‘ทีเส็บ’ปรับกลยุทธ์ยกระดับอุตฯไมซ์หนุนกระจายรายได้

‘ทีเส็บ’ปรับกลยุทธ์ยกระดับอุตฯไมซ์หนุนกระจายรายได้

ผอ.ใหม่ทีเส็บประกาศกลยุทธ์ยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมเหนือการหาได้รายได้ ปรับแนวดำเนินงานเชิงรุก กระจายเศรษฐกิจไมซ์ลงภูมิภาค ปรับใหญ่ใช้นวัตกรรมสร้างศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะเสริมผู้ประกอบการ

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ทีเส็บ รวมถึงจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับผู้บริหารทีเส็บ นำมาซึ่งการวางเป้าหมายเป็นหน่วยงานหลักด้านไมซ์ที่ “พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม เพื่อความเจริญและกระจายรายได้”

ทั้งนี้ จะให้ความสำคัญต่อด้านกระจายรายได้ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 กลยุทธ์ผลักดันธุรกิจให้เติบโตรวดเร็ว เพิ่มการทำงานเชิงพื้นที่ (Area Based) ลงลึกระดับภูมิภาคในการมีส่วนร่วมรับการเติบโตตลาดไมซ์มากขึ้น จากที่แต่เดิมการช่วยเหลือจะกระจุกอยู่กับภาคธุรกิจที่เข้าหาทีเส็บเองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งต้องอาศัยแนวทำงานเชิงรุกเข้าไปช่วยทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่น มีเป้าหมายยกระดับงานเทรดโชว์จากระดับบีทูซี ที่มุ่งเป้าสู่ผู้บริโภค เช่น คอนซูเมอร์แฟร์ ไปสู่งานระดับ บีทูบี หรือทำให้มีการเจรจาซื้อขายระหว่างธุรกิจด้วยกันเองมากขึ้น ขณะที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการจัดงานหลักอยู่แล้ว ก็ต้องไม่ลดจำนวนงานลง แต่ขยายพื้นที่การจัดงานที่มีอยู่แล้วให้เป็นงานขนาดใหญ่ และเพิ่มจำนวนงานมากขึ้นเช่นกัน

จากผลสำรวจอันดับของไทยในตลาดไมซ์นานาชาติ ซึ่งจัดทำโดยสมาคมประชุมนานาชาติของโลก (ICCA) ไทยมีจำนวนการจัดงานมากเป็นอันดับ 27 ของโลกที่ 151 งานต่อปี ก่อนจะปรับขึ้นเป็นอันดับ 24 ในปีที่ผ่านมา แต่หากเทียบสถิติของเมืองที่มีการจัดประชุมทั่วโลก กรุงเทพฯ อยู่อันดับที่ 16 และมีจำนวนกว่า 103 งาน ทิ้งห่างไมซ์ซิตี้ ได้แก่ เชียงใหม่ ที่มีจำนวนการจัดเพียง 16 งานต่อปี และพัทยา จำนวน 10 งานต่อปี แสดงให้เห็นถึงการกระจุกตัวในกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่

เบื้องต้นมองพื้นที่การพัฒนาเป้าหมายก่อน ได้แก่ เชียงใหม่, ขอนแก่น ซึ่งมีการพัฒนาศูนย์ประชุมขนาดใหญ่รองรับอยู่แล้ว รวมถึงพื้นที่ภาคตะวันออก อาทิ พัทยา ระยอง เพื่อให้สอดคล้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยภายใต้หลักการนี้ ทีเส็บ อาจจะเป็นผู้ช่วยเหลือนำผู้จัดงานมืออาชีพเข้าไปช่วยบุกเบิกการจัดงานก่อน แต่ระยะยาวทุกภาคส่วน เช่น หอการค้าจังหวัด, นักธุรกิจ และเทศบาลเมืองในพื้นที่มีศักยภาพในการจัดงานและยกระดับงานของตัวเองในที่สุด

ที่ผ่านมามีตัวอย่างการส่งเสริมงานระดับภูมิภาคจนมีความแข็งแกร่ง เช่น ลานนา เอ็กซโป ที่พัฒนาจากงานเชิงค้าขายโอท็อปที่มีผู้บริโภคมาจับจ่าย มาสู่การเจรจาซื้อระหว่างนักธุรกิจด้วยกันมากขึ้น และต่อไปการสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาค จะเน้นเจาะลึกในเชิงสินค้าที่มีความโดดเด่น เช่น ส่งเสริมเทรดโชว์ด้านกาแฟ ที่ไทยมีการเพาะปลูกและตลาดเติบโตขึ้น ทั้งนี้ ไม่ได้สนับสนุนให้ทุกจังหวัดต้องแข่งกันสร้างศูนย์ประชุมใหม่ขึ้นมา แต่จะสร้างให้มีส่วนแบ่งในตลาดไมซ์ด้านอื่นๆ เช่น การจัดสัมมนาและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ที่ขยายตัวสูงเช่นกัน

นายจิรุตถ์ กล่าวด้วยว่า เป้าหมายทีเส็บต่อไปจะต้องชัดเจนมากขึ้นว่า เป็นองค์กรที่ต่างจากการท่องเที่ยว ตรงที่มีความสัมพันธ์และมีทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวก็มีโอกาสเติบโตสูง แต่หากซบเซาก็จะมีผลต่อตลาดไมซ์ทันที เพราะตลาดที่เข้ามามีกิจกรรมในเชิงธุรกิจเป็นหลัก และวัตถุประสงค์ด้านท่องเที่ยวเป็นรอง

ดังนั้น ภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบัน ยอมรับว่าเป็นห่วงจีดีพีของไทยที่เติบโตต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงเป็นอันดับ 3 ในเอเชียแปซิฟิก รองจากออสเตรเลียและมาเลเซีย ทำให้ต้องเร่งวางกลยุทธ์รับมือทั้งระยะสั้นและยาว ด้วยการสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดไมซ์ในประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ เช่น ญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในการสร้างฐานการประชุมและจัดงานของภาคธุรกิจในประเทศ ทำให้ลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ

ในปี 2560 ทีเส็บคาดการณ์นักเดินทางกลุ่มไมซ์จะสร้างรายได้รวม 1.55 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ 1.01 แสนล้านบาท และตลาดในประเทศ 5.4 หมื่นล้านบาท หรือยังต่างกันราว 50% แต่ภายใน 4 ปีที่เข้ามาบริหารงานนั้น ต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้ตลาดในประเทศให้เป็น 50% เท่ากับตลาดต่างประเทศ

นอกจากนั้น ให้ความสำคัญกับการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) โดยต่อไปจะมีการเวิร์คช้อปทุกแผนกภายในองค์กร เพื่อปรับปรุงระบบไอทีร่วมกัน นำไปสู่การสร้างศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะ (MICE Intelligence Center) เป็นเครื่องมือให้ภาคธุรกิจเข้าถึงข้อมูลการตลาดที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นการยกระดับพัฒนาความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมที่สำคัญอีกทางหนึ่ง

ขณะเดียวกันนอกจากการรักษาฐานตลาดเดิมแล้ว จะขยายตลาดใหม่ที่มีศักยภาพด้วย เช่น อินเดีย เป็นต้น พร้อมกับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงานระดับนานาชาติในไทย โดยล่าสุดประสบความสำเร็จในการนำงาน Asean Side of the Doc ซึ่งเป็นเทศกาลซื้อขายภาพยนตร์สารคดีระดับอาเซียนมาจัดในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 7-10 พ.ย.นี้

ทั้งนี้ การวางกลไกพัฒนาไมซ์จะอยู่ภายใต้ 4 แนวทางหลักได้แก่ ทำให้ไมซ์เติบโตคู่ขนานการพัฒนาประเทศ, การเติบโตในตลาดที่มีศักยภาพ, สร้างการเติบโตอย่างเท่าเทียม และเติบโตอย่างเข้มแข็งผ่านการพัฒนากฎหมายให้เอื้อต่อธุรกิจ โดยมี 5 กลยุทธ์ Quick Win รองรับ ได้แก่ มุ่งให้ไทยเป็นผู้นำโลกด้านไมซ์ทั้งด้านการสร้างมาตรฐานต่างๆ, เป็นผู้นำพัฒนาไมซ์ทั้งภาครัฐและเอกชน, ผลักดันองค์กรให้โปร่งใสและมีคุณธรรม ร่วมกับอีก 2 กลยุทธ์ที่กล่าวมาคือ กระจายรายได้ และใช้นวัตกรรมสร้าง MICE Intelligence