สยามพารากอนชู‘วอทช์ เอ็กซ์โป’ฮับเอเชีย 

สยามพารากอนชู‘วอทช์ เอ็กซ์โป’ฮับเอเชีย 

ภูมิภาคอาเซียนและเอเชียนับเป็นตลาดสำคัญของสินค้าและบริการหลายแขนง โดยเฉพาะแบรนด์นาฬิการะดับโลกล้วยมุ่งหน้าขยายตลาดในเอเชีย

โดยมี “ไทย” เป็นหนึ่งในเป้าหมายด้วยฐานกำลังซื้อผู้บริโภคกว่า 60 ล้านคน และ “อำนาจซื้อ” จากนักท่องเที่ยวอีก 30 ล้านคนต่อปี  ยังไม่นับรวมบรรดา “นักสะสม” ที่ตระเวนเก็บเรือนเวลาเข้าพอร์ต  

ชนิสา เรือนแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานกิจกรรมการตลาดและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน กล่าวว่า  ตลาดนาฬิกาเมืองไทยมีศักยภาพในการเติบโตจากฐานลูกค้าชนชั้นกลางที่ขยายตัวสูง ขณะที่ลูกค้าระดับบนมีการใช้จ่ายต่อเนื่อง 

นอกจากนี้กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศไทยยังเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นตลาด ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อเติบโตโดดเด่นในตลาดนาฬิกา  คือ ชาวจีน ฮ่องกง และนักท่องเที่ยวแถบเอเชีย

โดยไทยมีงานแสดงนาฬิการะดับโลกประจำปี  “สยามพารากอน วอทช์ เอ็กซ์โป" ภายใต้ความร่วมมือกับแบรนด์ต่างๆ ภายในสยามพารากอน และ "วอทช์ แกลอเรีย"  นำเสนอประดิษฐกรรมเรือนเวลาและคอลเลคชั่นใหม่ล่าสุดจากแบรนด์นาฬิการะดับโลกกว่า 180 แบรนด์ จำนวนกว่า 30,000 เรือน ปีนี้จัดต่อเนื่องปีที่ 11 ระหว่างวันที่ 24 ก.ค.-15 ส.ค. ภายใต้คอนเซปต์ “The Legendary Timepieces” เพื่อกระตุ้นนักช้อป ไฮเอนด์ที่ชื่นชอบการสะสมนาฬิกาและสำหรับการลงทุน  

 “นาฬิกาเปรียบเสมือนเครื่องแต่งกายที่ช่วยเสริมบุคลิกและภาพลักษณ์ซึ่งเป็นพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ในการเลือกซื้อนาฬิกา” 

ทั้งนี้ ภาพรวมของตลาดยอดขายจะเติบโตสอดคล้องมากขึ้นตามกำลังซื้อและการเพิ่มขึ้นของกลุ่มคนชั้นกลางขึ้นไป  ระดับราคาที่ผู้บริโภคนิยมเลือกซื้ออยู่ระหว่าง 50,000 -300,000 บาท เป็นสัดส่วน 55% ช่วงราคาต่ำกว่า 50,000บาท สัดส่วน 25% และราคามากกว่า 300,000บาทขึ้นไป สัดส่วน 20% 

จักรกฤษณ์ กีรติโชคชัยกุล ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสบริหารสินค้า วอทช์ แกลอเรีย บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า งาน สยามพารากอน วอทช์ เอ็กซ์โป ที่จัดเป็นประจำทุกปี สร้างการรับรู้ในกลุ่มนักช้อป นักสะสม ผลักดันการเติบโตของตลาดนาฬิกาทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชีย

แบรนด์นาฬิการะดับโลกให้ความสำคัญและสนใจตลาดเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทย ได้รับความสนใจเป็นตลาดหลักในเอเชีย มีการผลิตนาฬิกาตอบรับคนเอเชียมากขึ้น ทำให้สินค้ามีหลากหลายคอลเลคชั่น ส่งผลให้ยอดขายนาฬิกาเติบโตได้ดี ทั้งในกลุ่มผู้ใช้ นักสะสม นักลงทุน”

จากรายงานของบาเซิลเวิลด์ 2017 ซึ่งเป็นงานนาฬิการะดับโลก มีข้อมูลที่น่าสนใจ พบว่า มูลค่าตลาดรวมนาฬิกาในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 45,900 ล้านบาท แบ่งเป็น ตลาดลักชัวรี ระดับราคา 500,000 บาท ขึ้นไป มีมูลค่าตลาด 9,180 ล้านบาท หรือสัดส่วน 20%  ตลาดไฮเอนด์ ราคา 100,000-500,000 บาท มูลค่า 19,379 ล้านบาท สัดส่วน 42.22% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2%  ตลาดระดับกลาง หรือ Middle Market ราคา 20,000-100,000 บาท มูลค่า 10,405 ล้านบาท สัดส่วน 22.67 % และ ตลาดแฟชั่น-เทรนด์ ราคา 5,000-20,000 บาท มูลค่า 6,935 ล้านบาท สัดส่วน 15.11% 

โดยยอดขายนาฬิกาจากทั่วโลกได้มากระจุกตัวอยู่ที่ทวีปเอเชียถึง 49% รองลงมา คือ ทวีปยุโรป  36% ทวีปอเมริกาเหนือ 15% และอื่น ๆ เพียง 2%

อย่างไรก็ดี  ภาพรวมของ “วอทช์ แกลอเรีย” หรือแผนกนาฬิกาภายในห้างสรรพสินค้ากลุ่มเดอะมอลล์ กรุ๊ป ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเติบโต 4%  ครึ่งปีหลังคาดว่าจะเติบโต 10% ซึ่งเป็นฤดูกาลขายหลัก ผู้ประกอบการแบรนด์นาฬิกาทยอยเปิดตัวคอลเลคชั่นใหม่ มีการทำการตลาดร่วมกันระหว่างผู้ค้าปลีก แบรนด์ และพันธมิตรต่างๆ 

สำหรับนาฬิกาที่กลุ่มนักสะสมและนักลงทุนพลาดไม่ได้ในปีนี้ คือ Hublot รุ่น Big Bang Unico Chronograph Perpetual Calendar Sapphire นวัตกรรมเรือนเวลาที่เหมาะกับยุค 4.0, Montblanc รุ่น 4810 TwinFly Chronograph Limited Edition ที่มีระบบกลไกที่มีประสิทธิภาพในการทำงานสูง, Maitres Du Temps ประดิษฐกรรมเรือนที่ผลิตจาก White Gold 18 กะรัต สะท้อนความเรียบหรู และ Breitling รุ่น SUPEROCEAN HERITAGE II 46 ที่รองรับความเที่ยงตรงอย่างมีระดับ