“ดีอี”ฟอร์มทีมลุย“บิ๊กดาต้าภาครัฐ”

“ดีอี”ฟอร์มทีมลุย“บิ๊กดาต้าภาครัฐ”

“พิเชฐ”สั่งตั้งคณะทำงานฯ ศึกษาแนวทางการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบบิ๊กดาต้าภาครัฐ เน้นใช้ประโยชน์ข้อมูลพัฒนาประเทศทุกมิติ ทั้งบริหารจัดการตรวจสอบการใช้งบประมาณ-รายได้รัฐให้มีประสิทธิภาพ

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่าได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อการศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบบิ๊ก ดาต้าของภาครัฐขึ้น โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานคณะทำงาน มีรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นรองประธาน 

พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงานฯ อาทิ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสถิติแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กรมที่ดิน เป็นต้น รวมทั้งมีผู้แทนสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ.ร่วมเป็นฝ่ายเลขานุการคณะทำงานฯ

สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานฯ ชุดนี้ คือ กำหนดกรอบแนวทางการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาบิ๊กดาต้าของภาครัฐ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และกรอบระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งจัดทำแผนแม่บทฯ ให้สอดคล้องกับกรอบแนวทางดังกล่าว ตลอดจนออกแบบและพัฒนาระบบนำร่องที่สามารถนำไปใช้ได้จริงเพื่อการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม

เนื่องจากที่ผ่านมาพบปัญหาด้านข้อมูลของภาครัฐ เป็นข้อมูลที่ใช้เฉพาะหน่วยงาน มีระเบียบกฎหมายที่ไม่สามารถแบ่งปันหรือเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ รวมทั้งโครงสร้างข้อมูลมีความซับซ้อนใช้งานยากและขาดความน่าเชื่อถือ 

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องผลักดันให้มีแผนการบูรณาการการทำงานด้านระบบจัดเก็บข้อมูลใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงานของภาครัฐสูงสุด สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งมีหลักในการทำงาน คือ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน พร้อมปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ สนับสนุนนโยบายการทำงานในเชิงรุก ส่งเสริมการให้บริการประชาชน และตอบสนองได้ตรงตามความต้องการของประชาชน

“เป้าหมายการพัฒนาระบบบิ๊กดาต้านั้น จะทำให้การใช้งบประมาณและเงินรายได้ต่างๆ ของภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถตรวจสอบข้อมูลการใช้งบประมาณได้ดียิ่งขึ้น โดย บิ๊กดาต้าจะช่วยคาดการณ์และวิเคราะห์ข้อมูลด้านต่างๆ ได้แม่นยำ อาทิ ข้อมูลการเสียภาษี ข้อมูลสาธารณสุข แนวโน้มอาชญากรรม"

การพัฒนาดังกล่าวจะทำให้ประชาชนได้รับการบริการต่างๆ ที่ดีขึ้น อีกทั้งจะทำให้เกิดความร่วมมือจากภาคเอกชนมากขึ้นจากการนำข้อมูลไปใช้ และได้รับข้อมูลใหม่ๆ จากประชาชน (Crowd sourcing) หรือจากอุปกรณ์อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที)ตลอดจนเป็นการสร้างทักษะและผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลมากขึ้นด้วย 

นอกจากนั้นยังสามารถใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในประเทศได้อีกทางหนึ่ง ที่ผ่านมาปัญหาสำคัญข้อหนึ่ง คือ ข้อมูลความยากจนของคนในประเทศเป็นข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกัน ไม่สามารถระบุข้อมูลผู้ที่มีรายได้น้อยได้อย่างถูกต้อง ใช้งบประมาณซ้ำซ้อนในการจัดสรรสวัสดิการ ทำให้ขาดข้อมูลสนับสนุนในการกำหนดนโยบายช่วยเหลือประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ