พรรคเล็กยื่น 4 ข้อเสนอปรับกม.พรรคการเมือง

พรรคเล็กยื่น 4 ข้อเสนอปรับกม.พรรคการเมือง

"สุรชัย" เผยประชุมกมธ.ร่วมพรรคการเมือง ใช้ข้อโต้แย้งกรธ.เป็นหลักการพิจารณา ด้านพรรคเล็กยื่น 4 ข้อเสนอปรับกม.พรรคการเมือง ให้ไพรมารีเป็นเรื่องภายใน

นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรค ประชาธิปไตยใหม่ ในฐานะประธานกลุ่มปฏิรูปการเมืองยุคใหม่ ยื่นหนังสือต่อ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 เพื่อเสนอแนะ 4 ประเด็น ในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่คณะกมธ. ร่วม 3 ฝ่าย หลังจากประชุมพรรคเล็ก 19 พรรค โดยมีมติประกอบด้วย 1.ในการทำไพรมารี่โหวต ควรให้พรรคการเมืองดำเนินการเองทุกขั้นตอนจะสะดวกขึ้น 2.การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องอำนวยความสะดวก และโอนเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองในการทำกิจกรรมด้วย 3.ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคทำกิจกรรมทางการเมือง โดยเขียนยกเลิกในบทเฉพาะกาล และ4.ขอให้คสช. และนายกรัฐมนตรี ยืนยันการเลือกตั้งตามโรดแม็ป ปี 2561

นายสุรชัย กล่าวว่า ในการประชุมกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย วันที่ 25 ก.ค.นี้ ตนจะนำข้อเสนอแนะดังกล่าวเข้าพิจารณาด้วย ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมกมธ.แต่หลักการที่ใช้เป็นแนวทางการทำงานมาตลอด คือการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมทางการเมือง ผ่านการเป็นสมาชิกพรรค และทำอย่างไรที่จะให้พรรคการเมืองได้รับการส่งเสริม เพื่อพัฒนาเป็นสถาบันทางการเมืองที่เข็มแข็งต่อไป

นายสุรชัย กล่าวถึงการตั้งกมธ.ร่วม ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า จะใช้ข้อโต้แย้งของกรธ.เป็นหลัก ว่า มีประเด็นใดที่ขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ จะศึกษาเป็นรายประเด็น ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากของที่ประชุมกมธ.ร่วม ถ้าที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อโต้แย้ง ก็จะนำไปสู่การปรับปรุงบทบัญญัติที่ได้ผ่าน วาระสามของที่ประชุมสนช.ไปแล้ว แต่ถ้าเห็นว่าข้อโต้แย้งไม่มีเหตุผลรับฟัง จะคงตามร่างเดิมของสนช. ส่วนข้อเสนออื่นๆ จะรับไว้ไปพิจารณาต่อไป ว่าตรงกับประเด็นที่กรธ.โต้แย้งหรือไม่ มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหรือไม่ ถ้ามีจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขได้ ถ้าไม่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถไปแก้ไขได้ เป็นกติกาที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 267

เมื่อถามถึงกรณีมีข้อเสนอว่า หากเกิดการทุจริตในขั้นตอนไพรมารีโหวตของพรรค อาจมีโทษแรงถึงยุบพรรคว่า ตรงนั้นไม่ได้อยู่ในประเด็นที่กรธ.โต้แย้งมา ร่างเดิมที่ผ่านสนช. ก็ไม่มีโทษของขั้นตอนไพรมารีโหวต ตนไม่รู้ข่าวมาได้อย่างไร หากสมมติว่า ข้อเสนอดังกล่าว สนช.เห็นว่า มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง และทางกรธ.โต้แย้งมาว่า การทุจริตในขั้นตอนไพรมารีโหวต ไม่ได้กำหนดโทษ และที่ประชุมกมธ.ร่วม เห็นควรให้เพิ่มเติมโทษ ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปศึกษากันอีกอาทิเรื่องอัตราโทษ โดยที่สุด จะถูกตัดสินด้วยที่ประชุมสนช. อย่าเพิ่งไปคาดเดา กมธ.ร่วมยังไม่ได้เริ่มปรึกษากันเลย

เมื่อถามว่า หากมีการระบุว่า ไพรมารีโหวตเป็นเรื่องภายในพรรคการเมือง ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการเลือกตั้ง แล้วใครจะเป็นผู้รักษากฎหมาย นายสุรชัย กล่าวว่า ถือเป็นโจทย์ที่เราต้องช่วยกันคิดออกแบบ ขณะนี้มีอยู่ 2 แนวคิด 1.ให้เป็นกิจการภายในของพรรคบริหารจัดการกันเอง หรือ 2.ควรให้กกต.เข้าไปช่วยดูแลรับผิดชอบ ซึ่งหากเป็นกรณีหลัง เท่ากับว่าไพรมารีโหวต เป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกรอบอำนาจหน้าที่ของกกต. แต่ถ้าหากไม่นับว่าไพรมารีโหวต เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเลือกตั้ง กกต.ไม่มีสิทธิเข้าไปเกี่ยวข้อง ขอเวลาไปศึกษาแลกเปลี่ยนกันก่อน