‘ช้อปแบ็ค’ชูเครื่องมือการตลาดหนุนร้านค้าออนไลน์

‘ช้อปแบ็ค’ชูเครื่องมือการตลาดหนุนร้านค้าออนไลน์

ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า) คาดการณ์มูลค่า อีคอมเมิร์ซ ปีนี้อยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 2.2  ล้านล้านบาท โดยกลุ่ม“บีทูซี”มีมูลค่าราว 4 แสนล้านบาท ขณะที่บีทูบี 1.2 ล้านล้านบาท 

โดยค้าปลีกออนไลน์ เป็นกลุ่มที่แข่งขันกันรุนแรงสูง จากผู้เล่นรายใหม่เข้ามาทำตลาดต่อเนื่อง ด้วยเห็นโอกาสเติบโตจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีสัดส่วนกว่า 67%  ของประชากรไทย เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20% 

กวิน ประชานุกูล ผู้จัดการ ช้อปแบ็ค ประจำประเทศไทย กล่าวว่าจากทิศทางตลาดอีคอมเมิร์ซไทยขยายตัวต่อเนื่อง ShopBack เว็บไซต์ให้เงินคืนสำหรับนักช้อปออนไลน์ ซึ่งเปิดให้บริการในหลายประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย ได้เปิดตัวเว็บไซต์ ShopBack Thailand (www.myshopback.co.th) และแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ในไทยเป็นประเทศที่ 6 

โดยช็อปแบ็คเริ่มก่อตั้งในประเทศสิงคโปร์ ในเดือน ก.ย.2557  จากนั้นเปิดให้บริการใน มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และไต้หวัน

จุดขายของช้อปแบ็ค คือ เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างร้านค้าออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ โดยนำเสนอวิธีการชอปปิง นอกจากมีส่วนลดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคูปอง บัตรกำนัล โค้ดส่วนลด ยังให้ข้อเสนอ "เงินคืนสูงสุด 30% จากร้านค้าออนไลน์ โดยจะโอนคืนในบัญชีธนาคารที่ลูกค้าแจ้งไว้

คอนเซ็ปต์การทำงานของช้อปแบ็ค คือ เมื่อลูกค้าเข้าไปซื้อสินค้าออนไลน์ทั้งเว็บไซต์และแอพ ร้านค้าและสินค้าต่างๆ จะแสดงอัตราเงินคืนจากการซื้อสินค้า เมื่อมีการซื้อขายสำเร็จในแต่ละครั้ง ช้อปแบ็คจะได้รับค่าคอมมิชชั่นจากร้านค้าออนไลน์ จากนั้นช้อปแบ็คก็จะนำค่าคอมมิชชั่นนั้น มาแบ่งให้กับลูกค้าในรูปแบบของการคืนเงิน ซึ่งเป็นเหมือนโบนัสให้กับนักช้อป

การชอปปิงทางออนไลน์ในประเทศไทยไม่ใช่แค่เป็นเทรนด์เท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งในการซื้อขายสินค้าในชีวิตประจำวันยุคนี้ เราพยายามค้นหาวิธีการที่จะเชื่อมโยงระหว่างร้านค้ากับนักช้อปเข้าด้วยกัน ขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทั้งสองฝ่ายด้วย

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจของช้อปแบ็คในปีที่ผ่านมาในทั้ง 5 ประเทศ ได้คืนเงินให้ลูกค้าไปแล้วรวม 350 ล้านบาท  หลังจากช้อปแบ็ค เปิดให้บริการในไทยเดือน ก.ค.นี้  วางเป้าหมายการทำงานปีแรกคืนเงินนักช้อป 10 ล้านบาท 

กวิน กล่าวว่าการบริหารของช้อปแบ็ค จะคืนผลประโยชน์จากค่าคอมมิชชั่นที่ได้จากร้านค้าพันธมิตร โดยเก็บส่วนต่างไว้ 1ใน3 เท่านั้น ซึ่ง 2ใน3 ของค่าคอมมิชชั่นจะคืนให้กับลูกค้าในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการคืนเงิน ที่ใช้เป็น“ลูกเล่น”ดึงนักช้อปมาที่แพลตฟอร์ม

ช้อปแบ็ค วางตำแหน่งเป็นเครื่องมือการตลาดให้กับร้านค้าออนไลน์ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ที่กลุ่มนักช้อปสนใจ และเก็บค่าใช้จ่ายจากสินค้าและร้านค้าออนไลน์เมื่อเกิดการซื้อขายจริงเท่านั้น”

ขณะที่เครื่องมือการตลาดออนไลน์อื่นๆ จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายทั้งการเห็นสินค้า, การคลิกเว็บ และค่าคอมมิชชั่นจากการซื้อ 

ปัจจุบันช้อปแบ็ค มีสินค้าและบริการจากร้านค้าออนไลน์ ทั้งในและต่างประเทศกว่า 1,300 ราย โดยในไทยมีกว่า 100 ร้าน ทั้งเว็บไซต์สำหรับจองการเดินทางท่องเที่ยว อย่าง Expedia และ Booking.com, ร้านค้าความงามจากฝรั่งเศสอย่าง Sephora, เว็บไซต์สำหรับชอปปิงออนไลน์ Lazada ร้านค้าแฟชั่นออนไลน์อย่าง Pomelo รวมไปถึง Grab และ Uber ซึ่งเป็นแอพเรียกรถรับส่ง และอื่นๆ เช่น กลุ่มร้านอาหาร ไลฟ์สไตล์ ปีนี้วางเป้าหมายเพิ่มร้านค้าและบริการในไทยให้ได้ 500 ร้านค้า

แพลตฟอร์มชอปปิง ออนไลน์ที่ใช้งานง่ายและยังมีรางวัลให้กับนักช้อป เพื่อจูงใจให้กลับมาเป็นลูกค้าต่อเนื่อง  จะทำให้ร้านค้าต่างๆ ที่อยู่บนหน้าเว็บไซต์ช้อปแบ็คได้ประโยชน์จากการอยู่รวมกันบนหน้าเว็บไซต์เดียว  ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ จะช่วยดึงดูดนักช้อปให้มาเลือกซื้อมากขึ้น 

“ร้านค้าอื่นๆ ที่ดึงนักช้อปให้เข้ามาในแพลตฟอร์ม ก็ไม่ได้เข้ามาแค่ซื้อสินค้าของร้านนั้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีโอกาสที่จะซื้อสินค้าจากร้านอื่นๆด้วย ถือเป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ส่วนช้อปแบ็ค มีหน้าที่ช่วยเจาะเข้าสู่กลุ่มนักช้อปที่มีความหลากหลายในวงกว้าง"

 ทั้งนี้ กลไกการคืนเงินของช้อปแบ็ค จะแยกออกจากส่วนลด บัตรกำนัล โค้ดส่วนลด หรือข้อเสนอต่างๆ จากร้านค้า คอนเซ็ปต์การคืนเงินจะแตกต่างจากเว็บไซต์ที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์อื่นๆ หรือโปรโมชั่นเงินคืนของบัตรเครดิต ซึ่งมักจะมีข้อจำกัด เช่น สามารถใช้ส่วนลดภายในช่วงเวลาที่กำหนดเท่านั้น และมีข้อจำกัดเกี่ยวกับประเภทสินค้าหรือบริการ เช่น ดีลนี้สามารถใช้ได้กับสินค้าหรือบริการเฉพาะบางรายการเท่านั้น ขณะที่ช้อปแบ็คให้เงินคืนโดยโอนเข้าบัญชีธนาคารของนักช้อปได้โดยตรง

ภูมิภาคนี้ ช็อปแบ็คมีผู้ใช้งานรวมกว่า 3 ล้านคน โดยมีจำนวนการสั่งสินค้า 1,000 รายการต่อชั่วโมง จากการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าเป็น 600 ล้านคนภายในปี 2568 และคาดการณ์ว่ายอดขายจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้จะสูงขึ้นจาก 5,500 ล้านดอลลาร์ เป็นประมาณ 88,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568

จำนวนนักช้อปออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ ถือเป็นโอกาสของ ช้อปแบ็ค จึงเดินหน้าขยายการให้บริการให้ครอบคลุมนักช้อปในภูมิภาคนี้