'กรมชลฯ' เตรียมพร้อมรับมือพายุโซนร้อน 'ตาลัส'

'กรมชลฯ' เตรียมพร้อมรับมือพายุโซนร้อน 'ตาลัส'

"กรมชลประทาน" สั่งทุกหน่วยเตรียมรับมือพายุโซนร้อน "ตาลัส" พร้อมกำชับแจ้งเตือนพ่อเมืองทุกจังหวัดเตรียมรับสถานการณ์น้ำ

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาวะอากาศและสถานการณ์น้ำของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) พบว่าในช่วงวันที่ 17-23 กรกฎาคม 2560 ซึ่งมีพายุโซนร้อน "ตาลัส" ประเทศไทยจะมีฝนมากขึ้นสำหรับภาคเหนือตอนบนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 17-19 ก.ค.60 บริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่งผลให้แม่น้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานีC.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 1,280 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)ต่อวินาที แนวโน้มลดลงเล็กน้อย ประกอบกับปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังที่จะไหลมาสมทบมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเริ่มทรงตัว กรมฯได้ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 1,166 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้ยังคงมีน้ำท่วมที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำนอกคั้นกั้นน้ำบางพื้นที่ ในเขตอ.เสนา อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งกรมชลประทาน ได้ทำการควบคุมปิด-เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้รวดเร็วยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำยมบริเวณจ.แพร่ ระดับน้ำในแม่น้ำยมที่สถานี Y.20 บ้านห้วยสัก อ.สอง ลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียง 353 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 6.58 เมตร ซึ่งปริมาณน้ำก้อนใหญ่ได้ไหลผ่านลงสู่เขตเทศบาลเมืองแพร่แล้ว ในช่วงเช้าของวันที่19 กรกฎาคม วัดปริมาณน้ำที่สถานี Y.1C บ้านน้ำโค้ง อ.เมืองแพร่ได้ 724 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.76 เมตร ไม่มีเหตุการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งในเขตจ.แพร่แต่อย่างใด

ส่วนปริมาณน้ำในแม่น้ำยมจากจ.แพร่ จะไหลลงสู่จ.สุโขทัยเป็นลำดับต่อไป คาดว่าปริมาณน้ำจะมาถึงบริเวณ จ.สุโขทัยประมาณวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ กรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำหลากลุ่มน้ำยม ก่อนไหลลงสู่ตัวเมืองสุโขทัย ดังนี้ 1. เร่งระบายน้ำบริเวณเหนือประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ 2. เร่งระบายน้ำในคลองยมน่าน แม่น้ำยสายเก่า แมน้ำยมสายหลัก ลงสู่แม่น้ำน่านให้เร็วที่สุด 3. เมื่อปริมาณน้ำจำนวนมากจากสถานี Y.14 อ.ศรีสัชชนาลัย ไหลลงมาถึงบริเวณประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ จะทำการชะลอน้ำ โดยผันน้ำเข้าคลองผันน้ำสวรรคโลก-พิชัย (ยม-น่าน) ผ่าน ปตร.หกบาท ในอัตรา 100 ลบ.ม.ต่อวินาที ลงสู่แม่น้ำน่านและใช้พื้นที่ว่างเหนือปตร.บ้านหาดสะพานจันทร์ ชะลอน้ำและควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านลงมาถึงสถานี Y.4 ในอัตราไม่เกิน 500 ลบ.ม./วินาที พร้อมกันนี้ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังจังหวัดสุโขทัย ให้เสริมกระสอบทรายในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัย บริเวณที่ยังก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่งไม่แล้วเสร็จ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะมาถึงอีกประมาณ 4 วันข้างหน้า

ทั้งนี้ ได้ให้โครงการชลประทานจังหวัดทุกจังหวัด แจ้งสถานการณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำ สำหรับในส่วนกลางกรมชลประทานได้ประสานกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เพื่อให้แจ้งเตือนผู้ว่าราชการจังหวัดอีกทางหนึ่งด้วย

นายทองเปลว กล่าวว่า สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ วันที่ 19 กรกฎาคม มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 42,954 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 57% ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 8,873 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ 19,135 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 37% สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 32,200 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 11,708 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47% ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 2,958 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 5,012 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 28% สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 13,100 ล้าน ลบ.ม.