กันหมด เราได้เห็นศิลปะทำงาน โดยไม่ต้องมีคำอธิบาย”

องอาจ บอกว่าเขาจะนำภาพถ่ายการจัดแสดงนิทรรศการ นำไปมอบให้กับช่างปัก ช่างเย็บ และช่างอบรีดที่มีส่วนรวมในผลงาน เพื่อร่วมเก็บความภาคภูมิใจนี้ไว้ด้วยกัน

หมายเหตุ : นิทรรศการเหนือเกล้าฯชาวไทย โดย กลุ่มศิษย์เก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รุ่น 42 จัดแสดงที่หอศิลป์เซเว่นรังสรรค์ สาทรซอย 5 ระหว่าง6-29 กรกฎาคม 2560