สัญญาณ ‘ฟันด์โฟลว์’ ครึ่งปีหลัง

สัญญาณ ‘ฟันด์โฟลว์’ ครึ่งปีหลัง

สัญญาณ "ฟันด์โฟลว์" ครึ่งปีหลัง กูรูฟันธงไหลเข้า "บอนด์"

ภายหลังการแถลงนโยบายการเงินของ “เจเน็ต เยลเลน” ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อสภาคองเกรสและกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดการเงินตีความว่า เฟด อาจไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าจะเป็นแรงกดดันให้เงินทุนไหลกลับภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทยอีกครั้งเพียงแต่ เงินทุนที่ไหลเข้ามาจะไม่แรงเท่ากับช่วงครึ่งปีแรก

พูน พานิชพิบูลย์” นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) มองว่า แนวโน้มเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าไทยช่วงครึ่งปีหลังน่าจะน้อยกว่าครึ่งปีแรก โดยเป็นการไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรมากกว่าตลาดหุ้นไทย โดยช่วงครึ่งปีแรกเงินทุนต่างชาติไหลเข้าไทยสุทธิ 166,000 ล้านบาท เป็นการเข้าในตลาดพันธบัตร 153,000 ล้านบาท และตลาดหุ้น 13,000 ล้านบาท

สาเหตุที่มองว่าเงินทุนต่างชาติช่วงครึ่งปีหลังจะไหลเข้าไทยน้อยกว่าครึ่งปีแรก แม้ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น เนื่องจากถ้าพิจารณาการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวระดับ 3-4% แต่ยังนับว่าน้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคที่ส่วนใหญ่ขยายตัวระดับ 5-6% อีกทั้งเศรษฐกิจใหญ่ของโลก อย่าง ยุโรป สหรัฐ และ ญี่ปุ่น ต่างมีการฟื้นที่ดีขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนมีตัวเลือกในการลงทุนที่มากขึ้นและลดปริมาณเม็ดเงินที่จะไหลเข้าตลาดการเงินไทย

นอกจากนี้ ยังต้องระวังความเสี่ยงจากภาวะเงินทุนไหลออกในกรณีที่เกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจขึ้น เช่น ความเสี่ยงจากภาวะหนี้เอกชนที่สูงถึง 160% ของขนาดเศรษฐกิจของจีน ซึ่งล่าสุดทำให้ Moody’s ถึงกับลดอันดับความน่าเชื่อของประเทศจีนลง

พูน บอกว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีโอกาสไหลเข้าตลาดพันธบัตรมากกว่าตลาดหุ้น เพราะหากเทียบอัตราดอกเบี้ยแท้จริง พบว่า อัตราดอกเบี้ยแท้จริงของไทย ยังสูงกว่าดอกเบี้ยแท้จริงของเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยไทยอยู่ที่ 0.5% มาเลเซีย 0.3% อินโดนีเซีย 0.25% จึงมีความเป็นไปได้ที่ตลาดพันธบัตรไทยจะเป็นตัวเลือกที่นักลงทุนต่างชาติจะให้น้ำหนักมากกว่าเพื่อนบ้านในการลงทุน

นอกจากนี้ หากพิจารณาจากประมาณสัดส่วน ราคาต่อกำไร เทียบอัตราการเติบโตของกำไรหรือ PEG ของตลาดหุ้นไทย เทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ พบว่า ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจน้อยกว่า ตลาดหุ้นอื่นๆ เนื่องจาก อัตราการเติบโตของกำไร เพียง 2.4% และ P/E สูงถึง 15 เท่า (PEG 6.2 เท่า) ในขณะที่ ตลาดอื่นๆ อาทิ ตลาดหุ้นยุโรป (ดัชนี Stoxx600) มี PEG เพียง 0.6 เท่าตลาดหุ้นอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มี PEG อยู่ระดับ 0.9 เท่า และ 1.1 เท่า

ด้าน “พีรพงศ์ กิจจาการ” รองผู้อำนวยการ ฝ่ายลงทุนทางเลือก บลจ. กรุงไทย มองว่า การลงทุนช่วงครึ่งปีหลังจะมีความผันผวนมากกว่าช่วงครึ่งปีแรก สาเหตุสำคัญจากการเริ่มปรับแนวทางการใช้นโยบายการเงินของเฟด พร้อมทั้งการประกาศแผนลดขนาดงบดุลซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นภายใน ต.ค. นี้ โดยเฟดจะลดประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนในช่วงแรก และจะลดเพิ่มไตรมาสละ 1 หมื่นล้านต่อเดือนจนถึงระดับสูงสุดที่ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน

ดังนั้น แนวโน้มการใช้นโยบายทางการเงินที่ยังเข้มงวด จะส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะตราสารหนี้ จากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรต่างๆ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยทำให้ราคาของพันธบัตรลดลง ในขณะที่ตราสารทุนก็ได้รับผลกระทบเช่นกันเนื่องจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้ต้นทุนทางการเงินมีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่การลดขนาดงบดุลจะทำให้สภาพคล่องในตลาดลดลง

สำหรับกองทุนต่างประเทศ คาดว่า จะให้ผลตอบแทนที่ดีในครึ่งปีหลังในรายอุตสาหกรรม เลือกกลุ่มธนาคารและไฟแนนซ์ซึ่งได้รับประโยชน์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นโดยมุมมองการลงทุนในรายประเทศ บลจ. ยังเลือกจีน เป็นเป้าหมายของการลงทุน จาก Valuation ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศเนื่องจากปัจจุบันหุ้น H-Share มีระดับ PE 8.04 ในขณะที่หุ้น A-Share มีระดับ PE อยู่ที่ 13.416 เท่า

ในขณะที่รัฐบาลจีนยังคงมีมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจากการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐที่จะเกิดขึ้น พร้อมกับการปฏิรูปประเทศในหลายด้าน ทั้งการปฏิรูประบบการเงินเพื่อให้มีความเป็นสากลและทำให้ระบบการเงินมีเสถียรภาพมากขึ้นรวมถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นๆ ให้เป็นไปในแนวทางการสร้างเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งจะเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ

พีรพงศ์ บอกด้วยว่า ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามในช่วงครึ่งปีหลังจับตาราคาน้ำมันซึ่งมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลงต่อเนื่องอีกครั้ง เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง