พาณิชย์เฮ!! ส่งออก มิ.ย.60 ขยายตัว 11.7%

พาณิชย์เฮ!! ส่งออก มิ.ย.60 ขยายตัว 11.7%

"พาณิชย์" เผย ตัวเลขส่งออกเดือน มิ.ย. ขยายตัว 11.7% ดันภาพรวมครึ่งปีแรกขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี หลังเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น มั่นใจส่งออกข้าวปีนี้ทะลุเป้า 10 ล้านตัน

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือน มิ.ย.2560 โดยระบุว่า การส่งออกในรอบเดือนดังกล่าวขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง 11.7% คิดเป็นมูลค่า 20,282 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกไตรมาส 2 ขยายตัว 10.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 4.9% ถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ การส่งออกที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ยังพบว่าทุกตลาดหลักสำคัญมีแนวโน้มทางเศรษฐกิจดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีน ญี่ปุ่น อาเซียน และซีแอลเอ็มวี อีกทั้งยังมีการขยายตัวในทุกกลุ่มสินค้า โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ทั้งในด้านราคาและปริมาณ อาทิ ยางพารา น้ำตาลทราย ผักผลไม้สดแช่แข็ง ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ในขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยเฉพาะ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก เม็ดพลาสติก

อย่างไรก็ดีการขยายตัวของภาคส่งออกที่เป็นบวกต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวมการส่งออกไทยในรอบครึ่งปีแรก ขยายตัวถึง 7.8% ด้วยมูลค่า 1.13 แสนล้านดอลลาร์ นับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2560 คาดว่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงจากความไม่ชัดเจนของนโยบายกีดกันทางการค้า ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมัน ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

"การส่งออกสินค้าเกษตรปรับตัวดีทุกรายการ โดยเฉพาะข้าวขยายตัวในด้านของปริมาณถึง 44.4% จึงคาดว่าเป้าหมายการส่งออกข้าวปริมาณ 10 ล้านตันในปีนี้จะสามารถทำได้ รวมทั้งการส่งออกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น จากเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีต่อเนื่อง จะทำให้เป้าหมายการส่งออกของไทยที่ตั้งไว้ในกรอบ 5% มีความเป็นไปได้สูง ซึ่งหลังจากนี้หากจะดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าว ไทยจะต้องส่งออกเฉลี่ย 6 เดือนหลัง อยู่ที่เดือนละ 1.87 หมื่นล้านดอลลาร์"