กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่ ตรวจปัญหาปล่อยน้ำเสียลงทะเลพัทยา

กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่ ตรวจปัญหาปล่อยน้ำเสียลงทะเลพัทยา

จี้เมืองพัทยา เร่งแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสีย หลังพบปัญหาเครื่องสูบชำรุดทำน้ำเสียค้างท่อก่อนไหลเอ่อล้นลงทะเล ก่อนนัดหารือร่วมเสนออธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พิจารณาการแก้ไขอย่างยั่งยืน หวั่นทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเสียหาย

จากกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพข่าวสภาพปัญหาน้ำเน่าเสีย เศษขยะและสิ่งปฏิกูลถูกปล่อยลงสู่ชาย หาดและทะเลหน้าอ่าวพัทยา บริเวณหลังสถานีสูบน้ำระบบบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา พัทยาใต้ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อการท่องเที่ยวอย่างรุนแรงตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎา คมที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด (15 ก.ค. 60) ดร.เชาวน์ นกอยู่ ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมล พิษ พร้อมด้วย นายวิรัตน์ จิระศรีไพฑูรย์ ผู้อำนวยการสำนักการช่างสุขาภิบาลเมืองพัทยา นำเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักช่างสุขาภิบาล ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพปัญหาน้ำเสียที่ถูกปล่อยลงทะเลบริเวณดังกล่าว โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทำการเก็บกวาดขยะและสิ่งปฏิกูลบริเวณชายหาด รวมทั้งนำรถ เจซีบี มาขุดตัดทรายซึ่งมีสภาพดำคล้ำออกมจากพื้นที่ รวมทั้งการเก็บตัวอย่างน้ำทะเลเพื่อนำกลับไปตรวจพิสูจน์คุณภาพ เนื่องจากพบว่ามีสภาพขุ่นมัวและมีตะกอนเป็นจำนวนมาก

โดย ดร.เชาวน์ เปิดเผยว่าหลังเกิดเหตุการณ์และมีการเผยแพร่ข่าวตามสื่อแขนงต่างๆกรมควบคุมมลพิษ จึงได้เร่งมาตรวจสอบและพิสูจน์สภาพปัญหา เนื่องจากเมืองพัทยาเองก็ถูกประกาศในเป็นเขตคุมครองด้านมลพิษ ซึ่งจากการตรวจสอบสภาพพื้นที่พบว่าทรายบริเวณชายหาดก็มีลักษณะดำคล้ำ ขณะที่น้ำทะเลก็มีความขุ่นมัวจากตะกอนเป็นพื้นที่ในบริเวณกว้าง จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทำการเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจพิสูจน์ถึงคุณภาพ ทั้ง ค่า BOD, PH และตะกอนหนัก อย่าง โครีฟอร์ม หรือ อีโคไลท์ ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยคาดว่าจะได้ผลการตรวจสอบภายใน 2 อาทิตย์

อย่างไรก็ตามสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นเบื้องต้นจากการสอบถามพบว่าช่วงก่อนหน้านี้มีฝนตกลงมาอย่างหนัก และน้ำได้ไหลบ่ามาจากทุกทิศทางโดยเฉพาะในฝั่งตะวันออกของเมืองพัทยาซึ่งเป็นชุมชนหนา แน่น โดยเมื่อน้ำฝนไหลเข้ามาในท่อซึ่งเป็นท่อเดียวกับระบบบำบัดน้ำเสียของเมืองพัทยาที่มีน้ำเสียค้างท่ออยู่ประมาณ 40 % จึงทำให้น้ำเกิดการผสมกันก่อนเอ่อล้นหรือ Overflow ตามท่อระบายที่ติดตั้งไว้ออกสู่ทะเลในบริเวณดังกล่าว ส่งผลให้น้ำมีลักษณะขุ่นดำและมีตะกอนจากเศษขยะ รวมถึงสิ่งปฏิกูลไหลปะปนออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลังเกิดเหตุเมืองพัทยาก็ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลและเร่งกำจัดสิ่งปฏิกูลเร่งด่วน และคาดว่าสถานการณ์นี้จะหายไปตามธรรมชาติภายใน 1 สัปดาห์

ดร.เชาวน์ กล่าวต่อไปว่าจากการตรวจสอบพบว่าสาเหตุหนึ่งของปัญหาน้ำเสียลงทะเลนั้น น่าจะเกิดจากความบกพร่องของระบบบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยาซึ่งใช้งานมานานกว่า 15 ปี เนื่องจากการพบว่าระบบปั้มที่ใช้ในการสูบส่งน้ำเสียเข้าสู่โรงบำบัดเกิดการชำรุดเสียหายหลายจุดจากสถานีสูบทั้ง 7 แห่ง ทำให้มีน้ำเสียค้างท่อเกินปริมาณที่กำหนด ดังนั้นเมื่อมีน้ำฝนไหลมารวมในท่อและเอ่อล้นลงทะเล จึงทำให้น้ำมีลักษณะขุ่นข้นดำ และมีเศษตะกอนตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องนี้ได้มอบหมายให้เมืองพัทยาเร่งหาแนวทางแก้ไข โดยเฉพาะการขุดล้างท่อระบายน้ำอยู่อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการซ่อมแซม ปรับปรุง และแก้ ไขระบบปั้มน้ำหลักเพื่อลดปัญหา ขณะที่แผนในระยะยาวนั้นจะต้องมีการจัดประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะนำเรื่องเสนอตรงต่ออธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขที่ยั่งยืนต่อไป

ทางด้านนายวิรัตน์ จิระศรีไพฑูรย์ ผอ.ส่วนสำนักการช่างสุขาภิบาล เมืองพัทยา กล่าวว่าปัจจุบันได้รับงบประมาณสนับสนุนแล้วในปี 2560 นี้ตามแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC จำนวน 27 ล้านบาท ซึ่งจะเร่งทำการแก้ไขในการติดตั้งเครื่องสูบน้ำใหม่ทดแทนเครื่องที่เสียหายภายในเดือนกรกฎาคมนี้ รวมทั้งการปรับปรุงระบบบำบัดที่โรงบำบัดน้ำเสียหนองใหญ่ และจะมีการการขอสนับสนุนงบเพิ่มเติมจากกระทรวงมหาดไทย เพื่อทำการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและแพบนท์อีกจำนวน 60 ล้านบาท ซึ่งหากได้รับงบประมาณสนับสนุนและเป็นไปตามแผนที่วางไว้ปัญหาเหล่านี้ก็จะหมดไปอย่างแน่นอน