‘ธนจิรารีเทล’คว้า‘แคทคิดสตัน’เสริมทัพ

‘ธนจิรารีเทล’คว้า‘แคทคิดสตัน’เสริมทัพ

กลุ่มสินค้าแฟชั่น-ไลฟ์สไตล์ในประเทศไทยนับเป็น “ตลาดอนาคต” ที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงจากการเติบโตของกลุ่มลูกค้าผู้ทรงอิทธิพลในตลาดอย่างกลุ่มคนรุ่นใหม่ เจนวาย หรือ ชาวมิลเลนเนียลส์ ซึ่งมีกำลังซื้อสูง

ขณะที่การสร้างหรือนำเข้าแบรนด์เพื่อทำตลาดอาจไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจท่ามกลางโอกาสมหาศาลที่รออยู่ “การซื้อและควบรวมกิจการ” เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์เร่งการเติบโตและตอบสนองดีมานด์ตลาดไปพร้อมๆ กัน  

อภิชัย ผลโกศล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด  ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์แฟชั่น กล่าวว่า  บริษัทมุ่งกลยุทธ์การเติบโตด้วยการ “ควบรวมกิจการ” ของผู้เล่นเดิมในตลาดมากขึ้น นอกเหนือจากการสร้างและขยายแบรนด์ที่บริหารอยู่

โดยพิจารณาบริษัทที่มียอดขายต่อปีมากกว่า 300 ล้านบาท มีแนวโน้มการเติบโต มีโอกาสในการขยายสาขาที่ดี และมีสัดส่วนของกำไรขั้นต้นที่ใกล้เคียงกับแบรนด์อื่นๆ ในพอร์ตที่บริษัทบริหารอยู่

ล่าสุด ได้เข้าซื้อกิจการ “แคท คิดสตัน ในประเทศไทย” ซึ่งเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์แฟชั่น โดยเป็นการซื้อหุ้น 100% เริ่มดำเนินการเข้าบริหารตั้งแต่ วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันยอดขายรวมธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น ให้เป็นตามเป้าหมาย 1,800 ล้านบาท ภายในปี 2563  

ปีนี้ บริษัทคาดว่ากลุ่มบริษัทจะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 1,100 ล้านบาท ด้วยอัตราการเติบโตสูงถึง 107%  จากปี 2559  นับเป็นรายได้สูงสุดในประวัติการณ์หลังก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2553

ทั้งนี้ ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น มุ่งการทำการตลาดแบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่และคนที่ใช้ชีวิตในเมือง โดยเน้นการบริหารจัดการแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอให้ประสบความสำเร็จ มีแบรนด์หลัก ประกอบด้วย แพนดอร่า (PANDORA) เครื่องประดับจากประเทศเดนมาร์ก มารีเมกโกะ (MARIMEKKO) แบรนด์ไลฟ์สไตล์แฟชั่นจากฟินแลนด์ โจนาธาน แอดเลอร์ (Jonathan Adler) แบรนด์สินค้าตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ลักชัวรีจากนิวยอร์ก สหรัฐ อีกทั้งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายแบรนด์เครื่องประดับจิวเวลรี่เพชรแท้ ทิลด้า (TILDA) และน้องใหม่ แคท คิดสตัน (CATH KIDSTON) แบรนด์ไลฟ์สไตล์โมเดินวินเทจ จากอังกฤษ

ปีนี้ บริษัทจัดสรรงบประมาณกว่า 30 ล้านบาท ทำตลาดเชิงรุกสำหรับแบรนด์แพนดอร่าเพื่อรักษาความเป็นผู้นำกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์จิวเวลรี่ และอีก 15 ล้านบาท สำหรับแบรนด์อื่นในพอร์ต มุ่งสื่อสารสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ในวงกว้าง

ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ธนจิรา กล่าวย้ำว่า  “การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญและผลักดันธุรกิจให้เติบโตก้าวกระโดด”

เบื้องต้น ทำให้มีสาขาเพิ่มขึ้น 2 เท่า จาก 35 สาขาในปัจจุบัน เป็น 70 สาขา  ซึ่งบริษัทยังมีแผนเพิ่มจำนวนสาขารวมของแบรนด์ที่บริหารอยู่ทั้งหมด 5 แบรนด์ เป็น 100 สาขาภายในปี 2563

กลุ่มบริษัทธนจิรา วางกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพิงรายได้หลักจากแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง ทั้งต้องการขยายฐานกลุ่มลูกค้าให้หลากหลายมากขึ้น”

โดยการซื้อกิจการ แคท คิดสตัน ครั้งนี้ ถือเป็นการขยายฐานลูกค้าเข้าสู่ผู้บริโภคกลุ่มพรีเมียมแมส (Premium Mass) ที่ใหญ่กว่าฐานลูกค้าเดิมในกลุ่มมิดลักชัวรี (Mid Luxury) และพรีเมียม (Premium) เท่านั้น

หลังจากนี้บริษัทจะเร่งทำการตลาดที่เพิ่มคุณค่าที่ชัดเจนให้กับ แบรนด์ แคท คิดสตัน และเพิ่มงบประมาณพัฒนาและฝึกอบรมพนักงานขาย  คาดว่ายอดขายร้านเดิม (Same Store Sales) จะมีอัตราเพิ่มขึ้น 15%  จากที่เคย “ติดลบ” ในปีที่ผ่านมา และจะส่งผลต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ “ดีลซื้อกิจการ” จะมีให้เห็นอีกอย่างน้อย 1 ดีล พร้อมๆ กับการเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2563

เอกลักษณ์-แตกต่าง

หัวใจของแบรนด์ดึงดูดลูกค้า

หัวใจสำคัญของแบรนด์ต้องมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างเป็นพลังดึงดูดลูกค้าเข้ามาหาได้ตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นป้อมปราการที่ดีในการรับมือ “คู่แข่ง” จำนวนมากที่พร้อมจะเป็นทางเลือกใหม่ให้ลูกค้า ที่มีหลากหลายปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อแบรนด์นั้น 

โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจ แน่นอนว่าบรรดาสินค้าแฟชั่นถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “ไม่จำเป็น” เมื่อลูกค้าชะลอการใช้จ่ายย่อมกระทบต่อยอดขายและรายได้ แม้กระทั่งความมั่นคงในพื้นที่ขาย!! เพราะการที่ยอดขายไม่พุ่ง สะท้อนว่าแบรนด์ไม่มีความสามารถในการดึงดูดลูกค้า ขณะที่แนวทางบริหารจัดการพื้นที่ของศูนย์การค้ามอง “ความนิยม” หรือ สินค้าและบริการที่เป็นที่ต้องการของลูกค้าในช่วงเวลานั้นๆ เป็นหลัก โอกาสที่แบรนด์จะหลุดออกจากพื้นที่มีสูง

จุดตั้งต้น...ตั้งแต่ "เลือกแบรนด์"  ตามด้วยกลยุทธ์ขับเคลื่อนตลาดจึงสำคัญไม่น้อย