ชุติวรรณ อมรรัตนพันธ์ คุณหมอขวัญใจประชาชน

ชุติวรรณ อมรรัตนพันธ์  คุณหมอขวัญใจประชาชน

จักษุแพทย์ด้านจอประสาทตาที่เป็นผู้หญิงมีแทบจะนับหัวได้ หนึ่งในนั้นคือ ‘ชุติวรรณ อมรรัตนพันธ์’ ผู้ที่ค้นพบพรสวรรค์และมีความสุขในการทำหัตถการ รักษาคนไข้มาตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ และได้เข้ามาอยู่ร่วมทีมในโรงพยาบาลบ้านแพ้ว

ชุติวรรณ อมรรัตนพันธ์ /ภาพ:ฐานิส สุดโต 

จักษุแพทย์ด้านจอประสาทตาที่เป็นผู้หญิงมีแทบจะนับหัวได้ หนึ่งในนั้นคือ ‘ชุติวรรณ อมรรัตนพันธ์’ ผู้ที่ค้นพบพรสวรรค์และมีความสุขในการทำหัตถการ รักษาคนไข้มาตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ และได้เข้ามาอยู่ในทีมจักษุแพทย์ในโรงพยาบาลบ้านแพ้ว โรงพยาบาลของรัฐแห่งแรกที่แปรรูปเป็นองค์การมหาชน  กว่า 5 ปีในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยใจ จึงกลายเป็นหมอในดวงใจของคนไข้ที่เข้ามารับบริการ ด้วยการรักษาที่ไม่ใช่แค่ดวงตาแต่รักษาใจให้กับคนไข้ด้วย

จากความกลัวสู่ความชอบ

“หมอถูกสอนมาให้ต้องใส่ใจดูแลและคำนึงถึงคนไข้เป็นหลัก เวลาจะทำอะไรกับคนไข้ ต้องศึกษาข้อมูลเพื่อช่วยคนไข้ต่อสู้กับโรค และปฏิบัติเหมือนกับเป็นญาติ เพราะเวลาที่พ่อแม่ไม่สบาย เราพาไปหาหมอแล้วเจอหมอที่พูดดี จะรู้สึกดีและคนไข้เองรู้สึกว่าโรคหายไปแล้วครึ่งหนึ่งทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รักษา” คำตอบจากแพทย์หญิงชุติวรรณ หรือหมอเจี๊ยบ ที่สนใจการทำหัตถการ เช่น เย็บแผล ผ่าตัด มาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล หลังจากค้นพบว่ามีพรสวรรค์ในการผ่าตัด จึงนำไปสู่การขอทุนเรียนต่อจากโรงพยาบาลบ้านแพ้วเพื่อเรียนเฉพาะทางด้านจอประสาทตาที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ ซึ่งแต่ละปีจะรับแค่ 10 คนเท่านั้นส่วนใหญ่เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
             เหตุผลที่เลือกเป็นจักษุแพทย์ เพราะรู้สึกชอบตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ปี 5 ได้เรียนเกี่ยวกับตา 2-3 สัปดาห์ ทำให้ความคิดเปลี่ยนจากเดิมที่กลัวเรื่องตามาก เพราะโชคดีที่ได้อาจารย์สอนอธิบายโรคตาละเอียดทำให้เข้าใจได้เยอะมาก จึงรู้สึกชอบเพราะไม่ได้ยากอย่างที่คิด แต่กว่าที่เส้นทางอาชีพจะมาลงเอยที่จักษุแพทย์ เธอได้ชิมลางมาแล้วแทบจะทุกสาขาที่คิดว่าน่าสนใจในช่วงที่เป็นนักศึกษาแพทย์ เริ่มจากสาขาอายุรกรรมซึ่งส่วนตัวไม่ชอบอยู่แล้วเพราะไม่ได้ทำหัตถการ พอไปเรียนด้านสูตินรีเวชได้ทำหมันก็ได้รับคำชมว่าฝีมือดี (หัวเราะ) น่าจะเป็นหมอสูติฯ แต่ก็ไม่ชอบอีกเพราะรู้สึกไม่ท้าทายสำหรับตัวเอง
               จากนั้นไปแผนกศัลยกรรมที่มีผ่าตัดโดยตรงก็ไม่ชอบอีก เพราะเป็นสาขาที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อม 24 ชั่วโมง ตี 1 ก็จะมีคนไข้ถูกยิงถูกฟันหรืออุบัติเหตุร้ายแรง จึงไม่เหมาะกับตัวเอง อีกแผนกที่สนใจคือเด็ก เพราะคิดว่าไม่ต้องพูดอะไรมาก รักษาไปเลยแต่พอมาเจอเคส พบว่า ต้องคุยกับพ่อแม่เด็กซึ่งเหนื่อยมาก ต้องใจเย็นและใช้เวลานาน ก็ไม่เหมาะกับตนเองเช่นกัน
                 “ช่วงเรียนชั้นปี 3 มีโอกาสลงมีดผ่าตัด และได้รับคำชมจากอาจารย์หมอว่า มีพรสวรรค์ในการผ่าตัด น่าจะผ่าตัดจอประสาทตาได้ดี จึงแบ่งเคสผู้ป่วยให้มาทำบ้าง ก็รู้สึกสนุกและคิดว่าน่าจะเหมาะกับตนเองมากที่สุดจึงตัดสินใจเลือกเรียนทางนี้ หลังจากมาใช้ทุนที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว 5 ปี ทุกวันนี้ก็ใช้ทุนหมดตั้งนานแล้ว แต่ยังทำงานอยู่ที่นี่ ส่วนหนึ่งเพราะรู้สึกผูกพัน มีเคสคนไข้ผ่าตัดมากและรู้สึกว่าท้าทายอยู่ แม้จะได้รับคำชวนไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนแต่ก็เกิดคำถามว่า แล้วคนไข้ที่นี่จะทำอย่างไร จึงยังอยู่ต่อ” แพทย์หญิงชุติวรรณกล่าว


เบ้าหลอมหมอมือผ่า


แม้จะห่วงคนไข้และปัจจุบันยังคงทำงานไปเรื่อยๆ แต่ก็วางแผนจะไปศึกษาต่อในต่างประเทศ พร้อมทั้งพิจารณาเส้นทางอนาคตอย่างจริงจังว่าจะเป็นอาจารย์ หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัดจอประสาทตา แต่ระหว่างนี้ถ้ามีการประชุมแพทย์ใกล้โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ก็พร้อมที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความรู้ให้กับเพื่อนร่วมอาชีพ หมอเจี๊ยบยังให้ความสำคัญในเรื่องอาหาร เริ่มตั้งแต่คุณพ่อคุณแม่มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันและโรคหัวใจ ขณะที่เธอเป็นกรดไหลย้อนจากการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ครอบครัวนี้จึงช่วยกันใส่ใจและดูแลเรื่องอาหารเป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารที่ย่อยยากอย่างเนื้อสัตว์ ช่วงเช้ารับประทานขนมปังโฮลวีต กราโนล่าหรือธัญพืชอบกรอบ โยเกิร์ต แต่บางครั้งอาจมีอาหารทะเลโดยเน้นเมนูผักกับปลา ส่วนการออกกำลังกายจะวิ่งบนลู่วิ่งและว่ายน้ำ


“เวลาที่มีความเครียด สิ่งหนึ่งที่ช่วยได้คือการได้ระบายด้วยการพูดให้เพื่อนสนิทหรือครอบครัวฟัง แค่ได้พูดๆ เล่าๆ ออกมาก็ดีขึ้น ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะไปชอปปิง เล่นกับหลานและกินของอร่อยๆ หรือเข้าครัวทำอาหารเอง และสิ่งที่ทำให้มีความสุขคือ การท่องเที่ยวเพื่อเปิดประสบการณ์ให้กับตัวเองและคนในครอบครัว ใน 1 ปีจะไปเที่ยวกับครอบครัว 2 ครั้งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนประเทศที่ชอบไปมากที่สุดคือญี่ปุ่น เพราะรู้สึกประทับใจในวัฒนธรรมและน้ำใจของเจ้าบ้านที่ให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยว เวลาหลงทางเขาจะเต็มใจช่วยเหลือแม้จะสื่อสารต่างภาษาก็ตาม ทำให้ไปเที่ยวแทบทุกปี”

แม้ว่างานที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วจะค่อนข้างหนัก ต้องทำงานทุกวัน มีเคสผ่าจอตา 6 -7 คนต่อสัปดาห์ ทั้งยังมีตารางออกตรวจผู้ป่วยนอก (โอพีดี) วันละประมาณ 70 คน ไม่นับรวมที่ต้องออกหน่วยให้บริการผ่าลอกต้อกระจกแก่ผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร ครั้งละ 50-60 เคส ทำให้จำนวนคนไข้ที่ผ่านการผ่าตัดจากมือหมอเจี๊ยบมีมากจนนับไม่ถ้วน


“โชคดีที่ถูกฝึกมาตั้งแต่สมัยเรียนให้อดทน ลุยงานหนักได้ เพราะโรงพยาบาลศิริราชเป็นโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่ มีคนไข้เยอะมากทุกระดับ เลือกเคสไม่ได้ จะบอกว่าเตียงเต็มไม่ได้ รับไม่จำกัด คนไข้ก็เลยค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะสาหัสแค่ไหนมาก็ต้องรักษาหมด ทำให้ต้องขยัน เวลาเจอโรคหรือเคสอะไรที่ยาก จะต้องศึกษาข้อมูลเต็มที่เพื่อช่วยคนไข้ให้ได้”

เมื่อทำงานมาได้ระยะหนึ่งจนเกิดความชำชาญ เธอเริ่มมีอีโก้ จากสมัยก่อนที่คุยกับคนไข้ไม่ค่อยดุ แต่พอมีคนไข้มากขึ้น ยิ่งถ้าเจอที่พูดไม่ค่อยรู้เรื่องก็ทำให้กลายเป็นคนที่ดุขึ้น (หัวเราะ) ยกตัวอย่าง คนไข้เป็นเบาหวานขึ้นตา ไม่มารับการรักษาตามนัด 6 เดือน พอมาอีกที อาการก็ลุกลามเป็นมาก จะขึ้นเสียงดุคนไข้คนนั้น บางทีกลับมาเล่าให้คุณแม่ฟัง ว่าวันนี้ดุคนไข้ รู้สึกไม่สบายใจ ท่านจะปลอบว่า อย่าคิดมาก


“มีอยู่ครั้งหนึ่ง คนไข้กลับมารักษา เราก็ถามเสียงดุๆ ว่า ทำไมคุณป้าหายไปตั้งนาน คำตอบที่ได้รับคือ สามีและลูกเสียชีวิต ตัวเองก็ไม่สบายเป็นน้ำท่วมปอดไปนอนโรงพยาบาล ทำให้รู้สึกผิดขึ้นมาทันที หลังจากนั้นทำให้เข้าใจและเห็นใจคนไข้มากขึ้น เพราะทุกคนล้วนมีความจำเป็นในชีวิตของตนเอง เชื่อว่าทุกคนอยากมาหาหมออยู่แล้ว เพียงแต่ว่าบางครั้งมาไม่ได้ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ที่ผ่านมามีคนไข้มะเร็งระยะสุดท้าย ยังเดินทางมาหาทั้งๆ ที่รักษาไม่ได้แล้ว ก็ได้แต่บอกว่า อยากมาหาหมอก็มา ฉีดยาก็ได้ไม่ฉีดยาก็ได้ ทำให้ต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่และขจัดอีโก้”

การเป็นจักษุแพทย์ใช่ว่าจะรักษาแค่ตา แต่ยังต้องรักษาใจ คนไข้ ขณะเดียวกัน ต้องเข้าใจความจำเป็นในชีวิตของแต่ละคน ซึ่งมีบริบทแตกต่างกัน