วิชั่นทายาท’โชควัฒนา’เคลื่อนธุรกิจแสนล.

วิชั่นทายาท’โชควัฒนา’เคลื่อนธุรกิจแสนล.

ส่องทายาทสหพัฒน์ ลับคมคิด เคลื่อนธุรกิจแสนล้านบาท ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ กำลังซื้อ พร้อมปฏิวัติองค์กร ทะยานสู่การเติบโตใน 5 ปีข้างหน้า

เป็นประจำทุกปีในสำหรับงาน “สหกรุ๊ปแฟร์” ที่จะได้เห็นบรรดาทายาทตระกูล “โชควัฒนา” หนึ่งในตระกูลใหญ่แห่งวงการธุรกิจไทย ตบเท้าออกมาพูดคุยถึงแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจ มูลค่าราว 3 แสนล้านบาท ของเครือสหพัฒน์ เบอร์ 1 สินค้าอุปโภคบริโภค ยังมีธุรกิจสิ่งทอ เสื้อผ้า แฟชั่น เครื่องสำอาง และอีกหลากธุรกิจ

ไม่กี่ปีให้หลัง “ทายาท” ถูกผลักดันให้อยู่หน้าเวที เป็นสปอตไลท์ในงาน ไม่ว่าจะเป็น ธรรมรัตน์ โชควัฒนา, ธีรดา อำพันวงษ์ บุตรชายคนโต และบุตรสาวคนรองของ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ เวทิต โชควัฒนา บุตรชายคนที่สองของ “บุณย์เอก โชควัฒนา” พี่ชายคนโตของเสี่ยบุณยสิทธิ์ และ พิภพ โชควัฒนา บุตรชายของ “บุญปกรณ์ โชควัฒนา” พี่ชายอีกคนของเสี่ยบุณยสิทธิ์

ทว่า ในงานสหกรุ๊ปแฟร์ครั้งที่ 21 ทายาทหน้าใหม่ ที่ออกสื่อเต็มตัว ต้องยกให้ “ฐิติภูมิ โชควัฒนา” ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) บุตรชายคนเล็กของบุณยสิทธิ์ ที่ร่วมวงอยู่แถวหน้าในการบันทึกความตกลงระหว่างเครือสหพัฒน์กับ “ลาซาด้า” ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ และครั้งนี้สื่อแซวกันยกใหญ่ว่า “เด็กปั้นเสี่ยบุณยสิทธิ์” เรียกรอยยิ้มกว้างจากคู่พ่อลูก

เช่นกันที่ทุกปีภายในงาน จะมีกิจกรรมหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ “นักวิเคราะห์ นักลงทุนพบกลุ่มสหพัฒน์” ซึ่งครั้งที่ 9 โดยเหล่าทายาทและบรรดาผู้บริหารมืออาชีพจะออกมานั่งเรียงรายเล่าถึงทิศทางธุรกิจและ “อนาคต” การเติบโตขององค์กรในภายภาคหน้า

โดยเหล่าทายาทไม่ว่าจะเป็นประวรา เอครพานิช บุตรสาวของ “ศิรินา โชควัฒนา ปวโรฬารวิทยา” รวมถึงทายาทของผู้ร่วมหัวจมท้ายกับบุณยสิทธิ์อีกหลายคนทั้งตระกูล “พะเนียงเวทย์” และ “ธรรมโมนัย” เป็นต้น

สหพัฒน์ เป็นองค์กรเก่าแก่กว่า 70 ปี ขับเคลื่อนธุรกิจแล้วสู่เจเนอเรชั่นที่ 4 ซึ่งมีเลือดใหม่ประมาณ 17 ชีวิตที่เข้ามาบริหาร ครั้นถามประธานเครือสหพัฒน์ว่า เริ่มปูทางหรือหมายตาทายาทคนไหนให้สืบทอดอาณาจักร

บุณยสิทธิ์ ตอบสั้นๆว่า “ก็ดูเอาสิ..อยู่บนเวที..!!” ปรายตาไปมองเห็นก็เห็น ธรรมรัตน์, เวทิต, ธีรดา และพิภพ

ทว่าด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สดใส พวกเขาเหล่านี้จะมีกลยุทธ์หรือแนวทาง “ฝ่ามรสุม” กำลังซื้อเฉพาะหน้าที่ซบเซาอย่างไร

เริ่มที่ “เวทิต โชควัฒนา” กรรมการผู้อำนวยการ บมจ. สหพัฒนพิบูล เล่าว่า ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค มีการแข่งขันกันรุนแรง เพราะสินค้าทุกแบรนด์จะต้อง “เติบโต” เมื่อมีฝ่ายตั้งเป้าหมายสูง แต่ตลาดไม่รับ ก็ต้อง “เทกระจาด” ลดราคากันยกใหญ่ แม้ “มาม่า” จะเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่แบรนด์แข็งแกร่งและเป็นสินค้าพระเอกของเครือ แต่หยุดนิ่งไม่ได้ ต้องหาสินค้าใหม่ รสชาติใหม่ มาตอบโจทย์ผู้บริโภคอยู่เสมอ รวมถึงมองหาสินค้าที่เป็น “โอกาส” ไม่ว่าจะเป็นการรับเทรนด์สังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น

นอกจากผลักสินค้าให้โต บริษัทยังได้ปรับห่วงโซ่การผลิตหรือซัพพลายเชน โดยเฉพาะปลายน้ำที่ร่วมกับร้านค้าทั่วไปพัฒนาเพื่อยกระดับให้ระบบค้าขายให้สามารถเช็คสต็อกได้ เชื่อมการค้าเข้ากับระบบของสหพัฒน์ แชร์ข้อมูลต่างๆ รู้ว่าโรงงานจะผลิตอะไร คนขายจะขายอะไรเพื่อรับกับดีมานด์ผู้บริโภค ซึ่งเป็นลักษณะ “กึ่งโมเดิร์นเทรด” ท้ายสุดทำให้ซัพพลายเชน “หมุนเร็ว”

นอกจากนี้ ยังต้องเสริมแกร่งระบบจัดจำหน่าย พัฒนาการขนส่งสินค้า ไอทีต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการค้าขาย เพราะเขามองแนวโน้มตลาดอุปโภคบริโภคในอนาคต 5 ปีข้างหน้าแม้จะไม่เติบโตหวือหวา แต่กระนั้นก็ไม่หดตัวฮวบฮาบ เพราะยังเป็นสินค้าจำเป็นต้องกินใช้ แต่ธุรกิจจะมีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ จากคู่แข่งต่างชาติที่เข้ามาต่อกร จึงต้องทำองค์กรให้แกร่ง

“หากเจอตาน้ำที่ดี ก็เป็นไปได้ที่จะขยายกำไรให้โต..ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้..!”

มองภาวะเศรษฐกิจในโหมดเดียวกัน สำหรับ “ธรรมรัตน์ โชควัฒนา” กรรมการผู้อำนวยการและรองประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล เพราะตลาดสินค้าแฟชั่นทั้งหมดค่อนข้างอยู่ในอารมณ์ซึมๆ ซ้ำยังเจอพฤติกรรมชาช็อป “เปลี่ยน” ด้วยอิทธิพลของเทคโนโลยี โลกดิจิทัล การวางกลยุทธ์เคลื่อนธุรกิจจึงต้องมองภาพใหญ่ขึ้น และเน้นไปที่ “การบริหารจัดการด้านซัพพลายเชน” ปรับกระบวนการออกสินค้าใหม่ ไม่พึ่งพิงข้อมูลการขายในอดีตอย่างเดียว แต่นำข้อมูลตลาดมาประเมินการผลิตสินค้า วางขายช่องทางใดบ้าง รวมถึงปรับด้านคลังสินค้าและโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ

ช่องทางใหม่ที่น่าสนใจหนีไม่พ้น “ออนไลน์” ทำให้ต้องปรับปรุงการออกสินค้าใหม่ให้ตรงใจกลุ่มเป้าหมายโลกดิจิทัล ทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจในการชอปปิง เพราะจากการลองผิดลองถูกในอดีตทำให้รู้ว่า การนำสินค้าที่มีไปแปะหรือโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ต่างๆเพื่อขาย ไม่ใช่คำตอบ

“พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ห้างค้าปลีกเผลอๆจะเป็นที่โชว์สินค้า แล้วผู้บริโภคกลับมาช็อปที่บ้าน เราจึงพัฒนาระบบการทำงานใหม่หมด ทั้งเมอร์เชนไดส์ คลังสินค้า ขนส่ง”

นอกจากนี้ ยังมองการลุยตลาดต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้ไอ.ซี.ซี.ยังไม่บุกหนัก รวมถึงมองช่องทางการขายตรง เป็นต้น

“สิ่งที่เราอยากได้คือ ไม่อยากมีไข่ในตะกร้าใบเดียว ช่องทางออนไลน์ กับตลาดประเทศเพื่อนบ้านน่าจะทำให้เราเติบโตก้าวกระโดด”

ย้ำเสมอว่าเศรษฐกิจจะขาขึ้นหรือดำดิ่ง ผู้บริโภคก็ยังอยากสวย แต่การแข่งขันในตลาดเครื่องสำอางก็ดุเดือดมาก! คำบอกเล่าของ “ธีรดา อำพันวงษ์” กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โอซีซี

โดยการแข่งขันที่รุนแรง เพราะมีแบรนด์ต่างประเทศตบเท้าเข้ามาแบ่งเค้กมากขึ้น “แต่ละแบรนด์แข็งแรงมาก แบรนด์ไทยอย่างเราต้องพัฒนาสินค้าให้ทันกับตลาด รุกช่องทางใหม่ๆ เช่น ออนไลน์เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยส่วนหนึ่งจะอาศัยหน้าร้าน “ลาซาด้า” ที่เครือเพิ่งลงนามความร่วมมือครั้งใหญ่ไป หากพัฒนาตลาดได้ เธอการันตีว่า 2 ปีข้างหน้าอาจเห็นยอดขายที่ “เติบโตมากขึ้น”

แม้ภาพรวมรายได้ปี 2559 จะลดลงจากปีก่อนหน้า ทว่าการพลิกธุรกิจให้มี“กำไรสุทธิ” จากขาดทุน ย่อมสำคัญกว่า เพราะนับวันธุรกิจเสื้อผ้าที่แม้จะจำเป็นต่อการสวมใส่ แต่ “ความยาก” มีอยู่เยอะเมื่อ “ผู้เล่น” ในตลาดมากขึ้น มุมมองของ “ประวรา เอครพานิช” กรรมการผู้จัดการ บมจ.บูติค นิวซิตี้

เวลานี้เสื้อผ้า สินค้าแฟชั่นทั้ง “ถูก” และ “แพง” เข้ามาทำตลาดยุบยับ โดยที่ไม่รู้มาจากไหนบ้าง ส่วนผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายก็หลากหลายเลือกใช้ตามเซ็กเมนท์กันไป

ด้วยการที่บริษัทมีสินค้าทั้งเสื้อผ้าสำเร็จรูป ออกแบบและตัดเย็บเครื่องแต่งกายสำหรับองค์กรแบรนด์ UNIFORM SPECIALIZER ได้สิทธิ์จำหน่าย GUY LAROCHE, GSP, JOUSSE และ SPRINGRFIELD ฯ การจะขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตได้ และอยู่อย่างแข็งแกร่ง ต้องพร้อมเข้าใจลูกค้า รู้ว่าลูกค้ามองหาอะไร เพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น ผ่านช่องทางออนไลน์ ออฟไลน์

ถามว่าเป้าหมายการเติบโตข้างหน้า 5 ปีจะเป็นอย่างไร แต่ย้ำว่า

“เราต้องอยู่ได้ในสภาพที่เติบโตอย่างมั่นคง เพราะผู้เล่นเข้ามาเยอะมาก ระบบงานจะทำให้เราชนะคู่แข่ง”

ปิดท้ายที่ “พิภพ โชควัฒนา” รองประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บมจ.นิวซิตี้ (กรุงเทพ) บอกว่า การเติบโตของธุรกิจจากนี้ไป ได้พลิกมุมมองโอกาสใน “ทุกช่องทางจำหน่าย” จากอดีตจะเป็นการมองที่ “ยี่ห้อ” หรือตราสินค้าเป็นหลัก โดยนาทีนี้บริษัทพยายามสวมบทบาทเป็น “ผู้กระจายสินค้า” มากขึ้น เนื่องจากมีจุดแข็งของการมีช่องทางขายสินค้าหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ยี่ปั๊วซาปั๊ว ห้างสรรพสินค้า ห้างโมเดิร์นเทรด และอีคอมเมิร์ซ

ทั้งนี้ บริษัทจึงต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การทำงานใหม่ รวมถึงกลับมาชั่งน้ำหนักสินค้าที่มีการเติบโตในแต่ละกลุ่มมากขึ้น

“เราจะเติบโตทุกทางในมิติของตัวแทนจำหน่าย และการเติบโตใน 5 ปีข้างหน้า ยังมองเป็นตัวเลขหลักเดียว"