จองตั๋วออนไลน์ ‘เพนกวินต์’ บินไกลสุดขอบฟ้า

จองตั๋วออนไลน์ ‘เพนกวินต์’  บินไกลสุดขอบฟ้า

แม้ว่าปัจจุบันการจองตั๋วเครื่องบิน “ออฟไลน์” ยังคงแข็งแรงอยู่ แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าอีกสิบปีจากนี้มันจะกลับขากัน คือถึง 69% ของคนไทยจะหันมาจองผ่านทาง “ออนไลน์”

"เวลานี้มันเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนถ่าย ทราเวลเอเยนซี่หลาย ๆรายยังมีราคาที่ดี ๆอยู่ในมือเมื่อเปรียบเทียบกับออนไลน์ แต่เอเยนซี่แค่รายเดียวไม่สามารถแข่งขันกับออนไลน์ทราเวลเอเยนซี่ (โอทีเอ) หรืออาจไม่มีราคาที่ดีกว่าโอทีเอทั้งหมดได้ ซึ่งถ้าผมสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาตัวหนึ่ง แล้วดึงราคาตั๋วเครื่องบินที่ดีๆ ของแต่ละเอเยนซี่ขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์ม มันจะกลายเป็นแพลตฟอร์มที่นำเสนอราคาที่ดีมากในภูมิภาคนี้"


“กิตติกร กรรณเลขา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย วัน คลิก จำกัด เล่าให้ฟังถึงแนวคิดในการพัฒนา “เพนกวินต์” (Penguint) ที่หวังจะเป็นระบบจองตั๋วเครื่องบินที่เปิดให้ลูกค้าหาราคาตั๋วเครื่องบินที่ดีที่สุด ทั้งมีแพชชั่นลึกๆว่า อยากจะปกป้องตลาดไทย ให้เป็นของทราแวลเอเยนซี่สัญชาติไทย


"ทราเวลเอเยนซี่จะอยู่ยากขึ้น หนึ่งเขาไม่มีเทคโนโลยีสู้กับต่างประเทศ สอง ไม่มีวิธีการทำงานที่เป็นแบบสตารท์อัพที่ผิดพลาดได้ เทสต์ก่อน ล้มเร็วลุกเร็ว เขาไม่มีวิธีทำการตลาดใหม่ๆ ที่เป็นโซเชี่ยล หรืออินไซต์ดาต้าต่างๆ มีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบไมโครเซ็คเมนท์ ทราเวลเอเยนซี่ปกติจะหมกมุ่นอยู่กับการทำงานจึงไม่มีทางปรับตัวได้ ซึ่งการเติบโตของตลาดออนไลน์ของไทยในอนาคตมันไม่ส่งผลประโยชน์อะไรกับผู้ประกอบการบ้านเรา หรือแม้กระทั่งเศรษฐกิจของบ้านเราเลย เพราะเพยเมนท์เกตเวย์มันอยู่สิงคโปร์ อยู่ฮ่องกงก็ได้"


ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คนไทยรวมถึงคนในภูมิภาคเซาท์อีสต์เอเชียทั้งหมดมีการใช้ออนไลน์กันเป็นจำนวนมาก แต่ยังเป็นใช้เพื่อการค้นหาข้อมูล แต่สุดท้ายพอไปถึงขั้นของการจอง การซื้อขายก็จะผ่านออฟไลน์อยู่ดี


"การเปลี่ยนพฤติกรรมต้องรอเวลา แต่เราคงไม่รอเวลา และมองหาว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้คนไม่ยอมจองออนไลน์ ตัวอย่างชัดๆก็คือ คนไทยกลัวการทำผิด จองแล้วผิด ที่แก้ไขก็คือระบบของเราให้ผิดไม่เป็นไร เราไม่ได้เก็บตังค์คุณ คุณยังไม่ต้องจ่าย แต่ขอให้คุณลองมาจองก่อน เพราะจะได้โปรโมชั่นที่ดีๆ แต่ถ้าผิดก็แค่แคนเซิลฟรีไม่มีปัญหาอะไร"


อีกปัจจัยหนึ่งก็คือ ก็คือ พฤติกรรมของคนที่ไม่ชอบใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ระบบของเพนกวินต์จึงมีบริการชำระเงินหลกกหลายวิธี โอนเงินก็ได้ ไปจ่ายที่เซเว่นอีเลฟเว่นก็ได้ ไม่ต้องจ่ายบัตรเครดิต (ถ้าพร้อมเมื่อไหร่ก็ค่อยจ่าย)


อย่างไรก็ดี เขามองว่ามันขึ้นอยู่กับเจนเนอเรชั่น เจนแซดที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีค่อยๆเติบโตขึ้นมาแทนที่คนรุ่นเก่าเมื่อไหร่ เมื่อนั้นออนไลน์ก็จะมาแทนที่ออฟไลน์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ


เมื่อให้อธิบายวิธีใช้งาน เขาบอกว่าระบบของเพนกวินต์ จะช่วยนักเดินทางค้นว่าสายการบินไหนมีโปรโมชั่นอะไรอยู่บ้าง มีอยู่กี่ไฟล์ท บินช่วงเวลาใด หรือถ้าไม่รู้จะไปเที่ยวไหน ก็สามารถเข้ามาดูได้ว่าจะไปที่ไหนดี หรือถ้ารู้จุดหมายปลายทางแล้วก็ระบุได้เลยว่าจะไปไหน ระบบก็จะวิ่งไปค้นราคาสายการบินทั่วโลกที่มีอยู่กว่า500 สายการบิน ที่เป็นราคาที่ถูกที่สุดให้ และเลือกจองได้เลยแบบเรียลไทม์


"ข้อเด่นของเราก็คือ เราไม่ใช่ระบบการจองเครื่องบินอย่างเดียว เพราะพบว่าตลาดเซาท์อีสเอเชีย มีเรื่องเพอร์ซัลนอลทัช มีความต้องการอีกเยอะแยะมากมายที่สามารถเกิดขึ้นได้ ระบบของเราจึงมีปุ่มไลน์ให้ลูกค้าแชทคุยกับเราได้เวลาที่มีปัญหา เช่นอยากขอเปลี่ยนไฟลท์ หรืออยากถามย้ำให้แน่ใจในเรื่องของราคา ซึ่งมันทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ"


แม้ว่าจะมีจุดเด่นเป็นเรื่องราคา แต่เพนกวินต์จะไม่เน้นหรือขีดเส้นใต้ในเรื่องนี้ เพราะบางทีราคาที่นำเสนอก็อาจไม่ได้ถูกกว่ารายอื่นเสมอไป การแข่งราคาสุดท้ายแล้วก็อาจไม่มีใครได้อะไรอีกด้วย


"แต่ราคาของเราถูกเพราะเราดึงมาจากทราเวลเอเยนซี่ที่เป็นเพื่อน ๆพี่ ๆ ในวงการที่มีราคาดี ๆอยู่แล้ว แต่ที่เด่นที่สุดของเพนกวินต์ ก็คือเซอร์วิสที่มีให้ลูกค้า ฟีดแบ็คของลูกค้าในเรื่องของเซอร์วิสเป็นมุมบวกถึง 99% เพราะน้องๆในทีมของเราได้รับการเทรนมาในเรื่องของการสื่อสาร การให้บริการมาเป็นอย่างดี "


ถ้ามีคนถามว่าเพนกวินต์คืออะไร คำตอบของเขาก็คือ เป็นเซอร์วิสคอมพานี


เพนกวินต์เพิ่งลอนซ์โปรดักส์เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา กิตติกรบอกว่ากำลังอยู่ในช่วงของโปรดักส์มาร์เก็ตฟิต ซึ่งเป็นการเรียนรู้ไปพร้อม ๆกับลูกค้า ซึ่งตั้งทาร์เก็ตไว้ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในช่วงอายุ 25 ปีไม่เกิน 43 ปี เรียกว่าเป็นวัยทำงาน


"เราไม่ได้ไปทับไลน์ใครทั้งทราแวลเอเยนซี่ และโอทีเอ ซึ่งระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์มันจะมีกลุ่มไฮบริดเป็นพวกลูกครึ่ง คนที่ไม่กล้าจองออนไลน์แต่ค้นหาข้อมูลออนไลน์ เรามองกลุ่มนี้มากกว่า เซ็คเมนท์ของเราอยู่ตรงนี้"


ภายในปีนี้เพนกวินต์วางแผนจะทำอะไรบ้าง? เนื่องจากเป็นน้องใหม่ในวงการออนไลน์ทราแวล ดังนั้นภาพในปีนี้ก็คือ การโฟกัสในเรื่องของเซอร์วิส และอาฟเตอร์เซลล์เซอร์วิสให้มากขึ้น ในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะรุกทำการตลาดมากขึ้น เพราะต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยที่กลัวการซื้อขายตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ให้มีความกล้ามากขึ้น


ในปีนี้เพนกวินต์มีแผนจะระดมทุนรอบ Seed และเพิ่มจำนวนยูสเซอร์ขึ้นเป็น 3 แสนราย อย่างไรก็ดี จำนวนนี้ไม่ได้หมายถึงรายได้ผลกำไรของธุรกิจ


"มาร์จิ้นของการจองตั๋วเครื่องบินมันค่อนข้างน้อย สิ่งที่เราจะทำภายหลังการระดมทุนก็คือ ดาต้าอนาลิติกส์ และขายโปรดักส์อื่นๆพ่วงเข้าไปด้วย เช่นถ้ามีกลุ่มครอบครัวไปจะเที่ยวโตเกียวเราก็อาจพ่วงขายประกัน ขายพวกตั๋วรถไฟเข้าไปด้วยซึ่งมีมาร์จิ้นสูงกว่า"


ปัจจุบันรายได้ของเพนกวินต์เป็นค่าคอมมิชชั่นจากการขายตั๋วให้กับทราแวลเอเยนซี่ แต่กิตติกรมองภาพอนาคตแล้วว่าที่สุดแล้วเรื่องการขายจะมีอยู่สามขา หนึ่ง คือลูกค้าที่จองผ่านแอพบนโมบาย สอง กลุ่มคอปอเรทและกลุ่มเอสเอ็มอี สุดท้ายก็คือการเป็นแพลตฟอร์มที่ไปเกาะกับแพลตฟอร์มอื่น เช่นทราแวลเอเยนซี่ที่ไม่มีเว็บไซต์และอยากไปขายบนสกายสแกนเนอร์ เพนกวินต์จะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยนำเอาไปขายให้เป็นต้น


เขามองว่าตลาดท่องเที่ยวถือเป็นตลาดที่ใหญ่มากจึงถือเป็นโอกาสที่ดี แต่มีความท้าทายเพราะมีผู้เล่นรายใหญ่ๆอยู่ในตลาดเป็นจำนวนมาก และมีความพร้อมทั้งเทคโนโลยีและเงินทุน


"ที่เราต้องทำคือหาเซ็คเมนท์ที่เฉพาะของเราให้เจอ สิ่งแรกที่ต้องให้ความสำคัญและให้เวลากับมันมากๆ และต้องไม่หยุดด้วย หยุดเมื่อไหร่ก็จบเมื่อนั้น และเมื่อหาเจอแล้วก็ต้องพัฒนาเซ็คเมนท์นั้นให้มันใหญ่ขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่าเราเจอแล้ว ก็คือไฮบริดเซ็คเมนท์"

 
ทีมนี้ดีกรีขั้นเทพ


เพนกวินต์เป็นทีมที่เพิ่งคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดแผนธุรกิจในโครงการ “สปาร์ค” ภายใต้จากความร่วมมือของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์มหาชน) หรือ สนช. กับเอจีดับเบิลยู กรุ๊ป กลุ่มนักลงทุนจากประเทศอิสราเอล และได้เดินทางไปยังประเทศอิสราเอลเพื่อร่วมฝึกอบรมกับ Google Launchpad Tel Aviv หรือ Barclays Accelerator ไปหมาดๆ


ซึ่งคงไม่เหนือความคาดหมายหากดูรายชื่อโคฟาวเดอร์ที่มีอยู่ 3 คน นั่นคือ กิตติกร กรรณเลขา ,ทักษะ บุนนาค และ วัชระ เอมวัฒน์ ซึ่งคนหลังเป็นถึงนายกสมาคม Thailand Tech Startup Association


กิตติกร เองก็คร่ำหวอดในวงการธุรกิจท่องเที่ยวมายาวนาน ทั้งยังเคยมีประสบการณ์การทำงานในบริษัทอะมาริอุส ที่ปัจจุบันคือผู้นำเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบให้บริการข้อมูลเพื่อการเดินทาง และการท่องเที่ยวระดับโลก


"ถามว่าแบ่งหน้าที่กันอย่างไร ตัวผมจะดูตัวโปรดักส์ และสายฝั่งคอนซูมเมอร์โปรดักส์เป็นหลัก ส่วนคุณทักษะจะดูเรื่องคอปอเรท โปรดักส์เขาจะวิ่งหาสายสัมพันธ์กับลูกค้ากลุ่มนี้ สำหรับคุณวัชระดูกลยุทธ์ว่าธุรกิจจะเดินไปอย่างไร เขาถนัดในเรื่องของบิ๊กดาต้า รวมถึงการระดมทุนเพราะมีคอนเน็คชั่นกับทางอินเวสเตอร์"