ททท.เปิดเวทีถกแผนปี61ตั้งเป้ารายได้3.1ล้านล้าน

ททท.เปิดเวทีถกแผนปี61ตั้งเป้ารายได้3.1ล้านล้าน

ในการประชุมบูรณาการแผนปฏิบัติการ ททท. ประจำปี 2561 (Tourism Authority of Thailand Action Plan 2018 : TATAP 2018)

กำหนดทิศทางหลักของการท่องเที่ยวไทยตลอดปีงบประมาณ 2561 เปิดแนวรบดันการเติบโตของ “เศรษฐกิจฐานราก” ปูทางสู่การบริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เน้นความเข้มแข็งจากภายใน นำไทยไปสู่ประเทศรายได้สูงขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ตามแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 เต็มตัว

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ได้มอบนโยบายขับเคลื่อนการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด Think BIG มีเป้าหมายนำท่องเที่ยว Break Through หรือ “ทะลุมิติใหม่” มุ่งเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวถึง 34-35 ล้านคนในปีนี้ รวมถึงมิติด้านการกระตุ้นรายได้จากการดึงตลาดคุณภาพ

เบื้องต้น การจัดทำแผนตลาดปี 2561 ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณราว 7,085 ล้านบาท ลดลงราว 2.37% (เนื่องจากปีที่แล้วมีงบประมาณอุดหนุนโครงการพิเศษ 2 งานใหญ่) เป้าหมายรายได้รวมปี 2561 ที่ 3.1 ล้านล้านบาท เติบโตราว 10% เทียบกับปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.7 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศราว 2.1 ล้านล้านบาท แต่การขยายตัวเชิงปริมาณนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ราว 5% เท่านั้นจากยอด 34-35 ล้านคนในปีนี้

ขณะที่ตลาดในประเทศ จะเป็นครั้งแรกที่ทำรายได้แตะหลัก 1 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยว 162 ล้านครั้ง เพิ่มจากปีนี้คาดการณ์ไว้ว่าจะมีรายได้ 9.5 แสนล้านบาท จากนักท่องเที่ยว 154 ล้านคนครั้ง

BIG มีนัยยะที่สะท้อน 3 เรื่องได้แก่ B : Beyond หรือการมองมิติที่มากกว่าด้านการตลาด ให้ทะลุไปถึงการเตรียมความพร้อมด้านขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว เนื่องจากเทรนด์การท่องเที่ยวในระยะยาวต่อไปนั้น การเติบโตในเชิงปริมาณอาจจะลดความร้อนแรงลง

ยกตัวอย่างเช่นปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-9 ก.ค.มีจำนวนราว 18.2 ล้านคน ขยายตัวเพียง 4.3%แต่จะให้ความสำคัญกับการเติบโตในเชิงรายได้มากกว่า เพื่อลดผลกระทบจากการใช้ทรัพยากรจากปริมาณนักท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาไม่สมดุลกับเรื่องสิ่งแวดล้อม มีการประมาณการณ์ว่ามีปริมาณขยะที่ต้องจำกัดกว่า 1.1 หมื่นล้านชิ้นต่อปี

“ททท.ต้องออกจากโซนปลอดภัย และเริ่มมองเหนือกว่าบทบาทเดิม ไม่ใช่แค่เรื่องการขับเคลื่อนด้วยการตลาดสมัยใหม่เท่านั้น แต่ต้องเป็นองค์กรที่รับผิดชอบสังคม ช่วยสร้างสมดุลทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ดูความ พร้อมให้ชุมชนเข้มแข็งและนำการกำหนดนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของตัวเอง สังคมชุมชนเป็นผู้รับประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ มากที่สุด ไม่ใช่ให้ประโยชน์ตกอยู่ที่ออกาไนเซอร์ผู้จัดงานเท่านั้น”

ต่อมาคือ I : Impact ซึ่งต่อไปจะปรับตัวชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงาน ที่ไม่ได้จำกัดแค่การสร้างการรับรู้ หรือแค่กำหนดจำนวนอีเวนท์, เทรดโชว์ หรือโรดโชว์ที่จะลงไปจัดในแต่ละพื้นที่เท่านั้น แต่ต้องตอบได้ชัดว่า ประโยชน์ที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ชุมชน หรือภาคธุรกิจ จะได้รับคืออะไรบ้าง มูลค่าทางเศรษฐกิจจากการจัดงานแต่ละครั้งเป็นอย่างไร และที่สำคัญคือ “ความคุ้มค่าของงบประมาณ” ที่ใช้ ต้องไม่ทำให้การนำเงินภาษีอากรที่ประชาชนจ่ายมาต้องเสียงเปล่า

และสุดท้ายของ G : Greater Development ยกระดับ ททท. เป็นองค์การช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานรากอย่างเต็มที่ ทำให้ตลาดในประเทศท่องเที่ยวอย่าง “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ตามแนวทางพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ทำให้การท่องเที่ยวมีส่วนช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ ในแบบที่ชุมชนเป็นผู้นำ (Community Led) ไม่ใช่การบังคับนำแนวคิดไปสวมใส่โดยละเลยเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ท้องถิ่น แต่ยังเป็นชุมชนที่ยังมีชีวิตในแบบเฉพาะตัว และสามารถต้อนรับการท่องเที่ยวให้พอเหมาะกับศักยภาพการรองรับของพื้นที่ตัวเอง ซึ่งวิธีการก็คือ การคัดเลือกเซกเมนต์ของตลาดคุณภาพ 

เป้าหมายในปี 2561 ยังถือเป็นการสร้างรากฐานเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ซึ่งเมื่อส้ินสุดปี 2564 ไทยจะมีรายได้ 1 ใน 7 ของโลกที่ 4 ล้านล้านบาท มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน และการเดินทางภายในประเทศ 200 ล้านคนครั้ง

สำหรับความกังวลในปีนี้ ด้านตลาดต่างประเทศยังมี 3 ตลาดที่เผชิญตัวเลขติดลบ ได้แก่ จีน, อิตาลี, อังกฤษ ซึ่งต้องเร่งแก้โจทย์ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยประเมินว่าตลาดจีน จะยังครองส่วนแบ่งราว 27% มากที่สุดเช่นเดิม มีปริมาณนักท่องเที่ยว 9.2-9.5 ล้านคน ก่อนที่ปีหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคน

“การลดลงของตลาดหลักดังกล่าว อาจเป็นสัญญาณเตือนให้เริ่มฉุกคิดว่าไทยมีโครงสร้างตลาดที่ควรจะปรับอย่างไรหรือไม่ โดยเฉพาะสัดส่วนตลาดเดินทางครั้งแรก (First Visit) ในตลาดดั้งเดิมที่มีค่าเฉลี่ยเพียง 30-40% ควรจะเร่งเครื่องให้มีสัดส่วนเป็น 50% เพื่อเสริมตลาดใหม่ให้เข้ามาต่อเนื่อง หากตลาดดั้งเดิมที่เคยมาแล้ว ลดการเดินทางซ้ำ และทำให้ตัวเลขภาพรวมลดลง”

สุจิตรา จงชาณสิทโธ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. กล่าวว่า วางเป้าหมายรักษาส่วนแบ่งตลาดในประเทศ 33% เทียบกับรายได้ท่องเที่ยวทั้งหมด โดยหลังจากที่แผนปี 2560 มุ่งเรื่องการ “สร้างกระแส” ให้เกิดการเดินทางแล้ว ในปีถัดไปจะเข้าสู่การสร้างรายได้เต็มรูปแบบ ด้วยการจับเซกเมนต์ย่อยเฟ้นหากลุ่ม “กำลังซื้อสูง” ที่จะเข้ากระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายอันวัดผลได้ทันที อาทิ กลุ่มเจเนอเรชั่นวาย ที่เปิดตัวในปีก่อน ต้องมองหาให้ได้ว่ากลุ่มไหนที่พร้อมใช้จ่ายดีที่สุด เช่น กลุ่มที่เพิ่งได้งานทำครั้งแรก (First Jobbers) หรือกลุ่มสตาร์ทอัพ เป็นต้น

ส่วนกลุ่ม “ครอบครัว” ที่เคยเป็นเป้าหมายปีที่แล้ว จะแตกไลน์สู่กลุ่ม “มัลติเจนเนอเรชั่น” ด้วยการพัฒนาและนำสินค้าที่เหมาะกับทุกวัยภายในกลุ่มก้อนเดียวกันมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดจะมีการศึกษาพฤติกรรมอย่างละเอียด เช่นเดียวกับ “ตลาดผู้สูงอายุ” ที่มีกว่า 18 ล้านคน ก็ยังต้องยกเป็นเป้าหมายสำคัญต่อเนื่องเช่นกัน เมื่อไทยเคลื่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

นอกจากนั้น ในปี 2561 จะขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมส่ิงแวดล้อม, สร้างการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวมากขึ้น ด้วยการนำปฏิทินกิจกรรมทั้งหมดของ 24 เมืองต้องห้ามพลาดและเมืองต้องห้ามพลาด...พลัส มานั่งจัดระเบียบพร้อมกันเพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันดึงดูดตลาดกันเอง

การมีปฏิทินที่สอดคล้องต่อเนื่อง จะทำให้เกิดการถ่ายเทนักท่องเที่ยวกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (กรีนซีซั่น) ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่การตลาดในประเทศยังต้องแก้ไข เพื่อนำรายได้แตะ 1 ล้านล้านบาท

นอกจากนั้น รับนโยบายจากผู้ว่า ททท. ในการเตรียมขีดความสามารถในการรองรับของอุปทานในจังหวัดท่องเที่ยวต่างๆ ด้วยการบูรณาการคู่กับตลาดต่างประเทศ เช่น พิจารณาโครงสร้างพื้นฐาน หากจะรับตลาดต่างประเทศพร้อมตลาดในประเทศ จะมุ่งเป้าอย่างไร และยังขาดความพร้อมในด้านใดบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาก็เริ่มมีการจับคู่กับสำนักงานต่างประเทศในระดับหนึ่งแล้ว แต่ต้องขยายวงไปสู่ทุกภูมิภาคมากขึ้น