'ครม.' ตั้ง 'กพยจ.' เน้นเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

'ครม.' ตั้ง 'กพยจ.' เน้นเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

ที่ประชุม ครม. เห็นชอบหลักการตั้ง "กพยจ." เสนอแผนยุทธศาสตร์จังหวัดสร้างเสริมปชช.ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม. ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ การแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมระดับจังหวัด (กพยจ.) ตามที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติเสนอ และให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และสำนักงบประมาณรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ องค์ประกอบของกพยจ.ประกอบด้วย อัยการจังหวัดเป็นที่ปรึกษา ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย ปลัดจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด ฝ่ายทหาร ประธานสภาทนายความจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้บัญชาการการเรือนจังหวัด ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัด คณบดีคณะนิติศาสตร์หรือหัวหน้าภาควิชานิติศาสตร์ที่มีการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาในจังหวัด โดยเลือกกันเอง จำนวน 1 คน (ถ้ามี) ผู้แทนอาสาสมัครในพื้นที่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งไม่เกิน 4 คน โดยมี ยุติธรรมจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ เจ้าหน้าที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดที่ยุติธรรมจังหวัดมอบหมาย จำนวน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

พ.อ.หญิง ทักษดา กล่าวว่า อำนาจหน้าที่ของกพยจ. คือ เสนอแผนการดำเนินการไปสู่แผนยุทธศาสตร์ของจังหวัด แผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด รวมทั้งบูรณาการงบประมาณในระดับพื้นที่ , บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน และประชาชนในการแก้ไขฟื้นฟู ติดตามดูแล ช่วยเหลือและสงเคราะห์ผู้กระทำผิดในชุมชนที่เหมาะสมในจังหวัดและสอดคล้องกับสถานการณ์ของจังหวัด ตลอดจนเป็นหน่วยงานในการประสานงานเพื่อสนับสนุนงบประมาณและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ , กำหนดแนวทางในการส่งเสริม สนับสนุนในส่วนราชการหน่วยงาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เสริมสร้างให้ประชาชนในจังหวัดเข้าถึงการบริการในกระบวนยุติธรรม รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการในกระบวนการยุติธรรม

นอกจากนั้นจะกำหนดแนวทางการป้องกัน เฝ้าระวังปัญหาอาชญากรรม การทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ และการกระทำผิดกฎหมายต่าง ๆ ในจังหวัด รวมถึงการแจ้งเบาะแสข้อมูลการกระทำผิดกฎหมาย , ประสาน กำกับ ดูแลเกี่ยวกับการเชื่อมโยงฐานข้อมูล เช่น ข้อมูลระบบงาน ข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย ฯ ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด , กำกับ ติดตามและรายงานผลการดำเนินการเสนอข้อคิดเห็นเพื่อปรับปรุงมาตรการ กลไกในการดำเนินการให้คณะอนุกรรมการภายใต้ กพยช. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรายงานต่อ กพยช. ทราบและพิจารณา , แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน หรือศูนย์ขับเคลื่อนการดำเนินงาน กพยช. เพื่อสนับสนุนการดำเนินการอื่นใดเพื่อให้การดำเนินการเกิดเป็นรูปธรรมและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ , ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่ไดรับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีคณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม