ย้อนรอย‘เขามโนราห์’ ไขปริศนาภาพเขียนสี 3,000 ปี

ย้อนรอย‘เขามโนราห์’ ไขปริศนาภาพเขียนสี 3,000 ปี

แม้ปมสังหารครอบครัวผู้ใหญ่วรยุทธ สังหลัง ผู้ใหญ่บ้านกลาง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ จะคลี่คลายลงแล้ว แต่ชื่อ ‘เขามโหราห์’ ที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อหลายวันก่อนในสถานะเงื่อนปมหนึ่งกลับยังคงทิ้งร่องรอยให้น่าติดตาม

เทือกเขามโนราห์ หรือเทือกเขาขาว ประกอบด้วยภูเขา 3 ลูก คือ เขามโนราห์ เขาถ้ำช้างนอก และเขาเหล็กไฟ อยู่ในพื้นที่หมู่ 2 และ หมู่ 3 ต.บ้านกลาง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ภูเขาหินปูนลูกนี้ตั้งโดดเด่นเป็นฉากหลังของเรื่องราวความขัดแย้งในพื้นที่มานานหลายปี นับตั้งแต่ประทานบัตรใบแรกเปิดทางสู่การสัมปทานโรงโม่หิน

ทว่า ท่ามกลางเสียงคัดค้านและสนับสนุนที่แบ่งผู้คนออกเป็นสองฝ่าย การสำรวจพื้นที่ทั้งบนเขาและในถ้ำก็ถูกนับหนึ่งนับจากนั้น

นิวัฒน์ วัฒนยมนาพร อดีตประธานสภาวัฒนธรรมเมืองกระบี่ ซึ่งปัจจุบันทำงานให้กับเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนบ้านเขากลม เท้าความว่าในปี พ.ศ.2555 เมื่อชาวบ้านรู้ข่าวว่าจะมีการทำโรงโม่หินก็เริ่มคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่ายังไม่มีการประชาพิจารณ์และมีการปลอมแปลงเอกสารบัตรประชาชน จนเป็นเหตุให้นายทุนไล่ฟ้องร้องชาวบ้าน

“หลังจากนั้นชาวบ้านทางอ่าวลึกก็เข้ามาปรึกษาผมว่า ละแวกนั้นควรจะมีการตรวจสอบทั้งด้านธรรมชาติและโบราณคดี เพราะที่ผ่านมาเขาไม่ได้ดูว่าเป็นพื้นที่สมบูรณ์แค่ไหน เป็นแหล่งน้ำหรือไม่ เขาอ้างว่าเป็นแหล่งหิน คือคุณภาพป่าแถวนั้นเสื่อมสภาพหมดแล้ว อ้างกันว่ามีต้นไม้ไม่กี่ต้น ไม่มีถ้ำ พอสู้กันจริงๆ ตรวจสอบจริงๆ ปรากฏว่าพื้นที่นี้อยู่ในป่า ถ้ำก็เยอะแยะนับสิบแห่ง และขุดเจอโบราณวัตถุต่างๆ ด้วย”

นิวัฒน์บอกว่าหลังจากเข้าไปสำรวจในพื้นที่ก็พบทั้งเศษกระดูก ภาชนะดินเผา เครื่องมือหิน และภายในถ้ำมโนราห์เองก็มีภาพเขียนสีอยู่หลายสิบรูป จึงไปแจ้งต่อกรมศิลปากร

“ที่จริงชาวบ้านเคยเห็นที่นี่มาอยู่แล้ว แต่ไม่ได้คิดถึงว่าต้องประสานกับกรมศิลปากร ผมซึ่งทำงานด้านวัฒนธรรมอยู่แล้ว ก็เลยรายงานทางกรมศิลป์ เขาเลยส่งผู้เชี่ยวชาญลงมาดู”

 

ภาพเก่าเล่าอดีตยุคหินใหม่

เส้นทางเล็กๆ ลัดเลาะผ่านหมู่บ้าน สวนยาง สวนปาล์ม ก่อนจะไปสิ้นสุดที่เชิงเขามโนราห์ สมชาย ณ นครพนม อดีตนักโบราณคดีผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร หนึ่งในทีมสำรวจที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่ตั้งแต่ปลายปี 2556 ย้อนความทรงจำว่า ทุกคนต้องมุดรั้วของชาวบ้าน และเดินขึ้นเขาไปอีกระยะหนึ่งจึงจะถึงถ้ำมโนราห์

“คือทางสำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต ช่วงนั้นยังไม่ได้ยุบ เขาบอกว่าเคยสำรวจกลุ่มเขาขาวที่จังหวัดกระบี่ พบลักษณะคล้ายๆ กับภาพเขียนสีบนผนังถ้ำอยู่สองสามถ้ำ แล้วก็มีพวกเศษเครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือหิน เศษกระดูกสัตว์ เปลือกหอย ขอให้ไปช่วยดูอีกทีว่ามันจะมีความสำคัญอย่างไร หรือว่ามันจริงไหม เพราะว่าผมเคยออกสำรวจพวกภาพเขียนสีอยู่บ้าง ในภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ก็ไปร่วมกับเขาบ้างบางครั้ง ก็เดินทางไป”

ถ้ำแรกที่ทีมสำรวจได้เข้าไปชมคือ ถ้ำมโนราห์ สูงจากพื้นดินประมาณ 15 เมตร ด้านในมีเพิงผาที่มีภาพเขียนลักษณะเป็นเส้นสีแดงลายเรขาคณิต

“ในเส้นตรงก็จะมีเส้นไขว้ขนานบ้าง ซึ่งพบอยู่ 2 - 3 ที่ ไม่ได้มากมายเหมือนกับที่เราเคยเห็นในถ้ำอื่นๆ ในจังหวัดกระบี่ ซึ่งร่องรอยอันนี้นักโบราณคดีหรือคนที่ดูเป็นก็จะดูออกว่าเป็นภาพเขียนที่เกิดจากร่องรอยของมนุษย์ทำ เพราะว่ามันเป็นเส้นตรง เรขาคณิต ถ้าเกิดจากธรรมชาติมักจะเป็นลักษณะไหลย้อยเป็นน้ำเป็นร่องอะไรต่างๆ แต่นี่มันจงใจ เราก็ถ่ายรูปไว้”

นอกจากภาพเขียนสีแล้ว บนพื้นยังพบหลักฐาน เช่น เปลือกหอย กระดูกสัตว์ ซึ่งบางส่วนสำนักศิลปากรได้เก็บไปก่อนหน้านั้นแล้ว ที่น่าสนใจคือเศษกระดูกสัตว์ที่พบมีร่องรอยของการทำลายด้วยการหักหรือตัด ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะใช้ในการกินหรืออยู่อาศัย

“เศษหินพวกหินกะเทาะก็น่าสนใจ เพราะว่ามันเป็นถ้ำซึ่งอยู่ค่อนข้างสูงจากพื้นดิน แล้วหินกะเทาะที่พบ ลักษณะหินไม่ใช่หินปูน เป็นหินที่นำขึ้นมาจากแม่น้ำหรือจากที่อื่น ลักษณะเป็นหินแข็ง แสดงว่าต้องมีการนำขึ้นมาใช้ในกิจกรรมของคนโบราณ และด้วยความที่อยู่ใกล้ๆ กับแหล่งน้ำ เป็นลำห้วย ก็เป็นได้ว่าคนสมัยโบราณเขาอาจมาอยู่ที่นี่เป็นการชั่วคราว เช่นพักพิงชั่วคราว พักระหว่างเดินป่าล่าสัตว์หรืออะไรต่างๆ มาพักผ่อน กินอาหาร แล้วก็มาเขียนภาพเขียนสีบ้าง”

ตามความเห็นของนักโบราณคดีท่านนี้ เป็นไปได้ว่าคนยุคนั้นอาจมีที่พักอาศัยในสองพื้นที่ตามความเหมาะสมของฤดูกาล เช่นในฤดูร้อนจะพักตามที่ราบเชิงเขา หาอาหารตามชายน้ำ ส่วนฤดูหนาวหรือฤดูฝนจะอาศัยในถ้ำ ส่วนภาพเขียนสีนั้นไม่ชัดเจนว่าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมหรือเขียนขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไร

“ในภาคใต้รูปเรขาคณิตพบค่อนข้างเยอะ แล้วบางแห่งอย่างถ้ำมโนราห์ก็คล้ายกับที่ผมไปสำรวจแถวๆ ชุมพร ที่สำนักสงฆ์เขาขุนกระทิง เมื่อสักเกือบ 20 ปีก่อน คือเป็นเส้นขนานๆ แล้วมีลายไขว้ๆ เหมือนตาข่าย เหมือนแห แต่เราก็ยังไม่แน่ใจ ยังตีความไม่ออกว่ามันหมายถึงอะไร เครื่องมือจับสัตว์ หรือแห หรือเป็นอะไร หรือเป็นประเภทสัญลักษณ์ที่บอกถึงที่อยู่อาศัย เส้นทาง ก็เป็นได้”

แม้ว่าการสำรวจครั้งนั้นจะยังไม่เพียงพอที่จะอธิบายขยายความร่องรอยในอดีต แต่จากการประเมินโดยอ้างอิงหลักฐานที่พบ อาทิ เครื่องมือหินกะเทาะ เศษภาชนะดินเผา ก็ทำให้ได้ข้อสันนิษฐานที่ว่า แหล่งโบราณคดีแห่งนี้น่าจะมีอายุไม่น้อยกว่า 3,000 ปี อยู่ในยุคหินใหม่

“เป็นการประเมินกว้างๆ เพราะยังไม่ได้มีการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ หรือขุดค้นเพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติม แต่เทียบยุคสมัยโดยใช้เครื่องมือเป็นตัวกำหนด ก็จะเป็นยุคหินใหม่ ซึ่งอาจจะต่อเนื่องจากพวกหินกะเทาะ นอกจากนี้เครื่องปั้นดินเผาก็บอกได้อย่างหนึ่งว่ากลุ่มชนนี้มีวัฒนธรรมในการกักเก็บอาหารอะไรต่างๆ น่าจะอยู่ประมาณ 3,000 ปี ราวๆ นั้น” สมชาย กล่าวและว่า...ถึงจะไม่มีความชัดเจนหรือมีหลักฐานมากมายเหมือนแหล่งอื่นๆ แต่ก็มีความสำคัญไม่น้อยกับการศึกษาทางด้านโบราณคดี

อาถรรพ์เขามโนราห์?

อาจจะไม่ใช่เรื่องลี้ลับหรือคำสาปแช่งอะไร แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของเขามโนราห์คือสิ่งที่ชาวบ้านเชื่อถือต่อกันมาหลายชั่วอายุคน

โดยเฉพาะชื่อ ‘มโนราห์’ มีตำนานพื้นบ้านเล่าว่า สมัยก่อนเคยมีคณะมโนราห์ที่จะไปแสดงที่พระธาตุนครศรีธรรมราชและได้เรี่ยไรเงินสิ่งของมีค่าติดตัวไปด้วย ระหว่างทางได้มาพักที่ถ้ำแห่งนี้แล้วเกิดเสียชีวิตทั้งหมด กลายเป็นคำร่ำลือถึงสิ่งลี้ลับที่อยู่ในถ้ำ

ส่วนอีกความเชื่อหนึ่งที่เล่าต่อๆ กันมาก็คือ ถ้ำนี้เคยมีสระน้ำใหญ่ที่มีกินรีตัวเล็กๆ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า มโนราห์ มาเล่นน้ำในถ้ำ จึงเรียกกันต่อมาว่าถ้ำมโนราห์ ซึ่งไม่เพียงมีคุณค่าทางจิตใจ ยังเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของชุมชนในแถบนี้่ด้วย

และเมื่อมีการค้นพบว่าภายในถ้ำมีทั้งภาพเขียนสีและโบราณวัตถุต่างๆ ชาวบ้านก็ยิ่งมีความหวงแหน กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2558 กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตกลุ่มเทือกเขาขาว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเทือกเขามโนราห์เป็นโบราณสถานเขาขาว จึงกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำ่ให้สถานที่แห่งนี้รอดพ้นจากการบุกรุกทำลาย โดยเฉพาะการทำโรงโม่หิน

“เมื่อพบว่าเป็นแหล่งโบราณคดี ชาวบ้านช่วยกันดูแลอย่างดี ทุกปีๆ ในวันมรดกโลก พวกเขาจะเข้าไปในพื้นที่ ถ้าพบร่องรอยต่างๆ ที่ใครไปทำลายก็พยายามตักเตือนกัน พอเจอโบราณวัตถุก็จะมาแจ้งผม แจ้งกรมศิลปากร และแจ้งตำรวจ ปัจจุบันเราจึงเจอแหล่งโบราณคดีมากมายในละแวกนี้ทั้งบ้านเขากลมและบ้านเขางาม” นิวัฒน์ กล่าวด้วยความภูมิใจ

ถึงอย่างนั้น หลายปีที่ผ่านมาแหล่งโบราณคดีแห่งนี้กลับถูกทิ้งร้าง ภาพเขียนสีเริ่มจางไปตามกาลเวลา ร่องรอยการถูกทำลายเริ่มพบเห็นมากขึ้น คำถามคือ สังคมจะปล่อยให้หลักฐานนี้สูญหายไปพร้อมๆ กับความสนใจใครรู้ที่เริ่มจะจางลงหรือไม่

 

มากกว่ารำลึกคือเรียนรู้

ใครคือคนที่อยู่ตรงนี้เมื่อหลายพันปีก่อน และอยู่กันอย่างไรภายใต้สภาพแวดล้อมเช่นในอดีต คือสิ่งที่คนรุ่นปัจจุบันควรได้เรียนรู้จากหลักฐานที่หลงเหลือ เช่นเดียวกับร่องรอยต่างๆ ที่ปรากฏ ณ เขามโนราห์ ซึ่งยังรอการศึกษาอย่างรอบด้าน

"แค่ถ้ำ 3 ถ้ำที่อยู่ในเขาเดียวกันก็บ่งบอกแล้วว่ามันมีความต่อเนื่องกัน ในถ้ำที่อยู่ด้านในซึ่งใช้ชื่อว่า เขาขาว 3 มีภาพเขียนคล้ายๆ รูปคนย่อเข่านิดๆ ซึ่งเหมือนกับที่ถ้ำผีหัวโต แต่ว่าไม่ได้นุ่งผ้า ลักษณะการเขียนเป็นแบบกิ่งไม้ เป็นเส้น มีหัว มีแขน มีความหนาของตัว มีขา แล้วก็ย่อตัวเหมือนกับกำลังจะเต้นรำ หรือแสดงท่าทางที่มีการเคลื่อนไหว ถ้ามีการสำรวจลึกเข้าไปหรือมีการขุดค้นก็น่าจะพบหลักฐานที่เป็นประโยชน์อีกมาก เพราะทั้งแนวเขาขาวทั้งหมดเป็นแหล่งที่ค่อนข้างจะสำคัญ"

ความสำคัญนี้ สมชายบอกว่าไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยว แต่เชื่อมโยงกับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ในภาคใต้ เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ที่ปะติดปะต่อภาพในอดีต หากขาดชิ้นใดชิ้นหนึ่งไปย่อมไม่สมบูรณ์

“อย่างเช่นเราพบแหล่งโบราณคดีที่ถ้ำผีหัวโต จังหวัดกระบี่ ก็จะมองไปถึงภาพรวมกว้างๆ ด้วยว่า ในเชิงการอยู่อาศัย วัฒนธรรมการกระจายตัวเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งเบื้องต้นที่เขาขาวนี่น่าจะสัมพันธ์กับถ้ำผีหัวโต จังหวัดกระบี่ หรือถ้ำทางภาคใต้ทั้งหลาย ที่อ่าวลึก ที่ชุมพร ไล่ขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะตรงนี้ถึงแม้จะเป็นเขาลูกกระโดด 3 ลูก แต่เมื่อดูภาพรวมแผนที่ใหญ่ ก็จะมีเขาอย่างนี้กระจายตัวไปเรื่อยๆ เพียงแต่การสำรวจอาจจะยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด”

“จิกซอว์เหล่านี้ถ้าเอามาประกอบกันได้ ก็จะทำให้เรารู้ว่าคนในอดีตเดินทางติดต่อกันตลอดเวลา แสดงว่าบนพื้นที่ประเทศไทยเรามีชุมชนอยู่อาศัยอยู่มานาน ไม่ได้ขาดช่วงไปไหน แต่มีการเคลื่อนย้ายไปตามแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์”

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์สุ่มเสี่ยงต่อการที่หลักฐานต่างๆ จะถูกทำลายไปทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ การอนุรักษ์ให้คงสภาพเดิมมากที่สุดถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

"ภาพเขียนตรงนี้อาจไม่สมบูรณ์เหมือนที่อื่นๆ แต่ก็เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ทำให้เห็นกิจกรรมของมนุษย์เมื่อ 3,000 กว่าปีซึ่งยังไม่มีอักษรเขียนบันทึกไว้ ควรมีการอนุรักษ์เพื่อศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม"

ในมุมนี้การอนุรักษ์ไม่ได้หมายความว่าต้องกันชาวบ้านออกไป เพียงแต่ต้องมีรูปแบบการจัดการที่เหมาะสมได้ประโยชน์ทั้งในแง่การศึกษาและเศรษฐกิจชุมชน โดยอาจใช้ศักยภาพของพื้นที่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ซึ่งจัดการโดยชุมชน ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้ความสำคัญของแหล่งโบราณคดีในบ้านเกิดของตนเองด้วย

“จริงๆ ชาวบ้านหรือองค์กรท้องถิ่นควรอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีนี้ไว้ในเรื่องของการศึกษา เรื่องของประวัติศาสตร์พื้นที่ เพื่อใช้เป็นความรู้ท้องถิ่น เพราะที่นี่อายุตั้งสองสามพันปีมาแล้ว มันน่าจะสัมพันธ์กับความภาคภูมิใจของเขา แถวนี้มีคนมาอยู่นานแล้วนะ ให้เด็กๆ ได้มาเรียนรู้ เป็นการปลูกฝังให้เขาช่วยกันรักษาดูแลต่อไป”

เพราะสุดท้ายหลักฐานอันน่าภาคภูมิใจเหล่านี้จะกลายเป็นรากฐานที่แข็งแรงของชุมชนที่อาศัยสืบเนื่องกันมา