ปลัดฯท่องเที่ยวยัน Street Food ของไทย ครองใจคนทั้งโลก

ปลัดฯท่องเที่ยวยัน Street Food ของไทย ครองใจคนทั้งโลก

"พงษ์ภาณุ" ปลัดกระทรวงท่องเที่ยวฯ ยืนยัน "Street Food" ของไทย ครองใจคนทั้งโลก

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จากกรณี ที่มีการเผยแพร่บทความของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเกี่ยวกับผลกระทบจากการจัดระเบียบอาหารริมทางในพื้นที่กรุงเทพฯทาง แทรเวลเลอร์ ดอทคอม (www.traveller.com) จะส่งผลต่อวัฒนธรรมอาหารริมทาง ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพฯ นั้น รัฐบาลและกระทรวงฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น แต่ได้เล็งเห็นว่าการจัดระเบียบทางเท้าและแผงลอยเป็นสิ่งจำเป็นของเมืองท่องเที่ยวหลักอย่างกรุงเทพมหานครที่มีคนสัญจรเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน การจัดระเบียบฯทำเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด ปลอดภัย

โดยได้ดำเนินการบนพื้นฐานแห่งสิทธิและความเท่าเทียมกันของทุกคน แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และบรรยากาศที่เป็นเสน่ห์ของย่านชุมชน และร้านอาหารริมทางไว้

ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีมาตรการในระยะเร่งด่วน คือจะมีการหารือกับกรุงเทพมหานคร เพื่อกำหนดแนวทางในการสื่อสาร/ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ถึงแนวนโยบายของการจัดระเบียบของกรุงเทพมหานคร เพื่อผลประโยชน์ของทุกคนทั้งทางด้านความปลอดภัยในการสัญจร ความปลอดภัยในการบริโภคอาหาร ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมืองและชุมชน และสุดท้ายคือภาพลักษณ์ของกรุงเทพฯ ในความเป็นเมืองท่องเที่ยว-เมืองน่าอยู่-น่ากินอย่างยั่งยืน

นายพงษ์ภาณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระยะยาว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะได้จัดประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการในพื้นที่ และภาคเอกชน เพื่อหารือแนวทางการจัดกิจกรรม Street Food อย่างบูรณาการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ชัดเจน ทั้งขอบเขตนิยาม การกำหนดขอบเขตพื้นที่ กิจกรรม และระเบียบวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนไม่กระทบสิทธิพื้นฐานของบุคคลอื่น เน้นอาหารที่มีคุณภาพ/มาตรฐาน ความสะอาด ถูกสุขอนามัย และความปลอดภัยของทุกคน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และมีช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังคงเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวด้านอาหารริมทาง (Street Food) เพราะเป็นวัฒนธรรมการทานอาหารของไทย ซึ่งเป็นเสน่ห์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และเป็นการกระจายรายได้ให้กับคนไทยที่เป็นรายย่อยและเป็นเจ้าของกิจการ แต่การมีร้านอาหารริมทางที่มีการจัดระเบียบ มีความเรียบร้อย มีความสะอาดและถูกสุขลักษณะ และราคาของอาหารที่ไม่ได้เอาเปรียบนักท่องเที่ยว ภาครัฐสามารถควบคุมการบริการอาหารริมทางที่มีคุณภาพได้ ก็เชื่อได้ว่า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก็จะได้รับประโยชน์และความพึงพอใจจากการได้รับประสบการณ์ที่ดีกับอาหารริมทางของไทย

“การรักษาสถานะหรือภาพลักษณ์ของเมืองสวรรค์แห่งอาหารริมทางให้ได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องรักษาอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชุมชนในแต่ละท้องถิ่นควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะ อาหารไทยและขนมไทยโบราณ ซึ่งเป็นอาหารประจำถิ่นของแต่ละชุมชน ทั้งชุมชนย่านเยาวราช ถนนข้าวสารหรือตลาดบางลำพู รวมทั้งชุมชนย่านอื่นๆ ที่มีกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร จะเป็นสเน่ห์อย่างแท้จริงที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาสัมผัส เรียนรู้ และชิมรสชาติ จนเกิดความประทับใจและสนใจเดินทางมาเที่ยวซ้ำ ผมได้ลงสำรวจถนนเยาวราชแล้วซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่อง และในวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม นี้ ผมจะนำทีมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมร้านค้าบริเวณถนนข้าวสารด้วย ผมยังคงยึดมั่นที่จะสร้างการท่องเที่ยวให้เป็นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีความสมดุล ทั่วถึง และยั่งยืน” นายพงษ์ภาณุ กล่าวทิ้งท้าย