ปลดโซ่ช้าง18เชือก อันซีนโฮมสเตย์ช้างอยู่กับคน-ยุติเร่ร่อน

ปลดโซ่ช้าง18เชือก อันซีนโฮมสเตย์ช้างอยู่กับคน-ยุติเร่ร่อน

หมู่บ้านดัง "ขุนไชยทอง" ปลดโซ่ช้าง18 เชือก เป็นอันซีนไทยแลนด์ ช้างกับคนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ยุติการนำช้างเร่ร่อน

จากที่หมู่บ้านช้าง บ้านขุนไชยทอง ต.หนองเรือ อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ เดิมเป็นหมู่บ้านที่มีการนำช้างออกไปเร่ร่อนหากินในต่างจังหวัดมากที่สุดในประเทศไทย กระทั่งวันที่ 1 ธันวาคน 59 มีโครงการ “นำช้างกลับบ้าน พาควาญคืนถิ่น” โดยได้รับการช่วยเหลือจากมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ สนับสนุนงบประมาณมาเป็นค่าอาหารช้างที่เข้าร่วมในโครงการเดือนละ 20,000 บาทต่อเชือก พร้อมจัดหานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ชอบการท่องเที่ยวแบบเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติมารองรับการทำงานของควาญและช้าง

นายธีรเชษฐ์ เปรียบสม อายุ 27 ปีอยู่บ้านเลขที่ 3 ม.2 บ้านขุนไชยทอง ต.หนองเรือ อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ควาญช้าง กล่าวว่า ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะเลี้ยงช้างไว้ใช้งาน เมื่อสภาพพื้นที่มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่หากินของช้างเป็นพื้นที่ทางการเกษตร ทำให้ไม่มีพื้นที่สำหรับเลี้ยงช้าง จึงเกิดปัญหาช้างขาดแคลนอาหารจากสภาพความแห้งแล้ง เป็นจุดเริ่มต้นที่นำช้างออกไปเร่ เพื่อหารายได้มาเลี้ยงช้างและคน พยายามที่จะช่วยเหลือตัวเอง แต่การนำช้างเร่ร่อนไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม จึงต้องนำช้างกลับบ้าน ประกอบกับมีโครงการนำช้างกลับบ้าน พาควาญคืนถิ่นจึงเข้าร่วมโครงการ

“โครงการมีข้อแม้ว่าช้างที่ร่วมโครงการจะต้องไม่ถูกล่ามโซ่ตรวนเวลาที่อยู่กับนักท่องเที่ยว ให้ล่ามเอาไว้ในโรงเลี้ยงเท่านั้น และห้ามใช้ตะขอบังคับช้าง อีกทั้งจะต้องไม่มีการขึ้นไปนั่งบนหลังช้างด้วยโดยจะต้องปล่อยให้อยู่กับนักท่องเที่ยวแบบธรรมชาติอย่างแท้จริงซึ่งนักท่องเที่ยวจะมีเพียงย่ามที่บรรจุอาหารไว้สำหรับให้ช้างกินเท่านั้นโดยที่ควาญช้างจะเป็นผู้นำมาแจกให้ซึ่งช้างที่เข้าร่วมโครงการทุกตัวจะต้องได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี เพื่อที่จะให้เคยชิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นช้างที่อายุไม่มากและมีนิสัยไม่ดุร้าย โดยในขณะนี้ได้มีช้างกลับมาบ้านและได้เข้าร่วมในโครงการนี้แล้วจำนวน 18 เชือก” นายธีรเชษฐ์ กล่าว

ที่ผ่านมา โครงการนำช้างกลับบ้าน พาควาญคืนถิ่น จัดกิจกรรมดำนากับช้างขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนได้รู้จักหมู่บ้านช้างและประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิของจังหวัดสุรินทร์ให้ต่างชาติได้รู้จักมากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยนายชูศักดิ์ ราชบุรี นายอำเภอชุมพลบุรี มาเป็นประธาน ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ ก็ได้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาร่วมกิจกรรมดำนากับช้างกันมากมายโดยนักท่องเที่ยวได้ร่วมกันลงไปปักดำนาในแปลงนาที่หมู่บ้านช้าง บ้านขุนไชยทอง สร้างความสนุกสนานและความประทับใจกับผู้ที่มาร่วมกิจกรรม โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่ไม่เคยสัมผัสกับชีวิตชาวนาไทยมาก่อนโดยการที่ได้ร่วมปักดำนากันเป็นครั้งแรกในชีวิต

นายสุริยา ศาลางาม อายุ33ปี ประธานโครงการ Elephant Lover Home กล่าวว่า รรพบุรุษเป็นผู้เลี้ยงช้างมาหลายชั่วคนและยังเป็นคนในหมู่บ้านขุนไชยทองโดยกำเนิด ก็ ขณะนี้ในส่วนของโครงการ Elephant Lover Home ได้จัดร้านค้าชุมชนโดยการจัดทำของที่ระลึกมาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวโดยทางมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อมได้ให้การสนับสนุนช่วยจัดหาสินค้ามาให้จำหน่าย ซึ่งหากท่านใดที่สนใจ ก็เข้าไปเยี่ยมชมได้ในเพจElephant Lover Home จัดให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วยเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์อีกทางหนึ่งโดยจะจัดให้นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรมร่วมกับช้างโดยการพาช้างเดินเล่น และนำช้างอาบน้ำ โดยจะจัดขึ้นตั้งแต่เวลา8.30น. ถึงเวลา11.30น.ทุกวันไม่มีวันหยุดสามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์062-425-5657ซึ่งจะต้องติดต่อจองคิวเข้ามาล่วงหน้าอย่างน้อย1วันเพื่อจะได้จัดเตรียมอาหารที่จะให้นักท่องเที่ยวใช้เลี้ยงช้างได้ทันโดยจะไม่อนุญาตให้นำอาหารจากข้างนอกเข้ามาเนื่องจากอาจจะเป็นอันตรายกับช้างได้

ด้านนางแสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า หลังจากที่เราได้จัดโครงการนำช้างกลับบ้าน-พาควาญคืนถิ่นเราก็ต้องหาทางช่วยให้เขามีเงินให้ได้ เพื่อที่เขาจะไม่พาช้างกลับไปเร่ร่อนอีก ซึ่งเราก็จัดให้มีโฮมสเตย์และก็ได้คิดกันว่าที่นี่นอกจากช้างแล้วเราก็ยังมีข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงมาก เราจึงได้จัดให้มีกิจกรรมดำนากับช้างขึ้นมาในวันนี้ เพื่อที่จะเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับหมู่บ้านช้างแห่งนี้และยังเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ข้าวหอมมะลิของไทย ให้ดังไกลไปทั่วโลกด้วยเพื่อที่จะให้เขารู้ว่าที่นี่นอกจากจะมีช้างแล้วเรายังมีของดีก็คือข้าวหอมมะลิด้วยซึ่งชาวต่างชาติที่ทราบข่าวต่างก็อยากจะมาเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้กันอย่างมากมายแต่ในครั้งแรกนี้เรายังไม่กล้าที่จะรับจำนวนมากเพราะกลัวว่าจะมีพื้นที่ให้ไม่พอซึ่งเราก็จะมีการจัดให้มีขึ้นอีกครั้งในอาทิตย์หน้าที่จะถึงนี้ซึ่งจะกำหนดวันอีกที แต่โดยในครั้งนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ

ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ยังได้กล่าวอีกว่า ในตอนนี้ที่เราได้รับการสนับสนุนอยู่ก็คือนายอำเภอชุมพลบุรี โดยท่านได้ให้การช่วยเหลือสนับสนุนเป็นที่ปรึกษามาโดยตลอด นอกนั้นยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วยเราเลยซึ่งเราก็หวังว่าทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือว่า ททท.จะได้เข้ามามีส่วนช่วยชาวบ้านเพราะลำพังชาวบ้านเองคงจะทำไม่ได้ที่ผ่านมาชาวบ้านดำเนินการเอง ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักหมู่บ้านช้างมากขึ้น นอกจากสร้างงาน สร้างรายได้แล้ว ยังทำให้ จ.สุรินทร์เป็นที่รู้จักด้วย