ศาลพิพากษายกฟ้อง 'พันธมิตร' คดีม็อบดาวกระจายไล่รัฐบาลสมัคร

ศาลพิพากษายกฟ้อง 'พันธมิตร' คดีม็อบดาวกระจายไล่รัฐบาลสมัคร

เปิดคำพิพากษา ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง 6 อดีตแกนนำพธม. แต่รอกำหนดโทษ3อดีตแกนนำร่วมชุมนุมดาวกระจาย ชี้ดูเจตนา-ความประพฤติ-การศึกษา มีเหตุให้รอการวางโทษได้

จากที่ศาลอาญา มีคำพิพากษายกฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และนายสนธิ ลิ้มทองกุล กับอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) รวม 6 คน จากเหตุการณ์ชุมนุมลักษณะดาวกระจายไปยังสถานที่ราชการต่างๆ ในปี 2551 เพื่อกดดันรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ลาออกและยุบสภานั้น

ในคดีหมายเลขดำ อ.3973/2558 ที่อัยการสำนักงานคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 79 ปี , นายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 67 ปี , นายพิภพ ธงไชย อายุ 69 ปี , นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 64 ปี , นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 69 ปี , นายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 42 ปี , นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อายุ 65 ปี , นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี อายุ 58 ปี และนายเทิดภูมิ ใจดี อายุ 73 ปี อดีตแกนนำ พธม.เป็นจำเลยที่ 1-9 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใดฯเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชนและก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร , ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการโดยผู้กระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก แต่ไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 , 215 , 216 จากการชุมนุมขับไล่รัฐบาลลักษณะดากระจายนั้นพวกจำเลยใช้รถบรรทุกเป็นเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ไปยังสถานที่ราชการหลายแห่ง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ , สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) , กระทรวงมหาดไทย , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( สตช.) ,กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , กระทรวงการคลัง และสำนักงานอัยการสูงสุด ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ทำให้โรงเรียน และสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ใกล้ชุมนุมต้องหยุดการเรียนการสอนหลายครั้งเนื่องจากเกรงว่าจะไม่มีความปลอดภัยจากการชุมนุมดังกล่าว นอกจากนี้พวกจำเลยยังได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลอีกด้วยในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 25 พ.ค.- ต.ค.51

คำพิพากษาของศาลอาญา ได้พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์การกระทำไว้ว่า คดีมีประเด็นวินิจฉัยว่าคดีที่โจทก์ ฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง , นายสนธิ ลิ้มทองกุล , นายพิภพ ธงไชย , นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายสุริยะใส กตะศิลา จำเลยที่ 1-6 เป็นการฟ้องซ้ำหรือไม่ เห็นว่า การกระทำที่ก่อให้เกิดความผิดของจำเลยที่ 1-6 ซึ่งโจทก์ฟ้องในคดีดำ อ.4925/2555 และคดีดำ อ.276/2556 ไปแล้วกับความผิดในคดีนี้ เป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกัน โดยเหตุการณ์เริ่มต้นจากจำเลยที่ 1-6 มีการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 อันเป็นความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปแล้วก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองกับมีเจตนาพิเศษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 แล้วร่วมกันบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลจนทำให้ทรัพย์สินบางส่วนได้รับความเสียหาย

การกระทำของจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลและทำให้เสียทรัพย์ เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และมาตรา 116 ด้วย ดังนั้นการกระทำของจำเลยที่ 1-6 ในความผิดทั้ง 2 คดี จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ในคดีก่อนโดยไม่ฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 215 มาในคดีเดียวกันจนศาลมีคำพิพากษาในคดีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ กรณีต้องถือว่ามูลความผิดในคดีนี้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว โจทก์จึงนำการกระทำความผิดในคราวเดียวกันมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-6 เป็นคดีนี้อีกไม่ได้ ดังนั้นสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับ จำเลยที่ 1-6 ย่อมระงับไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คดีมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ , นายอมร อมรรัตนานนท์หรือรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี และนายเทิดภูมิ ใจดี จำเลยที่ 7-9 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในวันเวลา และสถานที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 7-9 ร่วมชุมนุมในกลุ่ม พธม. โดยเมื่อวันที่ 26 ส.ค.51 จำเลยที่ 7 ร่วมอยู่กลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณถนนมิตรภาพ จ.นครราชสีมา และได้ปราศรัยให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมฟัง ส่วนจำเลยที่ 8 ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่ม พธม.มาโดยตลอด ขึ้นปราศรัยและเป็นพิธีกรบนเวทีหลายครั้ง ส่วนจำเลยที่ 9 ร่วมชุมนุมและปราศรัยบนเวที พธม.ไตยหลายครั้ง และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าระหว่างการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.51 มีผู้เข้าร่วมชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนมากทำให้การจราจรเช่น ถนนพระราม 5 ถ.พิษณุโลก ถ.ราชดำเนินถูกปิดกั้นการจราจรไปโดยปริยาย กรณีต้องถือว่าการชุมนุมและกิจกรรมประกอบการชุมนุม ซึ่งจัดทำขึ้นบนถนนและทางสาธารณะกีดขวางการจราจรเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ส่วนการใช้เครื่องขยายเสียงของกลุ่มผู้ชุมนุมรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำที่มิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย นอกจากนี้โรงเรียนและสถานศึกษาหลายแห่งที่อยู่ใกล้เคียงสถานที่ชุมนุมของกลุ่ม พธม.ต้องระงับการเรียนการสอนหลายครั้ง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการชุมนุมของกลุ่ม พธม. ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ การกระทำของจำเลยที่ 7-9 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคหนึ่ง

สำหรับความผิดในส่วนของการเป็นหัวหน้า หรือผู้มีหน้าที่สั่งการนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 7-9 เป็นเพียงผู้เข้าร่วมชุมนุมและขึ้นเวทีปราศรัยบนเวทีเท่านั้น ข้อเท็จจริงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 7-9 กระทำความผิดโดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้ทำหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด

ส่วนความผิดตาม มาตรา 116 ฐานผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือหนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 7-9 ร่วมชุมนุมและขึ้นเวทีปราศรัยให้แก่ผู้เข้าร่วมชุมนุมกลุ่ม พธม.ฟัง แต่กรณียังไม่ชัดเจนว่าการกระทำของจำเลยที่ 7-9 หรือการชุมนุมของกลุ่ม พธม. มิได้เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เนื่องจากการชุมนุมของกลุ่ม พธม.บรรยากาศโดยรวมต้องถือว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 63 ส่วนความไม่สงบที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมเกิดจากฝ่ายตรงข้ามซึ่งได้รับผลกระทบจากการชุมนุม นอกจากนี้การชุมนุมของกลุ่ม พธม.ยังทำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมและประชาชนทราบว่ารับรัฐของนายสมัคร สุนทรเวช อยู่ภายใต้การครอบงำและสั่งการของนายทักษิณ ชินวัตร และทราบถึงการกระทำของกลุ่มบุคคลในเครือข่ายระบอบทักษิณ รวมทั้งทราบถึงการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่ไม่มีคุณธรรมและธรรมาภิบาลในการบริหารราชการบ้านเมือง มีวาระซ่อนเร้นและเป็นการกระทำที่ขัดผลประโยชน์หลายเรื่องการชุมนุมของกลุ่ม พธม. และการกระทำของจำเลยที่ 7-9 จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

อนึ่งข้อมูลที่กลุ่มพันธมิตรฯ ปราศรัยระหว่างการชุมนุมปัจจุบันพบว่ามีมูลความจริงในหลายเรื่อง บางเรื่องมีการดำเนินคดีอาญากับกลุ่มบุคคลที่กระทำทำผิด และศาลได้พิพากษาลงโทษแล้ว ข้อมูลบางเรื่องต้องถือว่าเป็นประโยชน์และให้ความรู้แก่ประชาชน ทำให้ประชาชนตื่นรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเองมาขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดคือทำให้ประชาชนมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เพิ่มมากขึ้น และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เครือข่ายระบอบทักษิณมีกลุ่มที่ล่วงละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่จริง การกระทำของพวกจำเลยถือว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและประโยชน์ชาติในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดีกรณีไม่อาจยกเว้นการกระทำซึ่งมีบทบัญญัติของกฎหมายระบุว่าเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องได้

จึงพิพากษาว่า นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ , นายอมร อมรรัตนานนท์หรือรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี และนายเทิดภูมิ ใจดี จำเลยที่ 7-9 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี เจตนาและเหตุผลในการกระทำประกอบอายุ ประวัติ อาชีพ ความประพฤติ การศึกษา และสุขภาพ ของจำเลยที่ 7-9 โดยรวมแล้วกรณีเห็นควรให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-6 ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่ศาลมีคำพิพากษาให้รอการกำหนดโทษนั้น เท่ากับศาลยังไม่ได้วางโทษจำเลยทั้งสามว่าจะลงโทษเท่าใด แต่ศาลเห็นว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดซึ่งหากจำเลยไปกระทำผิดลงอีกในช่วง 2 ปี ศาลก็สามารถที่จะนำคดีนี้มาวางบทลงโทษได้

ขณะที่คดีนี้ อัยการโจทก์ ยังสามารถยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลอุทธรณ์ได้อีกภายใน 30 วันนับแต่ที่ศาลอาญาที่เป็นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา