'วิษณุ' ปัดจ้องเอาผิด 'ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์'

'วิษณุ' ปัดจ้องเอาผิด 'ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์'

"วิษณุ" ยัน "พ.ร.บ.คดีอาญานักการเมือง" เป็นไปตามหลักสากล ปัดจ้องเอาผิด "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" ชี้พรรคเพื่อไทยคิดไปเอง

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย ยื่นเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไข ร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. .… ว่า กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยืนยันแล้วว่า ได้ตรวจสอบแล้วทั้งหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน แต่ส่วนตัวยังไม่ได้ดูตัวกฎหมายดังกล่าวอย่างละเอียด ซึ่งประเด็นที่สังคมถกเถียงกันมากคือ กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ย้อนหลังหรือไม่ ทั้งนี้หลักที่ยึดถือมาโดยตลอดเป็นเช่นเดียวกับที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ โดยกฎหมายอาญาจะไม่มีผลย้อนหลังหรือเพิ่มโทษ แต่กฎหมายแพ่ง และกฎหมายวิธีพิจารณาคดี สามารถมีผลย้อนหลังได้ แต่การย้อนหลังนี้จะไม่กระทบในสองประเด็นคือ 1.คดีที่มีคำพิพากษาไปแล้ว 2.ไม่มีผลย้อนหลังเพื่อเพิ่มโทษ ดังนั้นคดีที่เริ่มกระบวนการไปแล้ว ก็สามารถพิจารณาได้ต่อไป อย่างไรก็ตามหากพรรคเพื่อไทย ยื่นให้นายกฯส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ทางรัฐบาลก็จะนำมาพิจารณาต่อไป

เมื่อถามว่าร่างกฎหมายดังกล่าวสามารถทำให้พิจารณคดีลับหลังได้จำเลยได้ ถูกมองว่าไม่เป็นไปตามหลักสากล นายวิษณุ กล่าวว่า ที่จริงเรื่องนี้เป็นไปตามหลักสากล เป็นการพิจารณาลับหลังในเฉพาะกรณีที่จำเลยหลบหนี จากเดิมที่ไม่สามารถพิจารณาลับหลังได้เลย เพราะต้องเปิดโอกาสให้จำเลยได้ซักค้านพยานของอีกฝ่าย ต่อมาเมื่อเห็นว่ามีทนายมาซักค้านแล้ว จำเลยจึงไม่จำเป็นต้องมาที่ศาลก็ได้ โดยศาลสามารถพิจารณาลับหลังได้ โดยลับหลังในที่นี้คือให้โอกาสจำเลยเดินทางมาศาลหรือไม่ก็ได้

"ภายหลังมาเจอประเภทจำเลยหนี ซึ่งหลักกฎหมายคือพิจารณาไม่ได้ และหลายประเทศจึงได้เปลี่ยนแปลงกฎหมายใหม่ ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้แก้ไขกฎหมายในหลายฉบับ เช่น วิธีพิจารณาคดีทุจริต กำหนดว่าถ้าหนีต้องออกหมายจับ ถ้าจับไม่ได้ ก็สามารถพิจารณาลับหลังได้" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยวิจารณ์ว่า การแก้กฎหมายดังกล่าวมุ่งไปที่ตัวอดีตนายกรัฐมนตรีทั้งนายทักษิณ ชินวัตร และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่ใช่อย่างนั้น แต่ทางพรรคเพื่อไทยอาจจะเข้าใจอย่างนั้น ทั้งนี้ ในอดีตเคยมีกรณีที่ขอประกันตัวแล้วหลบหนี เป็นจำนวนมาก ทำให้คดีหยุดชะงัก และยิ่งเป็นคดีที่มีผู้กระทำผิดหลายคน ก็จะยิ่งทำให้ยุ่งยาก จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมามีบทเรียนจากคดีในอดีตหลายคดี จึงได้นำมาสู่การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และในหลายประเทศก็ได้มีการแก้ไขกฎหมายเช่นเดียวกัน ซึ่งกรณีของอดีตนายกฯก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ว่ามีพฤติการลักษณะนี้เกิดขึ้น แต่เรื่องเหล่านี้ได้มีการคิดกันมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาคิด เพราะเมื่อครั้งที่ตนเป็นรองนายกฯครั้งแรก ในสมัยที่นายทักษิณ เป็นนายกฯ ก็มีการเสนอ