พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว...กับคราบน้ำหมากที่จางไป

พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว...กับคราบน้ำหมากที่จางไป

พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฉบับล่าสุด นอกจากจะสะท้านไปทั้งแผ่นดิน ยังเป็นการเขย่าฝุ่นใต้พรมให้ปรากฏกาย แถมยังฉายคุณค่าของแรงงานเหล่านี้อย่างที่หลายคนไม่เคยมองเห็น

            เป็นประเด็นให้อกสั่นขวัญแขวนกันพักใหญ่ เมื่อจู่ๆ พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ถูกประกาศใช้โดยที่หลายคนไม่ทันตั้งตัว แถมยังมาพร้อมบทลงโทษรุนแรงโดยเฉพาะกับกลุ่ม ‘แรงงานเถื่อน’

            เมื่อโทษโหดกว่าเก่า ทั้งแรงงานบางรายและนายจ้างบางคนจึงจำเป็นต้องตัดไฟแต่ต้นลม เกิดเป็นภาพแรงงานต่างด้าวตีตั๋วกลับประเทศบ้านเกิดกันเป็นแถว แม้จำใจจากแต่ก็อาจจะคุ้มกว่าอยู่ต่อแล้วต้องเสี่ยงทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งโทษหนักที่ว่ามีถึงขั้นปรับนายจ้าง 4-8 แสนบาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน และลูกจ้างก็อาจต้องติดคุกด้วย

            แม้ตอนนี้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฉบับดังกล่าวจะแตะเบรกชะลอการบังคับใช้ออกไป แต่ผลกระทบก็เกิดขึ้นแล้ว...

            ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ระบุว่าเกิดผลกระทบในอุตสาหกรรมขนาดไม่ใหญ่มาก เช่น ตัดเย็บเสื้อผ้า ประมง ก่อสร้าง สอดคล้องกับที่ บอย ชาวเมียนมาวัย 41 ปีคนงานบริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งหนึ่งย่านพระราม 2 เล่าว่าบริษัทที่เขาทำอยู่ได้รับผลกระทบรุนแรงมาก

            “บริษัทที่ผมทำอยู่ปกติมีคนงานประมาณ 300 คน แต่พอมีกฎหมายนี้ออกมาคนงานเมียนมาก็หนีกลับบ้านไปประมาณ 200 คน ตอนนี้เลยเหลือคนงานแค่ 100 กว่า เป็นความเสียหายของบริษัทอย่างมากครับ”

            นอกจากนี้เขายังให้ข้อมูลที่ชวนคิดต่อว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เพราะคนงานเกือบทั้งหมดที่กลับประเทศไป ล้วนมีใบอนุญาตถูกต้อง เพียงแต่ว่าข้อมูลนายจ้างของบางคนไม่ตรงกับตอนที่ทำใบอนุญาตแล้วเนื่องจากการย้ายงาน ซึ่งถ้าตามบทกฎหมายก็ถือว่าผิด และถ้าต้องรับโทษตาม พ.ร.ก.ใหม่นี้ ย่อมไม่มีใครอยากเสี่ยง

            ในมุมของเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ อดิศร เกิดมงคล ตัวแทนจากเครือข่ายดังกล่าวบอกว่าการชะลอกฎหมายครั้งนี้มีรายละเอียดที่น่าจะบรรเทาความตระหนกตกใจของนายจ้างและแรงงานต่างด้าวไปได้หลายเปราะ

            เหมือนกับที่ สมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน เล่าว่าตอนนี้ความตื่นกลัวลดลงแล้ว แต่จำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ให้ทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าวรับรู้มากขึ้น เพื่อให้ใครต่อมิใครที่ยังมีปัญหาเรื่องเอกสารได้มีโอกาสจัดการให้เรียบร้อย

            แม้จะมีหลายฝ่ายหวั่นใจว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งองคาพยพ แต่ถึงตอนนี้ยังไม่พบว่าธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบชัดเจน ซึ่งอาจเพราะกฎหมายชะงัก

            “ในกิจการขนาดใหญ่ยังไม่ค่อยมีผลกระทบชัด แต่ในกิจการขนาดเล็ก เช่น งานก่อสร้าง งานเกษตรกรรม ประมง การค้าขายทั่วไป พวกนี้จะเห็นปรากฏการณ์ที่ชัดเจนว่าไม่มีคนทำ และผมมองว่าผลกระทบส่วนมากอยู่กับเศรษฐกิจระดับฐานชุมชน อย่างเช่นหอพัก พอคนงานกลับประเทศก็ไม่มีคนเช่า ถ้าระยะต่อไปไม่มีวิธีการแก้ไข ก็อาจจะได้เห็นในภาพใหญ่มากขึ้น” อดิศร กล่าว

            เมื่อสำรวจพื้นที่จริงปรากฏว่า พื้นที่หลักของแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาอย่างจังหวัดสมุทรสาคร หลังจากเกิดเหตุ บรรยากาศดูจะอึมครึมไม่แตกต่างจากมรสุมที่กำลังปกคลุมหลายพื้นที่ บอย ซึ่งเข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2539 และทำงานละแวกสมุทรสาครร่วม 10 ปี ถึงขั้นเปรยว่าบรรยากาศไม่เหมือนเดิมแล้ว

            “อย่างที่วัดโคก (วัดศรีบูรณาวาส) ที่คนไทย-มอญ นิยมไปทำบุญ เพราะมีเจดีย์เมียนมา และชุมชนแถวนั้นเป็นชุมชนคนไทย-มอญ เดี๋ยวนี้ก็เงียบไปเยอะ ขนาดว่าช่วงนี้เป็นช่วงเข้าพรรษาของเมียนมาก็ยังมีคนเข้าวัดน้อยกว่าเดิมหลายเท่า”

            เข้าใกล้วิถีชีวิตประจำวันอีกหน่อย การพาเหรดกันกลับประเทศครั้งนี้เกิดผลกระทบชัดเจนมากว่าพวกเขามีผลต่อเศรษฐกิจในพื้นที่มากทีเดียว ที่ตลาดมหาชัยนิเวศน์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นตลาดของชาวเมียนมาอย่างแท้จริง เพราะลูกค้าคือชาวเมียนมา 99.99 เปอร์เซ็นต์

            “ตลาดเปลี่ยนไปเยอะครับ ตั้งแต่มีกฎหมายนี้ออกมาลูกค้าก็หายไปกว่าครึ่ง” ธนศักดิ์ ช่อประดู่ พ่อค้าปลาในตลาดมหาชัยนิเวศน์เล่าด้วยทีท่าไม่พอใจ ก่อนหน้านี้โดยเฉพาะช่วงเสาร์-อาทิตย์ คนจะเยอะมาก คนเมียนมาจะมาซื้อของทั้งวัน เรียกว่าตลาดนี้ขายของได้ตั้งแต่ตีสามถึงหนึ่งทุ่ม เมื่อคนหายไปกว่าครึ่ง ยอดขายก็หายไปกว่าครึ่ง จากเดิมที่เขาขายปลาได้วันละ 6,000 - 7,000 บาท เดี๋ยวนี้เหลือ 2,000 - 3,000 กว่าบาท

            จึงไม่น่าประหลาดใจนักหากคราบน้ำหมากที่เคยกระจัดกระจายอยู่บนพื้นดินของตลาดมหาชัยนิเวศน์จะจางหายไปจนเกือบไม่มีให้เดินหลบเดินเลี่ยงหรือแม้กระทั่งมีให้เห็นแล้ว

            ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ยอมรับว่า “ตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ออกมาก็ทำให้บรรยากาศแถวสมุทรสาครเงียบเหงาเหมือนกัน เพราะทุกคนก็ระวังตัว แต่หลังจากชะลอกฎหมายก็ผ่อนคลายไปเยอะแล้ว เศรษฐกิจได้เดินหน้าต่อ”

            ทว่าความหวั่นใจก็ยังถูกโหมกระพือทุกวัน ด้วยกลุ่มคนที่เรียกว่า ‘นายหน้า’ บอย ให้ข้อมูลว่าแม้ พ.ร.ก.นี้จะชะลอออกไป และแรงงานที่เป็นประเภทกึ่งสุกกึ่งดิบ คือ มีใบอนุญาตแต่ชื่อนายจ้างไม่ตรง ก็ยังมีโอกาสเพราะจะมีเปิดโอกาสให้ทำใบอนุญาตใหม่แน่นอน แต่แรงงานหลายคนถูกเป่าหูด้วยข่าวลือว่าตำรวจยังไล่จับแรงงานอยู่เลยทั้งที่มีคำสั่งชะลอ พ.ร.ก.

            เขาเล่าไปพร้อมกับเปิดโทรศัพท์ให้ดูข่าวลือที่ส่งต่อ แชร์ต่อกันแบบมั่วๆ เช่น เมื่อหลายวันก่อนที่บางแคมีนักเรียนตีกัน แล้วถูกตำรวจจับ ก็มีคนถ่ายภาพเฉพาะด้านหลังนักเรียนกลุ่มนี้กับตำรวจ แล้วส่งต่อว่าตำรวจยังจับแรงงานเหมือนเดิม ซึ่งต้นทางของข่าวลือเขาบอกว่าคือพวกนายหน้าจัดหาแรงงาน เพราะไม่ว่าจะเข้าหรือออกประเทศ แรงงานต่างด้าวต้องจ่ายให้นายหน้าทุกช่องทาง เขาจึงตัดพ้อว่า “กฎหมายนี้มีไว้ให้นายหน้ารวย”

            การกรีฑาทัพกลับบ้านคราวนี้จึงสะท้อนถึงปัญหาเชิงนโยบายอีกหลายแง่มุม เช่นที่ อดิศร เล่าว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเสมือนการชำแหละระบบการจ้างแรงงานในบ้านเรา

            “นี่ทำให้เห็นว่า หนึ่ง เราไม่มีนโยบายการจ้างแรงงานที่มีความยั่งยืนมากนัก การดำเนินการที่ผ่านมาไม่ทำให้ทั้งลูกจ้างและนายจ้างมีความมั่นใจว่าเขาจะอยู่อย่างถูกต้องได้ อย่างที่สอง สะท้อนให้เห็นว่าการจัดการที่ผ่านมาขาดสองมิติ คือ ขาดการมีส่วนร่วม พอกฎหมายออกมาโดยเร่งด่วนแบบนี้ ทำให้ผู้ประกอบการหรือแรงงานเองก็ไม่รู้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบนี้แล้วจะทำอย่างไร เขาก็ตกใจ และขาดเรื่องการบริหารจัดการ ที่สะท้อนจากการไหลออกของคน ว่าจริงๆ เราไม่มีพื้นฐานการจัดการอะไรมากนักในแง่การจ้างแรงงานต่างชาติในช่วงที่ผ่านมา”

            โดยที่เขาวิเคราะห์ต่อว่าหมดยุคแล้วที่จะมองเรื่องแรงงานต่างด้าวเป็นปัญหา ทว่าจะทำกันอย่างไรให้เกิดการพัฒนา เพราะจริงๆ แล้วพวกเขาสำคัญ

            “ปรากฏการณ์ชัดเจนว่าแรงงานข้ามชาติสำคัญสำหรับประเทศไทย ผมคิดว่ามันเลยจุดที่เราจะมองแรงงานข้ามชาติเป็นปัญหา มันคือยุคสมัยที่เราต้องพูดถึงการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบให้ใช้แรงงานในประเทศไทยได้ ขณะเดียวกันผมคิดว่าเราต้องมองถึงระยะยาวว่าการพึ่งพาแรงงานข้ามชาติในเชิงเศรษฐกิจที่ตั้งไว้ว่า 4.0 คือพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ทดแทนแรงงานที่จะมีน้อยลง”

            เหมือนกับที่ สมพงศ์ แสดงความเห็นว่าบ้านเรายังต้องการแรงงานกลุ่มนี้ แต่ที่จ้างกันอยู่ส่วนมากผิดกฎหมาย ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้ถูกต้อง ซึ่งทุกคนก็รอนโยบายชัดๆ ถึงตอนนี้ถือว่าส่งสัญญาณที่ดี

            ระยะเวลาราว 180 วัน เป็นระยะเวลาที่ อดิศร มองว่าอาจพลิกโฉมกฎหมายว่าด้วยแรงงานต่างด้าวของไทยได้เลย หากการไตร่ตรองถึงข้อบกพร่องแล้วแก้ไขได้ถูกจุด

            “ตอนนี้มีเวลาประมาณ 180 วัน ปรับปรุงข้อกังวลใจหรือข้อกฎหมายให้เรียบร้อย ซึ่งระยะเวลา 180 วัน พูดถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ถ้าดำเนินการตามนี้ ทุกคนได้ช่วยกันคิด ออกแบบกฎหมาย และแก้ข้อกังวลใจพวกนี้ ผมคิดว่าทิศทางจะเข้าสู่ระบบมากขึ้น”

            เขาอธิบายว่าโดยภาพรวมของ พ.ร.ก.ฉบับนี้มีข้อดีค่อนข้างมาก เพราะให้กลไกการจัดการในระยะยาวของแรงงานต่างด้าว ให้กลไกการคุ้มครองแรงงานต่างด้าว ซึ่งถ้าบริหารจัดการได้เป็นระบบ ทิศทางการจัดการแรงงานกลุ่มนี้ในอนาคตจะดีถึงขั้นเพอร์เฟกต์

            “แต่ปัญหาหลักที่ผ่านมาจนตอนนี้ คือ ระบบราชการที่ทำให้การบริหารจัดการไม่ขยับ ทุกอย่างติดระบบราชการทั้งหมด ถ้ากฎหมายฉบับนี้ถูกใช้ในมุมมองของระบบราชการเหมือนเดิม ผมคิดว่าปัญหาจะกลับมาในรูปแบบเดิม แต่ถ้าเมื่อไรที่ประเด็นถูกหยิบยกกันมากขึ้น มาช่วยกันทำงานมากขึ้น ผมว่าจะเห็นทิศทางจัดการแรงงานข้ามชาติในอนาคต

            ...ผมมีความหวังกับกฎหมายฉบับนี้พอสมควร”

            ไม่เพียงแค่เขา แต่คงมีหลายคนที่หวังกับ พ.ร.ก.ฉบับนี้เช่นกัน ทว่าตราบใดที่ความหวังยังติดขัดกับการเอารัดเอาเปรียบโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือพวกกลุ่มคนที่จ้องหาผลประโยชน์ ตราบใดที่ความหวังยังติดหล่มในสังคมมุขปาฐะ การไม่เข้าใจตัวบทกฎหมายที่แท้จริงจึงทำให้มองเห็นแต่แง่ลบและทางตัน

            “สิ่งที่ผมอยากให้ทุกคนลองทำคือ ลองนั่งอ่านกฎหมายเพื่อเข้าใจมัน จะเห็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในแง่การบริหารจัดการ เพียงแต่ว่ากระแสที่เกิดตอนนี้คือทุกคนมุ่งไปที่จุดเดียวคือบทลงโทษนายจ้างรุนแรงมาก แต่ถ้าไม่ตั้งต้นด้วยประเด็นนี้ ทุกคนจะเห็นคล้ายๆ ผม” อดิศร ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติกล่าว

            ...

          หลังจากนี้คงต้องรอดูกันว่าในระยะเบรกร่วมร้อยกว่าวัน พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฉบับนี้จะถูกปรับอย่างไรให้จากศัตรูตัวร้ายกลายเป็น ‘ขวัญใจผู้ใช้แรงงาน (ต่างด้าว)’