ปั่นกับโปร ปั่นกับ FUJI

ปั่นกับโปร ปั่นกับ FUJI

ตลอดระยะทางที่อยู่กับ ‘รถระดับโปร’ เป็นความสนุกบนเส้นทางที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง

            ว่ากันว่าจักรยานเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่ผู้เล่นโกงสมรรถภาพทางร่างกายได้ยากมาก คือ ถ้าอ่อนซ้อม หรือไม่ฟิตจริง ก็จะสะท้อนออกมาผ่านการปั่นเลย เช่น อาจเป็นตะคริวง่ายมาก หรือหมดแรงก่อนเวลาอันควร เพราะฉะนั้นนักปั่นที่เอาจริงเอาจังจึงต้องขยันซ้อมเท่าที่จะทำได้ แต่ถ้าการซ้อมเป็นไปแบบเรื่อยเปื่อย อาจจะได้ผลลัพธ์ไม่เต็มร้อย

            ดังนั้น บริษัท อินเตอร์ไบค์ ไทยแลนด์ ผู้นำเข้าจักรยานหลายยี่ห้อดัง หนึ่งในนั้นคือจักรยาน FUJI ซึ่งในบ้านเรารู้จักกันในฐานะจักรยานตลาดกลางๆ ทั้งที่จริงแล้วยี่ห้อนี้มีรถในกลุ่ม Performance ที่ใช้ในระดับแข่งขันอยู่หลายรุ่นทีเดียว และในบ้านเราก็มีทีมโปรที่ใช้จักรยาน FUJI แข่งขันอีกด้วย เมื่อทางผู้นำเข้าจัดทริปสักทริปจึงจัดหนักด้วยเส้นทางที่ทั้งสวย แต่ท้าทายความสามารถของนักปั่น ที่สำคัญได้ปั่นร่วมกับโปรของ FUJI เรียกได้ว่าได้ทั้งเรียนรู้เทคนิค ได้ทั้งชมเส้นทางสวยงาม และได้ลับฝีเท้า

            สำหรับทริป Fuji Be Pro Be Champion 2017 ครั้งที่ผ่านมา เลือกเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นเส้นทางปั่น ด้วยระยะทาง 72 กิโลเมตร ที่ทางผู้จัดบอกว่าเป็นเส้นทางธรรมชาติที่สวยที่สุดของเมืองพัทยา ซึ่งไม่เคยมีใครจัดทริปแข่งขันมาก่อน นี่จึงเป็นการเปิดเส้นทางและประสบการณ์ใหม่สำหรับหลายคน โดยเริ่มรวมพลเตรียมปั่นกันที่สนามกอล์ฟ Pattaya Country Club แค่จุดสตาร์ทก็ร่มรื่นจนจิตวิญญาณนักปั่นลุกโชนแล้ว

            แม้จะใช้คำว่า ‘การแข่งขัน’ และแบ่งออกเป็น 2 รุ่น คือ Amateur (ความเร็วเฉลี่ย 28 กม./ชม.) และ Elite (ความเร็วเฉลี่ย 35 กม./ชม.) แต่ปีนี้แตกต่างจากปีก่อนคือ ไม่เน้นผลการแข่งขัน เพื่อให้นักปั่นทุกกลุ่มมีโอกาสปั่นและเรียนรู้ไปกับโปรอย่างแท้จริง จึงไม่แปลกที่งานนี้จะมีทั้งนักปั่นสายแข่ง สายท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งรถเล็ก

            แต่ทันทีที่สิ้นเสียงปล่อยตัว จิตวิญญาณนักแข่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในทุกคนก็เผยออกมา แม้ไม่ใช่ระดับความเร็วแบบแข่งขันเอาเป็นเอาตาย แต่ทุกคนดูมุ่งมั่นที่จะเกาะกลุ่มไปกับมืออาชีพให้ได้

            ไม่ทันจะไปไหนไกล แค่ออกจากสนามกอล์ฟเข้าสู่ถนนเล็กๆ ที่ชาวบ้านใช้สัญจร กองทรายร่วนซุยหลายกองก็ทำให้หลายคนตุปัดตุเป๋ เสียจริตถึงขั้นบางคนต้องลงจากอานแล้วเข็นผ่านกองทรายไปเพื่อความปลอดภัย นี่เป็นจุดแรกที่คัดตัว ‘กลุ่มนำ’ และ ‘กลุ่มตาม’ แน่นอนว่าพิษสงกองทรายทำให้ผมกลายเป็นผู้ตามไปในทันที...แต่จะกลัวอะไร ปั่นไปให้สุดแรงเดี๋ยวก็ถึง

            และครั้งนี้ถือว่าโชคดีที่ทางอินเตอร์ไบค์ ไทยแลนด์ ได้ให้ยืมจักรยานระดับแข่งขัน FUJI รุ่น SL 2.1 Disc มีจุดเด่นเรื่องน้ำหนักเบาตามชื่อรุ่นว่า SL ย่อมาจาก Super Light ด้วยองค์ประกอบหลายอย่างทำให้รถคันนี้ได้ชื่อว่าเป็นรถสายไต่เขาที่เบาที่สุดจากค่ายนี้ เมื่อปีที่แล้ว (2016) ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 5 จักรยานที่เบาที่สุดอีกด้วย

            ด้วยเส้นทางที่เป็นเนินเขาขึ้น-ลงเกือบทั้งหมด ผ่านเรือกสวนไร่นาและชุมชนเล็กๆ หลายชุมชน แม้ถนนจะค่อนข้างดี แต่ก็มีบางช่วงขรุขระจากการที่รถบรรทุกพืชผลทางการเกษตรใช้เส้นทาง จึงได้ดึงศักยภาพของรถคันนี้ออกมาเต็มที่

            ช่วงแรกเส้นทางค่อนข้างราบและไหลลงไม่ชันมาก มีขรุขระบ้าง พอให้เฟรมที่ผลิตจากคาร์บอน C10 ultra high-modulus ได้โชว์การซับแรง ปั่นไปด้วยความรู้สึกนุ่มๆ เนียนๆ ไม่สะท้านมากนัก แต่เส้นทางไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ราบเรียบจนน่าเบื่อ เพราะจากทางราบปั่นง่าย ไม่นานนักก็เริ่มเจอเนินซึม บางช่วงชันพอสมควร แต่ไม่มากถึงขั้นไต่เขา จากการปั่นเพื่อทำความเร็วได้ก็เริ่มถูกปรับมาเป็นการควงขาและยืนโยกบ้าง

            ด้วยความที่สเป็กรถรุ่นนี้ให้ชุดขับเคลื่อน Shimano Ultegra Di-2 มา เรื่องความแม่นยำในการเข้าเกียร์จึงแทบไม่ต้องกล่าวถึง เพราะแม่นยำและนุ่มมืออยู่แล้ว ที่สำคัญยังช่วยรีดน้ำหนักให้รถเบาสมชื่อ และอย่างที่บอกไปว่าหลายครั้งต้องยืนโยกเพื่อขึ้นเนิน ความ stiff (แข็ง) ของรถคันนี้ทำให้ไม่เกิดอาการย้วยเลยแม้แต่น้อย ทั้งที่รถถูกสร้างมาให้บางและเบา

            แต่เส้นทางปั่นก็เหมือนชีวิตคน มีขึ้นย่อมมีลง ยิ่งขึ้นสูงชันเท่าไร เวลาลงก็มีโอกาสจะดิ่งลงเร็วมากเท่านั้น ซึ่งเส้นทางของทริปนี้นอกจากจะอยู่ในพื้นที่พัทยาแล้วก็มีหลายกิโลเมตรที่ไปแตะพื้นที่จังหวัดระยองด้วย แน่นอนว่ายังรักษาธีมที่ว่าเป็นเส้นทางธรรมชาติ เนินเขากับไร่และสวนยังเป็นฉากหลัก ทว่าความสวยงามร่มรื่นก็ต้องแลกมากับความอ้างว้างเพราะตั้งแต่ปั่นมากว่าครึ่งทางแทบไม่เห็นผู้คนสักเท่าไร นัก มีบ้างที่เห็นเกษตรกรขับรถผ่านเพื่อไปยังที่ทำกินของตัวเอง พอคนน้อย หากเกิดอุบัติเหตุย่อมไม่ดีแน่ ยิ่งเป็นทางลงเขาก็ไปกันใหญ่ ความดีงามของการนำดิสก์เบรกเข้ามาใช้ในจักรยานเสือหมอบ หรือจักรยานถนน แม้จะเพิ่มน้ำหนักให้รถมานิดหนึ่ง (ไม่กี่กรัม) แต่ได้ความปลอดภัยมาแทน

            มีหลายช่วงที่ต้องเบรกกะทันหันเพราะเจอหลุม และช่วงลงเนินชันที่เป็นของแสลงสำหรับจักรยานเสือหมอบที่ใช้เบรกแบบจับขอบล้อ เพราะทำให้เกิดความร้อนที่ขอบล้อ มีโอกาสทั้งยางระเบิดและขอบล้อ (คาร์บอน) บวมเสียหาย

            หลังจากเป็นผู้ตามอยู่นานนับชั่วโมง นี่เป็นอีกสิ่งที่อยากเตือนนักปั่นที่ออกทริปใช้ความเร็ว หากไม่อยากหมดกำลังใจ ควรเกาะกลุ่มให้ดี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนำ หรือกลุ่มสอง กลุ่มสาม เพราะการปั่นเป็นกลุ่มจะช่วยทั้งถนอมแรงเมื่อได้คนข้างหน้าและข้างเคียงช่วยบังลม ภาษาจักรยานเรียกว่า ‘หมก’ แต่ทันทีที่หลุดกลุ่ม การเร่งความเร็วเพื่อทันกลุ่มอีกครั้งจะทำให้เสียแรงไปมาก ถ้าเข้ากลุ่มได้ก่อนหมดแรงยังพอมีลุ้น แต่ถ้าหลุดแล้วหลุดเลย ทั้งลมปะทะ ทั้งแรงที่เสียไป 100 เปอร์เซ็นต์ แถมไม่มีแรงดูดจากรถคันหน้า นั่นอาจกลายเป็นทริปดราม่าของคุณเลยก็ได้

            ปั่นเดี่ยวมาแบบมีดราม่าในใจเล็กน้อย เพราะหลุดกลุ่มบ่อยจนค่อยๆ ชิน แต่ในช่วงท้ายที่เป็น KOM (King of Mountian) แม้จะไม่มีลุ้นได้เป็น ‘เจ้าภูเขา’ แล้วก็ตาม ทว่าอยากลองใช้รถไต่เขาให้สุด เลยทั้งยืนโยก และอัดจนหมดที่มี สรุปสั้นๆ ว่า “จุดแข็งของรถคันนี้คือไต่เขา และลงเขาได้อย่างมั่นใจ”

          จบทริปนี้ แม้จะไม่ทันได้เรียนรู้ไปกับโปรจนครบ 72 กิโลเมตร แต่ตลอดระยะทางที่อยู่กับ ‘รถระดับโปร’ เป็นความสนุกบนเส้นทางที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง