'เวิลด์' ชูธุรกิจอสังหาฯเป็นเรือธง

'เวิลด์' ชูธุรกิจอสังหาฯเป็นเรือธง

“เวิลด์” ปรับโครงสร้าง ชูธุรกิจอสังหาฯเป็นเรือธง  

บริษัทเวิลด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)WORLD ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบริษัทลงทุน หรือ โฮลดิ้ง ที่ผ่านมาได้ลงทุนในธุรกิจด้านการศึกษา ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และอื่นๆ โดยในปี2556 กลุ่มบริษัทได้เข้ามาลงทุนผ่านบริษัทพันธุ์สุกรไทย-เดนมาร์ค จำกัด(มหาชน) ซึ่งอยู่ในกลุ่มฟื้นฟูกิจการ

กรุงเทพธุรกิจได้มีโอกาสพูดคุยกับ"จิรศักดิ์ จิยะจันทน์ "ประธานกรรมการ บริษัท เวิลด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)WORLD เล่าให้ฟังว่า ตลอด4 ปีที่ผ่านมา บริษัทพยายามแก้ไขปัญหาฐานะการเงินและธุรกิจ เพื่อให้หุ้นของบริษัทกลับไปซื้อขายได้ในหมวดธุรกิจปกติ ซึ่งในปีนี้บริษัทอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดยจะให้ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นแกนนำองค์กร และตั้งเป้าหมายที่จะเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร ซึ่งโครงสร้างธุรกิจใหม่จะประกอบด้วย ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย ขณะที่อนาคตมีแผนที่จะลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าอีกด้วย

ปัจจุบันธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม มีพื้นที่แบ่งขาย 2 แห่งคือ นิคมอุตสาหกรรมบางปูเหนือ มีพื้นที่แบ่งขาย 700ไร่ มูลค่ารวมประมาณ 3.7 พันล้านบาท ซึ่งมีการจัดสรรไปแล้วกว่า 80% และเริ่มทยอยรับรู้รายได้มาแล้ว ขณะที่พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน มีพื้นที่แบ่งขาย 370 ไร่ มูลค่ารวมประมาณ 1.2 พันล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาสาธารณูปโภค คาดว่าจะเปิดขายได้ภายในเดือนก.ย.2560 

นอกจากนี้ยังมีความสนใจที่เตรียมหาพื้นที่ที่พัฒนานิคมอุตสาหกรรมบริเวณภาคเหนืออีก 1 แห่ง อยู่ระหว่างการเจรจา โดยจะช่วยทำให้บริษัทมีรายได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นการเตรียมแผนรองรับในการเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ระยะยาว หลังจากนิคมอุตสาหกรรม 2แห่งแรกทยอยรับรู้รายได้ครบกำหนด คาดว่าจะอีกไม่เกิน 3ปีขณะเดียวกันบริษัทมีความสนใจที่จะสร้างโรงงานให้เช่า เพื่อเป็นช่องทางการสร้างรายได้เพิ่มโดยอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าว

“เหตุผลที่บริษัทสนใจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแถบภาคเหนือ เนื่องจากจังหวัดลำพูน มีพื้นที่ที่ติดกับจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเมืองปริมณฑลอยู่ใกล้สนามบินที่สำคัญถือว่าเป็นทำเลที่ ขณะที่ลูกค้าหลักเป็นกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่น ที่เน้นผลิตสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และไม่ต้องการตั้งโรงงานที่อยู่ติดกับทะเล เนื่องจากอากาศบริเวณชายทะเลจะมีผลกระทบกับสินค้าที่ผลิตอาจเกิดความเสียหายได้ ดังนั้นการขายพื้นที่ในนิคมฯจึงทำได้ง่าย ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าอยู่แล้ว”

สำหรับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายประเภทแนวดิ่ง หรือคอนโดมิเนียม บริษัทมีโครงการในมือ 3 แห่ง คือ โครงการที่ตั้งอยู่จังหวัดภูเก็ต มูลค่า 700 ล้านบาท และมีการทยอยขายไปแล้วกว่า 80% โครงการที่หาดใหญ่ มูลค่า 800 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 เฟส อยู่ระหว่างก่อสร้าง และทยอยรับรู้ภายในปี 2561 ขณะที่โครงการนอร์ท สาธร เรสซิเด้นท์ อยู่ระหว่างก่อสร้าง ซึ่งเน้นลูกค้าระดับบน และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนจะประกอบธุรกิจให้เช่าเพิ่มเติม เพราะสามารถสร้างรายได้เพิ่มอีกทาง

จิรศักดิ์ บอกว่า ตอนนี้บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมประมาณ 70%ของรายได้รวม ที่เหลืออีก 30%เป็นรายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย และคาดว่าไม่เกิน 2 ปี สัดส่วนรายได้จะมีการเปลี่ยนแปลงแต่ละธุรกิจจะเพิ่มขึ้นเป็น 50% ส่วนความสามารถในการสร้างอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยอยู่ที่ 15-20% ขณะที่ปีนี้ตั้งเป้าหมายรายได้รวมอยู่ที่1.2 พันล้านบาท หรือรายได้รวมประมาณไตรมาสละ 300 ล้านบาท

“การที่บริษัทมีธุรกิจที่มีความหลากหลายจะทำให้บริษัทสามารถบาลานซ์ความเสี่ยง เรื่องของความไม่แน่นอนของรายได้ได้เป็นอย่างดี กรณีภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว บริษัทยังมีรายได้จากการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมรวมถึงรายได้จากสาธารณูปโภคพื้นฐานในนิคมฯเข้ามาช่วยประคองไว้ นอกจากนี้อนาคตหากบริษัทดำเนินธุรกิจให้เช่าเพิ่มขึ้นก็จะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรอีกทาง”

ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แม้กำลังซื้อจะชะลอตัวจากเศรษฐกิจที่ซบเซา ในส่วนของบริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากเน้นกลุ่มลูกค้าระดับบน และยังมีกำลังซื้อเข้ามาต่อเนื่อง และคาดหวังว่าในครึ่งปีหลังการลงทุนของภาครัฐ น่าจะกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุน ซึ่งจะส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศเพิ่มขึ้นได้

ประธานกรรมการ กล่าวว่า แผนการนำหุ้นของบริษัทกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นั้น ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างธุรกิจให้มีความชัดเจน และมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยคาดว่าอีก 1-2 สัปดาห์บริษัทจะมีการประชุมคณะกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณาแยกโครงสร้างให้ชัดเจน จากนั้นน่าจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล(ไฟลิ่ง)ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กับตลาดหลักทรัพย์เพื่อพิจารณาคุณสมบัติได้ภายในเดือนส..นี้ และขึ้นอยู่กับการพิจารณาตามขั้นตอนต่างๆของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะอนุมัติให้เปิดซื้อขายหุ้นเมื่อใด และหากพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นหุ้นของบริษัทน่าจะกลับมาเปิดซื้อขาย แต่สิ่งที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติมคือ การเพิ่มสภาพคล่องของหุ้น โดยเฉพาะจำนวนหุ้นหมุนเวียนในตลาด(ฟรีโฟลท) เนื่องจากการเข้ามาลงทุนถือหุ้นในสัดส่วนสูงถึง 95%ทำให้ฟรีโฟลท์หุ้นเหลือเพียง 5% และต่ำกว่าเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด ดังนั้น บริษัทจึงจะต้องดำเนินการเพิ่มฟรีโฟลทให้เรียบร้อยก่อนที่จะเปิดซื้อขายหุ้น

“เบื้องต้นการเพิ่มฟรีโฟลทหุ้นเวิล์ด คงต้องเป็นหน้าที่ของผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกัน อาจจะเลือกแนวทางการเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง(พีพี)เพื่อที่จะทำให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ตลาดกำหนด แต่แผนการต่างๆจะต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ถือหุ้นบริษัททั้งหมดด้วย”