เทียบคำให้การ 'จำนำข้าว' เขย่าอนาคตยิ่งลักษณ์

เทียบคำให้การ 'จำนำข้าว' เขย่าอนาคตยิ่งลักษณ์

เทียบคำให้การ "จำนำข้าว" เขย่าอนาคตยิ่งลักษณ์

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาเมื่อคดี "จำนำข้าว" เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย

ความผิดที่อัยการสูงสุดเป็นโจทย์ยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ คือ ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างนำพยานขึ้นเบิกความ งัดหลักฐาน โต้แย้งกันไปมาอย่างเข้มข้น จนล่วงเลยมาถึง วันนี้ (21 ก.ค.60) ซึ่งเป็นนัดสุดท้ายรวมแล้ว 56 ปาก กว่า 20 นัด

scoop ล่าความจริง 20072560 ข้าว+ยิ่งลักษณ์ .001

หนึ่งในพยานฝ่ายโจทย์อัยการนำ นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ขึ้นเบิกความในการไต่สวนนัดที่ 4 เกี่ยวกับการไต่สวนนางสาวยิ่งลักษณ์จนกระทั่งชี้มูลความผิด ยืนยันว่า เพราะรัฐบาลไม่ยอมยับยั้งโครงการ หลังจาก ป.ป.ช. ทำหนังสือโต้แย้งถึง 2 ครั้ง และ สตง. รวมทั้งคณะอนุกรรมการปิดบัญชี ก็โต้แย้งว่าโครงการอาจเกิดการทุจริตได้ ซึ่ง ป.ป.ช.ลงพื้นที่หาข้อเท็จจริงด้วยไม่ใช่ยึดเพียงงานวิจัยจากทีดีอาร์ไอเท่านั้น

นอกจากนั้นยังมีความเสียหายทางการเงินการคลัง ฝ่ายอัยการนำพยานโจทย์ 2 ปากสำคัญขึ้นเบิกความ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว และเคยดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลัง เบิกความเรื่องการส่งหนังสือท้วงติงให้ระวังเกี่ยวกับความเสียหายหลายครั้ง และยังพบว่าการใช้เงินในโครงการขัดต่อระเบียบการใช้จ่ายเงินในโครงการรัฐเพราะตามหลักการแล้วเงินที่ได้มาจากการขายข้าวจะต้องนำไปใช้หนี้ ธกส.แต่รัฐบาลกลับนำเงินที่ได้จากการขายข้าวมาหมุนเวียนรับจำนำข้าวอีก ขณะเดียวกันคณะกรรมการ กขช.ที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์เป็นประธาน มีความพยายามในการปกปิดข้อมูลการขายข้าว โดยปรับเปลี่ยนคณะทำงานของกรมการค้าต่างประเทศยกชุด และปฏิเสธการให้ข้อมูลการขายข้าวทั้งหมด เพื่อไม่ให้ทราบความเสียหายของโครงการนี้ จนสุดท้ายเมื่อมีการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว วันที่ 30 ก.ย.57 พบตัวเลขการใช้เงินสูงถึง 8.7แสนล้านบาท

พยานปากต่อมา คือนายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโครงการจำนำข้าวย้ำชัดว่า จำเลย มีบทบาทเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กขช.มีหน้าที่โดยตรงที่จะใช้ดุลพินิจกำกับดูแลไม่ให้มีการทุจริต แต่ปรากฎในข้อเท็จจริงว่าโครงการจำนำข้าวมีการทุจริตทุกขั้นตอน และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งจนทำให้เกิดความเสียหาย 286,000 ล้านบาทเศษ

หลังการไต่สวนพยานโจทย์เสร็จสิ้น ทนายฝ่ายจำเลยเตรียมพยานบุคคลโต้แย้งในหลายประเด็นโดยเฉพาะการป้องกันการทุจริตและการรักษาวินัยการเงินการคลัง โดยพยานปากแรกก็คือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ขึ้นแถลงเปิดคดีด้วยตัวเอง ใช้พาวเวอร์พอยส์แสดงหลักฐานเบิกความต่อศาล ราว 1 ชั่วโมง ยืนยันว่าปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาตามฟ้องโจทก์

scoop ล่าความจริง 20072560 ข้าว+ยิ่งลักษณ์ .002


โดยเฉพาะมาตรการป้องกันการทุจริตได้ดำเนินการอย่างจริงจังด้วยการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ขึ้นมาตรวจสอบ/ปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่บกพร่องโครงการในอดีต ซึ่งส่วนที่ ป.ป.ช.กล่าวหาตนยังไม่พบหลักฐานชัดเจนว่า ความเสียหายอยู่ในพื้นที่ใด อีกทั้ง ป.ป.ช.ยังมีการเลือกปฏิบัติ แจ้งกล่าวหาว่าตนละเลยปฏิบัติหน้าโดยมิชอบด้วยเอกสารเพียง 49 แผ่น และใช้เวลาส่งสำนวนเพียง 2 เดือนเศษ

ยิ่งลักษณ์ยังชี้แจงว่า การใช้งบประมาณในโครงการจำนำข้าวมีหลักเกณฑ์เคร่งครัดเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน โดยมีมติ ครม.กำหนดวงเงินหมุนเวียนไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เงินกู้ไม่เกิน 20% ก็สามารถทำได้ตามกำหนด รวมทั้งยังมีมาตรการป้องกันข้าวเน่า ข้าวเสื่อม

ขณะที่ ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะประธานการตรวจสอบทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ขึ้นเบิกความต่อศาลฎีกาฯ ในนัดที่ 11 ย้ำชัดรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการปกป้องกันการทุจริตโดยได้สั่งการให้ สตช.ตรวจสอบคลังสินค้าอย่างเคร่งครัด จนสามารถจับกุมผู้ที่กระทำผิดในโครงการรับจำนำข้าว 251คดี และยืนยันว่าไม่รู้จัก เจ็ด หรือ เด็ก เจ๊ด ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับทุจริตข้าว จีทูจี ว่าเป็นใคร

ส่วนความเสียหายด้านการเงินการคลัง ทนายจำเลยนำ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ขึ้นเบิกความโต้แย้ง ว่าเงินทุนที่ใช้ในโครงการเป็นเงินของ ธนาคาร ธกส. และ เงินกู้ ธกส.ซึ่งควบคุมกำหนดกรอบวงเงินหมุนเวียนที่ใช้ในโครงการไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ยืนยันว่าโครงการรับจำนำข้าวมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเพราะสภาพัฒน์ฯ ได้ประเมินโครงการแล้วยืนยันว่าโครงการจำนำข้าวช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น และมีความคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จึงไม่เกิดความเสียหาย

ตลอดเส้นทางการไต่สวนพยานทั้งสองฝ่ายตั้งยอมรับว่าต่างฝ่ายต่างเตรียมเอกสาร หลักฐาน และข้อโต้แย้งกันอย่างเต็มที่แต่ทั้งหมดล้วนขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลฎีกาฯ ที่อีกไม่นานคงได้รู้กัน