เดอะมอลล์ระดมต่างชาติเสริมทัพดัน‘เอ็มทรานส์ฟอร์เมชั่น’

เดอะมอลล์ระดมต่างชาติเสริมทัพดัน‘เอ็มทรานส์ฟอร์เมชั่น’

“เดอะมอลล์ กรุ๊ป” หนึ่งในทุนค้าปลีกไทยรายใหญ่ที่มี “โปรเจคยักษ์” มูลค่าหลายหมื่นล้านเตรียมพัฒนาจำนวนไม่น้อย

ท่ามกลางแรงกดดันด้าน “กำลังคน” และคลื่นการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน กลุ่มเดอะมอลล์ วางยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านกิจการ 30 ปี สู่ทศวรรษที่ 4 ด้วย “เอ็ม ทรานส์ฟอร์เมชั่น” เพื่อขับเคลื่อนองค์กรอย่างมีศักยภาพส่งต่อความมัั่นคงและยั่งยืนทางธุรกิจ

ไพบูลย์ กนกวัฒนาวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ก้าวแห่งการเปลี่ยนผ่านของเดอะมอลล์ หรือ  “เอ็ม ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ภายใต้แผนการดำเนินงานระยะ 3 ปี (2560-2562) มุ่งวางระบบบริหารจัดการภายในทุกส่วน โดยเฉพาะ “บุคลากร” และ “เทคโนโลยีไอที” เป็นภารกิจเร่งด่วน เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในระยะยาว 

เบื้องต้น  เดอะมอลล์ มีโครงการลงทุนต่อเนื่อง 4-5 ศูนย์การค้าใหม่ ซึ่งจะเป็นการ “ดับเบิ้ลธุรกิจ” จากปัจจุบัน ฉะนั้น องค์กรต้องมีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับธุรกิจไม่ให้เกิดความผิดพลาด 

ทั้งนี้  บริษัทได้ว่าจ้าง “ดีลอยท์” เป็นที่ปรึกษาในการวางระบบงาน การบริหารจัดการต่างๆ การวางระบบเทคโนโลยีไอทีรองรับโครงสร้างองค์กรและธุรกิจ  ลงทุนไม่ต่ำกว่า 500-600 ล้านบาท โดยรวมค่าใช้จ่ายในการพัฒนาและวางระบบงานครั้งนี้ราว 1,000 ล้านบาท 

การตัดสินใจ ต้องอาศัยข้อมูลมากขึ้น เพื่อให้เกิดความแม่นยำ และมั่นใจว่าจะไม่ผิดพลาด ซึ่ง 30 ปีที่ผ่านมา เรายังไม่ได้ทำเรื่องพวกนี้มากนัก จุดนี้ถึงเวลาที่ต้องลงทุน”

พร้อมกันนี้  ในโครงสร้างผู้บริหารได้เพิ่มทีมงานมืออาชีพชาวไทยและต่างชาติในวงการค้าปลีก และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น พัฒนาธุรกิจ ไอที  งานปฏิบัติการต่างๆ โดยเฉพาะ “คนรุ่นใหม่”   เข้ามาเสริมทัพร่วมขับเคลื่อนธุรกิจมากขึ้น 

โดยเฉพาะมืออาชีพทางด้านค้าปลีกจากต่างประเทศกว่า 10 คน  จาก ห้างแกลอลี่ลาฟาแยต ประเทศฝรั่งเศส ห้างแพรงตองส์ ประเทศฝรั่งเศส ห้างโรบินสัน ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น 

ยกตัวอย่าง ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต ของเดอะมอลล์ มูลค่าพอร์ตมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการขยายตัวและเติบโต 

นับเป็นจัดทัพครั้งใหญ่ของกลุ่มเดอะมอลล์ในรอบ 30 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในการวางแนวทางสืบทอดธุรกิจ (Successor) ไพบูลย์ ขยายความว่า  "นโยบายการบริหารงานของเดอะมอลล์ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนในตระกูลหรือเครือญาติ แต่ต้องเก่ง มาลีดทีม และรับผิดชอบธุรกิจขนาดใหญ่ได้  ในความเป็นผู้นำยุคใหม่ จะต้องมีความรอบรู้เรื่องธุรกิจ มีความเชี่ยวชาญด้านไอที ซึ่งเป็นเส้นเลือดของบริษัท มีความเป็น เจ้าของ และมีลีดเดอร์ชิพ"

ขณะเดียวกัน การขยายธุรกิจของกลุ่มเดอะมอลล์ซึ่งเน้นโครงการขนาดใหญ่  เบื้องต้นกว่า 4 หมื่นล้านบาท ในกรณีที่มีความจำเป็น อาจพิจารณาถึงการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่เรื่องนี้ยังไม่อยู่ในวาระสำคัญขณะนี้

 ภารกิจเร่งด่วนซึ่งเป็นนโยบายหลักของ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ยังคงมุ่งขยายการลงทุนในประเทศไทย เน้นเมืองท่องเที่ยว และให้ความสำคัญกับตลาดกรุงเทพฯ ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตทางธุรกิจสูง ด้วยความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน มีการเดินทางเข้าออกเชื่อมต่อธุรกิจการค้า การท่องเที่ยว ที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจและการบริโภคของประเทศไทยขยายตัวต่อเนื่อง

นักลงทุนหลายรายอาจมองตลาดใหม่ซีแอลเอ็มวี แต่เรามองต่าง โดยเฉพาะเพื่อนบ้าน ลาว กัมพูชา เมียนมา ขณะนี้ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ เมื่อ 40 ปีก่อน  ยังไม่ถึงเวลา” 

ทั้งนี้ กลุ่มเดอะมอลล์มีหลายโครงการเตรียมพัฒนาในมือ ล่าสุด “เดอะมอลล์ รามคำแหง” จะมีการพัฒนาในรูปแบบใหม่ ในแนวสูง 7-8 ชั้น มูลค่าโครงการไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท นอกจากนี้ มี “แบงค็อก มอลล์”  เมกะโปรเจคกว่า 100 ไร่ ย่านบางนา ซึ่ง หลายคนอาจมองว่า “ช้า” แต่เราต้องการดึงแม่เหล็กที่ดีที่สุดมาให้ได้มากที่สุด การสร้าง “แอทแทรคชั่น” ที่มีพลังดึงดูดผู้มาเยือนต้องใช้เวลา และด้วยมูลค่าโครงการกว่า 2 หมื่นล้านบาท “เปิดมาต้องปัง” เช่นเดียวกับ “บลูเพิร์ล ภูเก็ต” มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท บนที่ดิน 160 ไร่  ต้องบอกว่า...รอให้ปลาเข้ามาแน่นๆ ก่อน 

อย่างไรก็ตาม ในกรุงเทพฯ  ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ยังมีโครงการ “ดิ เอ็มสเฟียร์” ขนาด 2 แสนตร.ม. เชื่อมย่านการค้า  “เอ็ม ดิสทริค” อาณาจักรชอปปิงคอมเพล็กซ์หรูใจกลางสุขุมวิท พื้นที่กว่า 6.5 แสนตร.ม.อย่างสมบูรณ์แบบ รวมทั้งมีแผนปรับปรุงเครือข่ายศูนย์การค้าในปัจจุบันให้มีความทันสมัยตลอดเวลาอีกด้วย 

ไพบูลย์ ทิ้งท้ายด้วยว่า ประเทศมีศักยภาพด้าน “การท่องเที่ยว” ที่ได้เปรียบคู่แข่งสูง รัฐบาลต้องเร่งวางยุทธศาสตร์ส่งเสริมและขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมองว่าภารกิจเร่งด่วนของภาครัฐเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่ “ต่างชาติ” จากทั่วโลกต่างปักหมุดต้องการมาเยือนสักครั้งในชีวิต จำเป็นต้องเร่งขยายโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ สนามบิน อาคารผู้โดยสาร รองรับปริมาณสายการบินและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น 

ทุกสายการบินอยากลงสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ทั้งสิ้น แต่โครงสร้างพื้นฐานกลับรองรับไม่ทัน ไทยมีจุดเด่นของค่าครองชีพที่ต่ำ มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณีที่โดดเด่น ไทยต้องเร่งติดปีกให้ได้ภายใน 10 ปีนี้  ขยายเทอร์มินอล 2-3-4  ใช้นโยบายทางด้านภาษีกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อการชอปปิง ลดภาษีสินค้าแบรนด์เนม เปิดแข่งขันธุรกิจดิวตี้ฟรี จะทำให้ไทยแข่งขันกับทั่วโลกที่ต่างมุ่งดึงนักท่องเที่ยวมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศด้วยกันทั้งสิ้น” 

การเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะทำให้เกิดการขยายตัวของภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมาก เกิดการกระจายรายได้อย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมกลุ่มคนทุกระดับชั้นทั่วประเทศ เทียบภาคอุตสาหกรรมที่มีกลุ่มได้รับอานิสงส์ในวงจำกัด หรือกระจุกตัวมากกว่า

ประการสำคัญ ประเทศไทยกำลังต้อนรับนักท่องเที่ยว 40-50 ล้านคนในเร็ววัน คือ อำนาจซื้อที่ไม่อาจปล่อยผ่านไปได้