ธปท.มั่นใจไร้ ‘วิกฤติแบงก์’ ซ้ำปี40

ธปท.มั่นใจไร้ ‘วิกฤติแบงก์’ ซ้ำปี40

ธปท.มั่นใจไร้ "วิกฤติแบงก์" ซ้ำปี40 แนวโน้ม ‘เอ็นพีแอล’ เพิ่ม แต่ธนาคารพาณิชย์กันสำรองเต็มที่

“แบงก์ชาติ” เผยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ยังโตต่อเนื่อง สะท้อนกิจกรรมเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ขณะเอ็นพีแอลปรับขึ้นบ้าง แต่ยังไม่น่าห่วง เหตุธนาคารพาณิชย์กันสำรองเต็มที่ ทั้งฐานะการเงินแกร่ง ยังไม่พบความเสี่ยงเหมือนช่วงวิกฤติ ด้าน “ซีไอเอ็มบีไทย” มั่นใจผลดำเนินงานปีนี้พลิกฟื้น เผยครึ่งปีแรกกวาดกำไรแล้ว 477 ล้าน เติบโต 30%

นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ยังมีการเติบโต และเติบโตในอัตราที่ดีกว่าปีก่อนหน้า สะท้อนว่าเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้มีความต้องการใช้สินเชื่อ

ส่วนเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) นั้น แม้ว่าภาพรวมจะยังมีการปรับขึ้น แต่ก็ไม่ได้น่าเป็นห่วง เพราะธนาคารพาณิชย์มีการตั้งสำรองรองรับ ขณะที่ฐานะทางการเงินของธนาคารก็แข็งแกร่ง ฐานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS Ratio ก็อยู่ในระดับสูง

“เราก็คอยดู และติดตามสถานการณ์สินเชื่อเป็นรายเซ็คเตอร์ ซึ่งในส่วนของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น ก็ไม่ได้พบความเสี่ยงในแง่ที่เป็นจุดเปราะบางเหมือนช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540"

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในงวด 6 เดือนแรกปีนี้ ธนาคาร มีกำไรสุทธิ 477.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 110.6 ล้านบาท หรือ 30.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แม้ว่ารายได้จากการดำเนินงาน ลดลง 1.6 % แต่ธนาคารมีการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 2% ในขณะที่สำรองหนี้สูญลดลง 6.2%

“ผลการดำเนินงานงวดครึ่งปีออกมาน่าพอใจ กำไรสุทธิปรับตัวดีขึ้นจากส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง ในขณะที่รายได้จากการดำเนินงานทรงตัว เงินให้สินเชื่อสุทธิลดลงเล็กน้อย เนื่องจากมีการชำระคืนสินเชื่อรายใหญ่และการปรับพอร์ตโฟลิโอ ด้านคุณภาพสินทรัพย์มีการปรับตัวที่ดีขึ้น ทั้งนี้ธุรกิจลูกค้ารายย่อย ธุรกิจลูกค้ารายใหญ่ และธุรกิจบริหารเงินของธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ดี ในขณะที่ธุรกิจพาณิชย์ธนกิจมีแนวโน้มเติบโตดีหลังปรับโครงสร้าง โดยภาพรวมผลประกอบการในปีนี้ ธนาคารน่าจะพลิกกลับมามีกำไรได้”

ในส่วนรายได้จากการดำเนินงานลดลง สาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของรายได้อื่น 41.7% เนื่องจากการลดลงของกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศและกำไรสุทธิจากเงินลงทุน ซึ่งชดเชยด้วยการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจำนวน 158.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 21.5 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมบริการที่ปรึกษา รายได้ธุรกรรมเช่าซื้อและค่าธรรมเนียมจากการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้น และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 101.1 ล้านบาท หรือ 2.1% เป็นผลจากการลดลงของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย

ด้านเงินให้สินเชื่อสุทธิ ณ 30 มิ.ย. 2560 2.02 แสนล้านบาท ลดลง 2% เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่ผ่านมา กลุ่มธนาคารมีเงินฝากอยู่ที่ 2.07 แสนล้านบาท ลดลง 7.4% จากสิ้นปี 2559 มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 1.13 หมื่นล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ 5.4% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 6.1% มีสาเหตุหลักจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในไตรมาสแรก ประกอบกับธนาคารมีมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และการแก้ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับปรุงแนวทางในการเรียกเก็บหนี้จากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีอยู่

ขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 84% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 77.3% นอกจากนี้เงินสำรองของกลุ่มธนาคาร อยู่ที่จำนวน 9.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำนวน 3.3 พันล้านบาท