Food for Good อิ่มท้องอิ่มใจ ได้คุณค่า

Food for Good อิ่มท้องอิ่มใจ ได้คุณค่า

ขณะที่ไทยเป็นประเทศอุดมสมบูรณ์ทางอาหาร กลับมีเด็กไทยเป็นโรคขาดสารอาหารกว่า 3 ล้านคน “ฟู้ด ฟอร์ กู้ด” จึงเป็นแม่งาน ระดมความรู้โภชนาการ แหล่งอาหารดีชั้นดีจากเครือข่ายธุรกิจอาหาร ไปถึงน้องๆที่อยู่ห่างไกลให้มีทางเลือกกินได้อาหารครบคุณค่า

“You are what you eat” กินอะไรก็ได้อย่างนั้น เด็กไทยในโรงเรียนห่างไกล ซึ่งเป็นอนาคตของชาติจึงควรมีทางเลือกในการกินเพื่อไปบำรุงพัฒนาการเจริญเติบโตและสติปัญญา เป็นสรรพกำลังสร้างชาติในรุ่นต่อไป ประภาพรรณ บรรลุศิลป์ผู้จัดการโครงการ Food4Good พี่อิ่มท้อง น้องอิ่มด้วย เล่า 

เธอยังเผยสถิติจากกระทรวงศึกษาธิการที่พบว่าเด็กไทยมีภาวะ ทุพโภชนาการ” หรือขาดสารอาหารกว่า 3 ล้านคน เกิดจากร่างกายได้รับสารอาหารไม่สมดุล โดยเฉพาะแหล่งโปรตีน จากเนื้อสัตว์ สิ่งจำเป็นในการเจริญเติบโต

“เด็กไทยในต่างจังหวัดที่บ้านอยู่ห่างไกลโรงเรียน ต้องนอนค้างในโรงเรียน พบว่าส่วนมากขาดแหล่งโปรตีน และแหล่งสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ไม่มีสิทธิ์เลือก จะกินได้เฉพาะวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น

เงินค่าอาหารของนักเรียนในโรงเรียนที่ได้มื้อละ 20 บาท แต่เด็กต้องกินอยู่ที่โรงเรียน 3 มื้อ ครูจะเข้าไปตลาดเพื่อซื้ออาหารสดให้เด็กเพียงสัปดาห์ละครั้ง ไม่มีตู้เย็นเก็บความสด ทำให้สารอาหารหมดไปในวันท้ายๆ ของสัปดาห์ เนื้อสัตว์ และอาหารก็ต้องกินแบบเท่าที่มี"

นี่คือความเป็นจริงที่ต้องยอมรับ ความไม่พร้อม ทางอาหารที่เกิดขึ้นกับเยาวชนของชาติ ทั้งที่ประเทศไทยเป็นแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ ผลิตอาหารจนได้ชื่อว่าเป็น "ครัวของโลก" ที่สำคัญ คนเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร มีแหล่งตะลุยกิน เป็นแฟชั่นต้องแชะและชิม ร้านอาหาร ภัตตาคารและโรงแรมดัง แหล่งอาหารหาได้ตามสะดวกทุกหัวมุมของซอยแบบเหลือกินเหลือใช้ มีหลากหลายระดับตั้งแต่ถูกไปหาแพง แต่มีคนอีกกลุ่มไม่มีโอกาสได้รับสารอาหารครบ

เราเห็นถึงความไม่สมดุลของอาหารในประเทศเรา คนเมือง มีทั้งร้านอาหารมากมาย แต่กลับมีน้องนักเรียนในโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลขาดสารอาหาร” ประภาพรรณ เล่า

จึงเป็นที่มาของการชักชวนเหล่าธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารมาทำโครงการเสิร์ฟอาหารดี มีคุณค่าโภชนาการครบไปเติมอาหารสมอง และพัฒนาการให้กับเด็กไทย ในชื่อโครงการ อย่าง “Food4Good พี่อิ่มท้อง น้องอิ่มด้วย  โดยมีมูลนิธิ”ยุวพัฒน์”ให้การสนับสนุน

โดยเริ่มชักชวนโรงแรม ภัตตาคาร นำความรู้ทางโภชนาการมาคิดเมนูแนะนำอาหารจานใหม่ ใครสั่งเมนูนี้อิ่มอร่อยแล้ว ยังแบ่งเม็ดเงินจากอาหารนี้ไปเป็นทุนเลี้ยงอาหารกลางวันให้เด็กๆ หรือมีทางเลือกร่วมมือกันที่หลากหลาย ทางร้านอาจจะคิดเมนูขึ้นมาเอง หรือการแบ่งจำนวนรายได้บางส่วนมายังโครงการฯ

เช่น อาฟเตอร์ยู เข้าร่วมกับเราก็คิดเมนูพิเศษขึ้นมาใหม่ และติดป้ายฟู้ด ฟอร์ กู้ด นำรายได้จากเมนูที่คิดใหม่ไปแบ่งปันให้น้องๆ หรือ เป็นเมนูเดิมก็ได้ที่ขายดีก็แบ่งส่วนหนึ่งให้น้องๆ เช่น สเต็กเนื้อนิวยอร์ค ที่ขายในซิสเลอร์ หรืออาจจะเป็นเอสแอนด์พี การันตีเค้กทุกก้อน จะส่งรายได้บางส่วนไปทำเมนูอาหารให้น้องๆทาน

คนที่มาทานอาหารในร้านภัตตาคารและโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากได้ทานเมนูสร้างสรรค์ใหม่ๆ โดยเชฟ ที่มีความชำนาญในการปรุงอาหารครบรส ได้คุณค่า ลูกค้าทานแล้วอิ่มท้องแล้ว ยังได้มีส่วนร่วมส่งต่อคุณค่าอาหารโภชนาการให้กับเด็กๆ ความภูมิใจในการสั่งอาหารก็เพิ่มขึ้นไปอีก

มากไปกว่าการบริจาคเป็นทุนเลี้ยงอาหารเด็กๆแล้ว โครงการฟู้ด ฟอร์ กู้ด ยังชวนพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการทำงานร่วมกับครู พ่อพิมพ์และแม่พิมพ์ของชาติ นอกจากสอนหนังสือและยังเป็นพ่อครัวแม่ครัวให้กับเหล่าเยาวชนของชาติ

บรรดาพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ ไม่ใช่มืออาชีพด้านการทำอาหารที่ไหน จึงต้องการคำแนะนำจากเชฟมืออาชีพ ถึงวิธีการปรุงอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ โดยเลือกหยิบวัตถุดิบในท้องถิ่นเท่าที่มีมาปรุงอาหาร โดยได้คุณค่าอาหารครบ ไม่เฉพาะเพียงแหล่งโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ยังมีแหล่งโปรตีนจากผักที่หาได้ในท้องถิ่น เพียงเลือกมิกซ์แอนด์แมชมาปรุงให้อร่อยและได้คุณค่าอาหาร

ตามสูตรของเชฟ จากภัตตาคาร ร้านอาหาร และโรงแรมพันธมิตรในเครือข่าย ฟู้ด ฟอร์ กู้ด

พันธมิตรที่มาร่วมเป็นเครือข่ายส่งต่อคุณค่าสารอาหารให้กับน้องๆ นักเรียนในโรงเรียนมาเต็มใจมาช่วยในสิ่งที่เป็นจุดแข็งของพวกเขาอยู่แล้ว คือความรู้ด้านอาหารเมนูโภชนาการ มืออาชีพด้านอาหารเพื่อธุรกิจแล้วยังแบ่งไปทำเพื่อสังคมได้ด้วย

ร้านที่เข้าร่วมจะได้รับคุณค่านอกจากการทำดี ได้ทำอะไรที่คืนกลับสังคม ยังได้ใช้ความเป็นมืออาชีพในธุรกิจตัวเองทำได้มากกว่าที่ทำอยู่ปัจจุบันที่สร้างสรรค์เมนูอร่อยให้กับลูกค้าในร้านแล้ว ยังแบ่งปันคุณค่านี้ไปถึงเด็กๆที่ขาดสารอาหารได้ด้วย ความสุขจึงไม่ใช่แค่ยอดเงินบริจาค แต่ได้เห็นน้อง ๆ อนาคตของชาติมีพัฒนาการสมวัย เติบโตแข็งแรง

โครงการฟู้ด ฟอร์ กู้ด เดินทางมา 3 ปี (ตั้งแต่ปี 2557) มีจำนวนเด็กนักเรียนที่โครงการเข้าไปเลี้ยงอาหารกลางวันมีประมาณ 976 คน รวม 3 แสนกว่ามื้อ รวมถึงมีเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจอาหารแบรนดังๆ มากมายโดยรวมประมาณ 95 ราย ทุกแบรนด์ล้วนมีโครงการรับผิดชอบต่อสังคม(CSR) ที่ทำกันในบริษัทอยู่แล้ว แต่ก็เต็มใจเข้าร่วมเพราะโครงการนี้เป็นการส่งต่อคุณค่าตรงจากสิ่งที่ธุรกิจมีจุดแข็ง ที่ไปกระจายต่อให้ถึงเด็กเยาวชนของชาติ และยังเป็นเครือข่ายที่สร้างคุณค่าให้กับแบรนด์

แบรนด์ที่เข้าร่วมนอกจากจะเป็นแบรนด์ที่ทำให้คนรู้สึกดีต่อแบรนด์ ที่เพิ่มคุณค่าแบรนด์ (Brand Value) ที่มีเครือข่ายพันธมิตรแบรนด์ดีๆ กว้างขวางมากขึ้น ทำให้แบรนด์เป็นที่รักของคน

เป้าหมายในปี 2560 คาดว่ามีพันธมิตรเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หรือประมาณ 180 รายที่เข้าร่วม เครือข่ายพันธมิตรที่มีไม่จำกัดแค่เพียงกลุ่มร้านอาหาร โรงแรม ภัตตาคาร แต่ยังรวมถึง “เครือข่ายคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาหาร” เช่น เครื่องครัวนกนางนวล สิ่งที่ทำให้พันธมิตรมีจำนวนมากขึ้น เพราะความโปร่งใสในการทำงาน เปิดเผยบัญชีและมีรายงานคุณค่าโภชนาการและความเปลี่ยนแปลงที่เด็กที่เข้าร่วมโครงการได้รับ

แม้จะมีพันธมิตรเข้าร่วมแต่ก็ต้องยอมรับว่า โครงการนี้ยังไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ด้วยจำนวนเด็กไทยที่ยังต้องการความร่วมมือเช่นนี้อีกในหลายพื้นที่

สิ่งที่จะทำให้แบรนด์ ฟู้ด ฟอร์ กู้ด มีโอกาสเติบโตและจูงใจให้พันธมิตรเข้าร่วมมากคือ การสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) เมื่อมีเครื่องหมาย ฟู้ด ฟอร์ กู้ด อยู่ในเมนูของร้าน หรืออยู่ในร้าน การันตีได้ถึงความเป็นร้านดี ที่ทำธุรกิจดี อาหารดี และส่งต่อคุณค่าอาหารดีๆให้กับเด็กขาดการโภชนาการที่ถูกต้องในสังคม

ตอนนี้การรับรู้ของแบรนด์ยังน้อย โครงการนี้จึงยังเติบโตไปไกลได้อีก แม้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่หากเทียบกับจำนวนธุรกิจอาหารในประเทศที่มีจำนวนมาก และปัญหาเด็กขาดสารอาหารอีกนับล้านคน จึงเป็นสิ่งที่ต้องขยายผลให้มากขึ้น